การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐานและเชิงเทคนิค Part 1

15 ก.ย. 2566 | 06:29 น.

การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐาน และเชิงเทคนิค เพื่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผล Part 1: คอลัมน์ Investing Tactic โดย กวิน สู่พานิช เพจ Kavin’s Hybrid Trading และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

ในโลกของการลงทุนเรามักจะโดนแบ่งแยกแนวทางการลงทุนออกเป็น 2 แนวทางหลัก ๆ นั่นคือ

  • การลงทุนด้วยหลักการดูพื้นฐาน (Fundamental Analysis)
  • การลงทุนด้วยหลักเทคนิคอล (Technical Analysis)

ตลกร้ายที่ 2 ศาสตร์การลงทุนนี้ มักถูกผู้ใช้งานที่ศึกษาเชิงลึกในศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง และประสบความสำเร็จในโลกการลงทุน ด้อยค่าอีกศาสตร์หนึ่ง เหมือนเชียร์ทีมฟุตบอลคนละทีม ของข้าแน่กว่า ของแกนั่นไม่ได้เรื่องหรอก แต่ในโลกของการลงทุน 2 หลักการนี้ถือเป็นรากฐานที่อยู่คู่ตลาดทุนมาอย่างยาวนาน และมีผู้คนใช้หลักการลงทุนดังกล่าวในปัจจุบันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการลงทุนตามหลักการลงทุนทั้ง 2 แนวทางนั้น ล้วนมีข้อดีที่แตกต่างกันและเป็นเอกลักษณ์

การวิเคราะห์การลงทุนทั้ง 2 แบบ ทำให้เราเห็นมุม (Edge) ในการแสวงหากำไรจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด ซึ่งหลายคนแย้งว่า ตลาดนั้นมีประสิทธิภาพตามหลักทฤษฎี Efficient Market Hypothesis แต่ถ้าหากตลาดทุนนั้นมีประสิทธิภาพจริง เราจะไม่เห็นเศรษฐีหุ้นหรือคนที่สามารถสร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้เลย วนกลับมาเข้าเรื่องของเรา สืบเนื่องจากสมมุติฐานที่ว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราต้องมีเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อหาข้อได้เปรียบทางการลงทุน

ศาสตร์ของเทคนิคอลให้เรื่องของอารมณ์ผู้เล่น และแนวโน้มของราคาหุ้น ส่วนฝั่งการลงทุนด้านพื้นฐานให้ข้อมูลด้านสุขภาพของกิจการ และข้อมูลเชิงลึกของบริษัท ดังนั้น ในยุคปัจจุบันที่โลกการเงินมีความซับซ้อน ความได้เปรียบที่แท้จริงคือความสามารถในการมองอย่างครอบคลุม และความสามารถในการประยุกต์ใช้แต่ละศาสตร์ตามความเหมาะสม เพื่อการวางแผนและกำหนดแนวทางการลงทุนที่สามารถลดความเสี่ยง และมีโอกาสในการทำกำไรอย่างเหมาะสม 

การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐานและเชิงเทคนิค Part 1

  • การวิเคราะห์การลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) : เพื่อส่องดูความแข็งแกร่ง (รากฐาน) ของกิจการ

แก่นของการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานนั้น คือ การวิเคราะห์เจาะลึกถึงความแข็งแกร่งของกิจการ เพื่อตีออกมาเป็นมูลค่าของกิจการ โดยหลักการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานนั้นเหมือนการดูข้อมูลของกิจการในเชิงคุณภาพ เช่น การดูแนวโน้มอุตสาหกรรม ข้อมูลกิจการ ส่วนแบ่งการตลาด ความสามาถในการแข่งขันของกิจการ และความสามารถและวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ส่วนในเชิงปริมาณ เช่น การดูงบการเงินของบริษัท เพื่อดูความสามารถในการดำเนินกิจการ ความเสี่ยงทางสภาพคล่อง อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ

หลักการดังกล่าว ทำให้นักลงทุนพอจะประเมินถึงความคุ้มค่าและความเสี่ยงในการลงทุนในกิจการดังกล่าวได้ ซึ่งการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐานยังรวมไปถึงการประเมินอนาคต ไม่เพียงแต่ตัวกิจการ แต่ประเมินถึงเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วย (Macro Economic) เพราะฟันเฟืองทางเศรษฐกิจนั้นส่งผลต่อกิจการที่เราสนใจจะลงทุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ดังนั้น ผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจ ย่อมได้เปรียบและมีโอกาสที่จะประเมินอนาคตของกิจการจากข้อมูลในมือได้ดียิ่งขึ้น   

