DELTA รับอานิสงส์บาทอ่อน กำไรไตรมาส1/2567 พุ่ง 19.2%

07 พ.ค. 2567 | 23:30 น.

DELTA เงินบาทอ่อนค่าแตะ 37 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลบวกอัตรากำไรไตรมาส 2/67 เพิ่ม 0.9-1% วางเป้ายอดขาย-รายได้ปี 67 โตตัวเลข 2 หลักจากปีก่อน มองความต้องการยังมี ลูกค้าต่อคิวป้อนออเดอร์ใหม่แน่นมือ

นายอัน เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เปิดเผยว่า จากอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2566 มาจนถึงปัจจุบันมาอยู่ที่ระดับกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ มองว่าจะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่ออัตรากำไรของบริษัทในช่วงไตรมาส 2/2567 นี้ด้วยเช่นเดียวกัน เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นบวกต่ออัตรากำไรของบริษัทให้เพิ่มขึ้นราว 0.9-1%

ทั้งนี้ บริษัทประเมินภาพรวมไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ทรงตัวจากไตรมาสแรกที่ผ่านมา แต่เชื่อว่ายอดขายจะเร่งตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2567 นี้ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้และยอดขายไว้แบบตัวเลข 2 หลัก (Double Digits) จากปี 2566 ที่มีรายได้จากการจำหน่ายรวมอยู่ที่ระดับ 147,675.04 ล้านบาท ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2567 ที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้การจากจำหน่ายรวมอยู่ที่ระดับ 38,499.79 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,307.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีกำไร 3,614.46 ล้านบาท

"ในไตรมาส 2/2567 มองว่าภาพรวมธุรกิจและอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในทิศทางที่ดี และเชื่อว่าจะดียิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลกจะยังคงเป็นความท้าทายของธุรกิจ แต่ลูกค้ายังคงมีการส่งคำสั่งซื้อใหม่ๆ เข้ามาให้บริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่สั่งล่วงหน้าถึง 6 เดือน ทำให้มีแบ็กล็อกในมือที่ค่อนข้างหนาแล้วในตอนนี้ ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นวัตถุดิบหลัก ปัจจุบันก็ไม่มีปัญหายังคงมีเพียงพอรองรับการเร่งผลิตให้ลูกค้า"

โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากยอดขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน ICT และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ AI รวมถึง ผลิตภัณฑ์ศูนย์ข้อมูล (data center) ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการให้บริการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ยอดขายของ mobility ก็มีแนวโน้มที่ทรงตัวดีอย่างต่อเนื่อง เพราะรับอานิสงส์จากอุตสาหกรรม EV ทั้งนี้ โครงสร้างยอดขายในปัจจุบันแบ่งออกเป็น พาวเวอร์ซัพพลาย (PSBG) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (CPBG) 52%, mobility 29%, ICT16% และยานยนต์ (Auto) 3% เป็นต้น

ส่วนเงินลงทุนในปี 2567 บริษัทเตรียมเงินไว้สำหรับรองรับการลงทุนในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 350 ล้านดอลลาร์ โดยมุ่งเน้นในส่วงอัพเกรดเครื่องจักรในการผลิตที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อขีดความสามารถในการขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มขยายตัว รวมถึงการขยายศูนย์วิจัยและพัฒนาร่วมด้วย โดยในช่วงไตรมาส 1/2567 บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 4,400 ล้านบาท หรือราว 120 ล้านดอลลาร์

พร้อมกันนี้ บริษัทยังคงมีความสนใจในการมองหาพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อมาสร้าง Synergy ทางธุรกิจร่วมกัน โดยเฉพาะในธุรกิจหลักและมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีคดวามสามารถในการผลิตและการแข่งขันให้กับบริษัทในแต่ละภูมิภาคเพิ่มเติม โดยยังคงเปิดโอกาสการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถระบุรายละเอียดที่ชัดเจนได้ว่าจะเห็นความชัดเจนได้หรือไม่ในปีนี้ เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุน