การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐาและเชิงเทคนิค Part 2

13 ต.ค. 2566 | 02:25 น.

การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐาน และเชิงเทคนิค เพื่อการตัดสินใจลงทุนอย่างมีเหตุผล Part 2: :คอลัมน์ Investing Tactic โดย กวิน สู่พานิช เพจ Kavin’s Hybrid Trading และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

  • การเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จโดยการประยุกต์ข้อได้เปรียบของหลักการลงทุนด้วยปัจจัยพื้นฐาน และทางเทคนิค

 

การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐานและเชิงเทคนิค Part 1

ต่อเนื่องจากบทความฉบับก่อนหน้าเราจะมาพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ในการวางแผนการลงทุนโดยใช้ 2 ศาสตร์มาร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไร ซึ่งเราพอจะตีความกันเบื้องต้นได้แล้วว่านักลงทุนผู้ต้องการเครื่องมือที่ครบถ้วนในการช่วยตัดสินใจก็มักจะหยิบทั้ง 2 ศาสตร์มาใช้ร่วมกัน ซึ่งการประยุกต์ใช้ทั้ง 2 แนวทางนั้น นอกจากจะตอบโจทย์ในการลดความเสี่ยงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการแสวงหากำไรทั้งระยะสั้น (รวมถึงรับมือต่อความผันผวนระยะสั้น) และระยะยาวอย่างครบถ้วน ซึ่งเราจะพูดคุยกันต่อไปในบทความนี้

  • รู้จังหวะ(Timing)เพื่อแสวงหาโอกาส : ความสำคัญของช่วงเวลา

หากเราพูดกันถึงการลงทุนสิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งมิตร และศัตรูกับนักลงทุนได้ถ้ามากันคนละช่วงเวลา หรือที่ชอบเรียกกันติดปากว่า “Timing” ซึ่งจังหวะของการลงทุนมักเป็นข้อเสียเปรียบในการลงทุนด้วยหลักพื้นฐาน เพราะการลงทุนวิธีนี้มักต้องเข้าซื้อในจังหวะที่หุ้นต่ำกว่าราคาพื้นฐานหรือมูลค่าที่แท้จริงที่เราประเมินไว้+ส่วนลดที่เผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin Of Safety) โดยส่วนมากแล้วมักเริ่มเข้าซื้อในจังหวะที่หุ้นมีการเกิดแรงขาย หรือในบางครั้ง panic sell

ถึงแม้ว่าจุดเด่นของการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานคือการจำแนก บริษัทที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่งอื่นๆในตลาด (ในภาพกว้างมักจะเป็นภาพระยะกลาง-ยาวไม่ต่ำกว่า 3เดือน) แต่ยังมีข้อจำกัดในการประเมินแรงที่มีผลในการผลักดันราคาหุ้นที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น (Market Fluctuations) ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่การวิเคราะห์หุ้นด้วยหลักเทคนิคโดดเด่นกว่า เพราะนักลงทุนพอจะสามารถคาดคะเนอย่างมีหลักการ (Educational Guess) ว่าเราควรเริ่มตั้งรับซื้อ หรือไปเสี่ยง (Bet) เก็งกำไรจากการย่อตัว (Dip) ของราคาในกรอบแนวโน้มขาขึ้นของหุ้นนั้นๆโดยคำนึงถึงโอกาสของกำไร และความเสี่ยงเพื่อประเมินความคุ้มค่าในช่วงเวลาดังกล่าว 

ซึ่งถ้าหากเราลองนึกภาพตามจากข้อมูลเบื้องต้น สมมุติมีหุ้นบริษัทหนึ่งที่ งบการเงินทุกอย่างดี หลังจากทำการบ้านแล้ว เป็นหุ้นเพชรน้ำดีที่คนยังไม่เห็นเหมือนทองที่อยู่ในผ้าขี้ริ้ว ถ้าซื้อแล้วถือต่อไปโอกาสได้กำไรเป็นเด้งๆสูงมากแน่ๆ