  • การวิเคราะห์การลงทุนด้วยหลักการทาง เทคนิค (Technical Analysis) : แกะความได้เปรียบจากการเคลื่อนไหวของราคาและแนวโน้ม

อีกศาสตร์หนึ่งของการลงทุนเทคนิคอลนั้น เป็นแนวทางการวิเคราะห์การลงทุน โดยให้น้ำหนักการลงทุนบนตัวเลขการเคลื่อนไหวของ “ราคา” และ “ปริมาณการซื้อขาย” เพื่อคาดการณ์ราคา ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ข้อมูลชุดตัวเลขดังกล่าวมักจะแปลงเป็นกราฟ เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์แนวโน้ม ถ้าหากเราเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาเป็นงบการเงินที่นักลงทุนด้านพื้นฐานใช้ตีความ และมีอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ เป็นอุปกรณ์เสริม นักเทคนิคอลก็มีอุปกรณ์เสริมที่เรียกกันจนติดปากว่า Oscillators (ตัวชี้วัดทางเทคนิค) เพื่อช่วยในการระบุแนวโน้ม “เตือน” ความน่าจะเป็นการกลับตัว เป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจในการเข้าซื้อหรือขาย

การจะแจกแจง Oscillators ในบทความนี้ให้หมดนั้นคงไม่สามารถทำได้เพราะมีหลากหลายมาก โดยแต่ละเครื่องมือมีจุดประสงค์แตกต่างกัน และหลากหลายการประยุกต์ใช้ จึงขอยกตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย อาทิ MACD, RSI, Bollinger Band, Stochastic, Exponential Moving Average (EMA) Volume และ Profiles

เครื่องมือเหล่านี้มีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน บางเครื่องมือใช้เพื่อการถือหุ้นเป็นรอบเมื่อหุ้นทำแนวโน้มแล้ว (Run Trend) บางเครื่องมือใช้เพื่อการเก็งกำไรแบบ Swing Trade บางเครื่องมือใช้ช่วยหาจุดกลับตัวบนราคา หรือหาแนวรับ/ต้านเฉลี่ยของราคา หรือช่วยในการหา Price Pattern ในจุดที่มีนัยสำคัญ โดยหลักการวิเคราะห์ทางเทคนิคอลนั้นแท้จริงแล้วคือการวิเคราะห์บนหลักของความน่าจะเป็น จากชุดตัวเลขที่เกิดขึ้น จากอารมณ์หรือข้อมูลการซื้อขายในตลาด (Transaction)

แต่เรื่องหนึ่งที่การลงทุนด้วยเทคนิคอลได้เปรียบการลงทุนด้วยพื้นฐานคือ ความถี่ของชุดข้อมูลที่ได้รับ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคายังไงก็เกิดขึ้นถี่กว่าข้อมูลของกิจการ เช่น งบการเงินที่มาเพียงไตรมาสละครั้ง แล้วที่สำคัญคือไม่ได้มาวันแรกของการเริ่มไตรมาสใหม่ด้วย ดังนั้น การเคลื่อนไหวของราคาเกิดขึ้นทุกวัน การลงทุนด้วยหลักเทคนิคอลทำให้นักลงทุน (นักเก็งกำไร) สามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของราคาได้แทบจะในทันที (ซึ่งบางสินค้านั้นซื้อขายกัน 24/7)

แต่เหรียญก็มี 2 ด้าน บางครั้งการเคลื่อนไหวของราคาก็ไม่ได้สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ บ่อยครั้งที่เราเห็นข่าวร้ายพาดหัวกระทบต่อราคาหุ้น ซึ่งผลกระทบต่อกิจการอาจจะไม่ได้ร้ายแรงดั่งที่นักลงทุนตกใจก็เป็นได้ แต่แรงขายเกิดไปก่อนแล้วก็มี ซึ่งนี่ก็เป็นทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบไปในตัว ซึ่งถ้าหากเรามีข้อมูล รวมถึงความรู้และความเข้าใจในตัวกิจการ การเกิด Panic Sell ของหุ้นจากข่าวหรือผลกระทบต่อกิจการในระยะสั้น อาจจะเป็นโอกาสในการทำกำไรก้อนใหญ่ให้เราก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมเกิดจากความเข้าใจและประยุกต์ใช้ทั้ง 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน