หากนึกย้อนไปในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกเจอผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้อุปสงค์หายไปอย่างกระทันหัน (Demand Shock) และเป็นต้นตอที่นำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นตามมา จึงทำให้เราเห็นมาตรการการคลังและการเงินมากหน้าหลายตาถูกงัดออกมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจขนานใหญ่
สอดคล้องกับ IMF ที่ประเมินว่าเม็ดเงินจากมาตรการสนับสนุนทางการคลัง (Fiscal Support) ที่ใช้ในปี 2020 รวมกันทั่วโลกอาจสูงถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 13% ของจีดีพี ซึ่งมากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2009 ที่ใช้เม็ดเงินอัดฉีดไปเพียง 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 11% ของจีดีพี ณ ขณะนั้น
“การอัดฉีดเงินเข้าภาคประชาชนโดยตรง” หรือ Helicopter Drop ก็เป็นหนึ่งในมาตรการยอดนิยมที่ 58 ประเทศทั่วโลกใช้ในวิกฤตระลอกล่าสุด ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้าใจง่ายและตรงประเด็นกว่าเมื่อเทียบกับการลดอัตราดอกเบี้ยหรือการซื้อสินทรัพย์ผ่านเครื่องมือทางการเงิน อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องส่งผ่านตัวกลางใด ๆ จึงทำให้เห็นผลลัพธ์ที่รวดเร็วกว่าเครื่องมือทางการคลังอื่น โดยเฉพาะกับประเทศที่มีความพร้อมด้าน Payment Ecosystem ที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แบบตรงประเด็น
อย่างไรก็ดี เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบดังกล่าวมักถูกใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตรุนแรงหรือช่วงที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เพื่อให้เกิดการจับจ่ายเป็นวงกว้างและนำไปสู่การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้หลาย ๆ วงรอบ กล่าวคือ ยิ่งเม็ดเงินหมุนเวียนไปได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มตัวทวีคูณ (Multiplier) และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากเท่านั้น แต่หากใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมหรือกำหนดกรอบการใช้จ่ายไม่รัดกุมเพียงพอ วัตถุประสงค์การใช้เงินอาจเปลี่ยนไปแทนที่จะใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดังที่ควรจะเป็น
แม้เงินช่วยให้เปล่ากับประชาชนจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้อย่างรวดเร็วทันใจ แต่ก็อาจส่งผลต่อภาวะราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น โดยจากการศึกษา พบว่า การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากการใส่เงินเข้าไปในระบบอย่างมหาศาลจะทำให้เกิดอุปสงค์ส่วนเกิน (Excess Demand) จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มตามไม่ทัน ส่งผลให้สินค้าคงคลังลดลงอย่างรวดเร็ว กดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางส่วนก็จะเร่งนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการดูดซับอุปสงค์ส่วนเกินในประเทศ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการขาดดุลการค้าอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ การใช้แคมเปญเงินช่วยให้เปล่าบ่อยครั้งอาจส่งผลต่อความคาดหวังในการได้รับความช่วยเหลือในครั้งถัด ๆ ไป รวมทั้งปัญหาการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือ (Moral Hazard) ที่อาจส่งผลลบในระยะยาวจากวินัยทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป
อีกด้านหนึ่ง ภาครัฐจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยภาครัฐอาจต้องโยกเม็ดเงินงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้สำหรับโครงการแจกเงิน เสมือนดึงเม็ดเงินภาครัฐออกจากภาคเอกชน หรือ Crowding-out Effect จากการจำกัดจำเขี่ยการใช้จ่ายของภาคเอกชนผ่านการลดงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือแม้แต่สวัสดิการสังคม อีกทั้งยังอาจลดทอนรายจ่ายภาครัฐในอนาคต
ยิ่งกว่านั้น หากไม่มีการรักษาวินัยทางการคลังที่เหมาะสมและแผนลดการขาดดุลที่ชัดเจน ก็อาจบั่นทอนเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มเติม ที่จริงแล้ว ฐานะทางการคลังของแทบทุกประเทศอ่อนแอลงจากการอัดฉีดเงินมหาศาลในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่หากยังต้องพึ่งพาการกู้เงินไปเรื่อย ๆ จนทำให้หนี้สาธารณะพุ่งเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ จะส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นจากเสถียรภาพการคลังที่เปราะบางมากขึ้น ตลอดจนกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนทำให้เกิดเงินทุนไหลออกนอกประเทศ และนำไปสู่การอ่อนค่าอย่างรุนแรงของค่าเงินได้ในที่สุด
ท้ายสุดแล้ว ภาครัฐอาจต้องแลกกับพื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง (Fiscal Space) ที่น้อยลง และกลายเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือเศรษฐกิจหากเกิดวิกฤตรุนแรง โดยผลพวงจากหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง คงหนีไม่พ้นการชำระหนี้ที่จะผูกพันในงบดุลไปอีกหลายปี
ส่งผลให้ต้องรัดเข็มขัดผ่านการลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ทางการคลัง ซึ่งภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นแน่นอนว่าจะตกไปยังผู้ประกอบการและประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมไปถึงประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการเงินที่จะมีแรงเสียดทานมากขึ้นจากแรงจูงใจที่ต้องรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินที่รัฐจะต้องแบกรับหรือจ่ายคืนหนี้ในอนาคต