แต่คำถามต่อมา เข้าซื้อตอนนี้ รอถึงเมื่อไหร่ จุดนี้แทบไม่มีใครสามารถตอบได้จนกว่าหุ้นจะปรับตัวขึ้นหรือเป็นหุ้นน้ำดีในสายตาประชาชนส่วนมากเมื่อนั้นหุ้นถึงจะปรับตัวขึ้นอย่างดุเดือด เราย่อมมีทางเลือก ถ้าหากต้องการเข้าซื้อในปริมาณมากกว่าปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของวัน เราอาจจะต้องเริ่มทยอยเก็บก่อนหุ้นจะเป็นจุดสนใจของคนส่วนมาก แต่ถ้าหากเราไม่อยากขึ้นรถไปจองที่นั่งตอนตี4 เพื่อรอรถออกตอน8โมงเช้าและเราก็สามารถใช้เครื่องมือทางเทคนิค (Indicator) เพื่อช่วยให้เราพอจะคาดการณ์ว่า รถใกล้จะออกจากท่ารถแล้วนะ เมื่อนั้นเราถึงเริ่มขึ้นไปขอเกาะขบวนของหุ้นนั้นเช่นกัน

การประยุกต์ใช้หลักการลงทุนพื้นฐาและเชิงเทคนิค Part 2

การประยุกต์ใช้หลักการวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานสามารถช่วยทำให้เรามีตัวเลือกในการลดความเสี่ยงในการเข้าซื้อหุ้นที่เป็นการเก็งกำไรเต็มรูปแบบโดยไม่สนใจพื้นฐานหรือที่เรียกกันติดปากว่า หุ้นปั่น เพราะหากเราวิเคราะห์เพียงหลักเทคนิค เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าหุ้นบริษัทที่ร้อนแรงบริษัทนั้น แท้จริงแล้วแพงมากๆแล้วหรือไม่

เคยมี กรณีหุ้นที่ร้อนแรงมากหลายบริษัทใน 1-2ปีที่ผ่านมา เก็งกำไรกันสุดโต่งจน PE ขึ้นไปถึง 500เท่าหรือมากกว่า ถ้าเราพูดให้เห็นภาพคือ PE มักนำมาใช้คิดกันไวๆว่าถ้าซื้อราคานี้กี่ปีคืนทุน ใช่ครับ กรณี PE 500ก็คือ 500ปี มนุษย์คนหนึ่งอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 80ปี หุ้นที่คุณซื้อในราคา PE 500 ไม่ใช่การซื้อหุ้นเพื่อตนเอง แต่คุณเพียงแค่ดูแลเพื่อส่งต่อให้รุ่นถัดๆไปครับ

เหมือน Slogan ของนาฬิกาหรู Patek Phillipe “You never actually own a Patek Philippe. You merely look after it for the next generation” แต่ในกรณีหุ้น PE 500เท่ามูลค่าของหุ้นที่เราลงทุนอาจจะไม่ได้ขึ้นไปตามปีที่ถือครองเหมือนนาฬิกาที่มีจำนวนจำกัด และหายาก ครับ การนำการวิเคราะห์ด้วยหลักพื้นฐานมาช่วยคัดกรอง ความเสี่ยง และความร้อนแรงของหุ้นก็ช่วยลดโอกาสในการเข้าไปเก็งกำไรในหุ้นเสี่ยงอย่างไม่ตั้งใจ 

  • เพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุนจากการใช้จุดเด่นของ 2 ศาสตร์การลงทุน

ขั้นตอนของการนำศาสตร์ทั้ง 2 มาใช้ร่วมกันเพื่อสร้างแผนการลงทุนของเรานั้นเรียบง่าย และก็สามารถสร้างความสับสนในคราวเดียวกันไม่ใช่น้อย เช่นหุ้นที่พื้นฐานดีมากงบการเงินแข็งแกร่ง กิจการกำลังขยาย กำลังเติบโต มีการลงทุนเพิ่มเติมหรือทำธุรกิจใหม่ๆที่มีอนาคตสดใส แต่ ราคาหุ้นกลับปรับตัวลง

บ่อยครั้งมักสร้างความสงสัยให้กับนักลงทุนไม่ใช่น้อย หุ้นดีไม่ใช่เหรอ ทำไมลงหละ มักเป็นคำถามที่อยู่ในใจ และออกจากปากผู้ลงทุนเวลาพบนักวิเคราะห์หรือผู้สอนในห้องเรียนการลงทุน การสัมมนาต่างๆ ซึ่งสร้างความกระอักกระอ่วมให้กับผู้ตอบไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากจะต้องนั่งเทียนทำตัวให้เป็นกูรู

แต่การจะตอบว่าทำไมหุ้นตก และจะลงไปถึงเท่าไหร่ คนจะตอบได้อย่างแม่นยำนั้น นอกเสียจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สามารถสร้างแนวรับเพื่อยันไม่ให้หุ้นลงไปมากกว่านี้โดยมีเงินไม่จำกัดแล้ว เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกครั้ง ทำได้เพียง”เดาอย่างมีหลักการ” ว่าแนวรับหรือต้นทุนของคนส่วนมากที่เฮโลเข้ามาในหุ้นตัวนี้อยู่แถวนี้นะ ไม่ควรลงไปต่ำกว่าจุดนี้แล้ว ถ้าต่ำกว่านี้ก็ถือได้ว่า วงแตกแล้วนะ เป็นต้น เขียนมายืดยาว วนกลับมาถึงต้นเรื่องของย่อหน้านี้อีกครั้ง

  • ทำไมหุ้นที่พื้นฐานดีถึงมีการปรับตัวลงได้

คำตอบที่มีเหตุผลมักมีหลายปัจจัยประกอบ เช่น สภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย หรือเกิดจากแรงขายทำกำไรระยะสั้นจากนักลงทุนที่ได้กำไร หรือแรงขายตัดขาดทุนจากความกลัวของคนที่เข้ามาทีหลัง ยิ่งหุ้นเป็นจุดสนใจมากเท่าไหร่ ความผันผวนของราคายิ่งมากขึ้นเท่านั้นเป็นเงาตามตัว(ผันผวนทั้งในเวลาขึ้น และลง)

ดังนั้นการประยุกต์ใช้หลักเทคนิคมาช่วย สามารถให้เราช่วยสร้างความมั่นใจในหุ้น และยังช่วยหาจังหวะรับซื้อที่เหมาะสมได้ เช่น เราสามารถวิเคราะห์ว่าการย่อตัวครั้งนี้ไม่ได้หลุดจากกรอบเส้นแนวโน้มขาขึ้นของหุ้นใช่หรือไม่ และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวตามค่าเฉลี่ยหรือไม่ และมีสัญญาณเตือนการกลับตัวทางเทคนิคหรือไม่ ซึ่งหลักการเหล่านี้ช่วยเสริมความมั่นใจในการเข้าลงทุนแก่นักลงทุนให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากจะช่วยในเรื่องการเข้าซื้อแล้ว การวางแผนปิดสถานะหุ้น(Exit Strategies)ก็ยังสามารถประยุกต์ใช้ทั้ง 2 ศาสตร์ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหุ้นปรับตัวขึ้นเกินมูลค่าพื้นฐานไปแล้ว โดยส่วนมากถ้าเราใช้การลงทุนพื้นฐานมักพิจารณาขายเมื่อเกินมูลค่าถึงระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าหุ้นเป็นกระทิงมากๆบางครั้งก็ทำให้เกิดการขายเร็วเกินไปหรือขายหมูได้ แต่ถ้าเป็นการใช้เทคนิค เราจะสามารถใช้กราฟ หรือค่าเฉลี่ยราคาเกาะการ Rallies ของหุ้นรอบขาขึ้นนี้ได้ไปจนกว่าจะเกิดการกลับตัวหรือมีสัญญาณเตือนการกลับตัวค่อยเริ่มขาย และนอกจากนั้นการใช้เทคนิคอลยังช่วยคาดการณ์แนวต้านของหุ้นได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจหรือช่วยยืนยันให้เราตัดสินใจขายได้ง่ายยิ่งขึ้น