หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อสถานะทางการเงินครัวเรือนเปราะบาง (2)

28 ต.ค. 2566 | 03:48 น.

หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อสถานะทางการเงินครัวเรือนเปราะบาง (2 :คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดยธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

จากบทความฉบับก่อนหน้า มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของระดับหนี้ ในครั้งนี้จะมาเจาะลึกกับฐานะทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนไทย เพื่อประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงของการตกอยู่ในวงจรหนี้ของครัวเรือนไทย

การก่อหนี้ที่เกินรายได้ คือจุดเริ่มต้นของการก่อหนี้ซ้ำและกับดักหนี้ครัวเรือน

ครัวเรือนไทยในปัจจุบันมีภาระหนี้สูงเมื่อเทียบกับรายได้ของตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้ส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ซึ่งเป็นหนี้ระยะสั้นและมีดอกเบี้ยสูง จึงทำให้ภาระจ่ายคืนหนี้ต่อเดือนสูงตามไปด้วย เมื่อบวกกับปัญหารายได้ที่โตไม่ทันกับภาระหนี้ ก็จะทำให้เกิดการก่อหนี้ซ้ำเดิม เพื่อนำเงินมาอุดรูรั่วสภาพคล่องของตัวเองที่ไม่เพียงพอต่อเดือน ส่งผลให้ภาระหนี้รวมยิ่งทวีคูณความรุนแรงขึ้นไปอีก ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกลายเป็นวงจรกับดักหนี้ที่ไม่สิ้นสุด ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้

เมื่อพิจารณาข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey : SES) ที่จัดทำโดยสำนักสถิติแห่งชาติ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2554-2564 พบว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ต่อปี (Debt to Income: DTI) เพิ่มขึ้นมากจาก 48% มาอยู่ที่ 63% โดยครัวเรือนเกษตรกรมีการปรับขึ้นของ DTI มากที่สุดจาก 45% ในปี 2554 มาอยู่ที่ 73% ในปี 2564

ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรไทยก่อหนี้เกือบเต็มขีดความสามารถด้านรายได้ของตัวเอง และแม้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ รายได้ของครัวเรือนทั้งปีก็อาจจะไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ทั้งหมด

หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อสถานะทางการเงินครัวเรือนเปราะบาง (2)

ยิ่งเมื่อพิจารณาลงไปถึงรายละเอียดโครงสร้างและสัดส่วนการก่อหนี้ร่วมด้วยจะพบว่า หนี้ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) หรือหนี้พึงระวัง เนื่องจากเป็นหนี้ที่ใช้แล้วหมดไป ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 39% และ 29% ของบัญชีหนี้ของคนไทยตามลำดับ 

อีกทั้งเป็นหนี้ประเภทที่ต้องจ่ายคืนในระยะสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้ที่สร้างรายได้ (Productive Loan) หรือหนี้ดี เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้เพื่อประกอบธุรกิจ จึงทำให้ภาระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงและเปราะบางมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการชำระคืนหนี้ พบว่า ภาระหนี้ที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ครัวเรือนไทยต้องทำงานถึงเกือบ 8 เดือนเต็มโดยไม่ใช้จ่ายอะไรเลย เพื่อให้สามารถจ่ายหนี้คืนทั้งหมดได้ ซึ่งตัวเลขนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 6 เดือน

สะท้อนการเร่งขึ้นของหนี้ที่สูงกว่าการเพิ่มของรายได้ โดยครัวเรือนไทยในภาพรวมก่อหนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 52% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่มีหนี้เฉลี่ย 135,000 บาทต่อครัวเรือนมาอยู่ที่ 206,000 บาทต่อครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้สูงขึ้นถึง 1.15 เท่า จาก 91,000 บาทต่อครัวเรือนในปี 2554 มาอยู่ที่ 195,000 บาทต่อครัวเรือนในปี 2564  

จากการเร่งขึ้นในหนี้ของกลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้เช่าที่ดินในการเพาะปลูก โดยมีหนี้เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาถึง 1.35 เท่า ขณะที่การขยายตัวของรายได้ครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 24% ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้และหนี้ยิ่งห่างกันไกล ตอกย้ำปัญหาหนี้ท่วมเกินกำลังจ่ายคืน

จากปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการก่อหนี้ที่สูงเกินความสามารถด้านรายได้ โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และมีระยะเวลานานกว่าจะใช้คืนหมด สะท้อนถึงสภาวะทางการเงินของครัวเรือนที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อภาวะรายรับไม่พอรายจ่ายหนี้

ซึ่งจะก่อให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาอุดรูรั่วทางการเงิน ทับถมหนี้เดิมที่มีอยู่ก่อน เกิดเป็นปัญหากับดักหนี้สินที่ไม่รู้จบ ราวกับดินพอกหางหมูที่ใหญ่ขึ้นและฝังรากลึกทำให้ครัวเรือนไทยไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้รัดตัวและสูงเกินกำลังรายได้

แม้จะได้รับการพักหนี้เพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องเป็นระยะ แต่ไม่อาจแก้ปัญหาหนี้เกษตรกรได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน เนื่องจากต้นตอที่แท้จริงมาจากรายได้ที่ไม่แน่นอนและปรับขึ้นช้ากว่าการเร่งขึ้นของหนี้ นอกจากนี้ การพักหนี้เกษตรกรยังเป็นการผลักภาระและสร้างพันธะของหนี้ที่ยาวนานขึ้นอีก ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในกับดักวังวนหนี้ที่ยืดเยื้อ แม้จะเลยช่วงวัยที่สามารถทำงานหารายได้แล้วก็ตาม

ปัญหาดังกล่าวหากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะสร้างปัญหาสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้กับภาคครัวเรือน ตลอดจนทำให้กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยชะงัก เพราะภาคส่วนสำคัญไม่มีสภาพคล่องเพียงพอมาใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินต่อไปได้ ยังไม่รวมถึงปัญหาต่อเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะการเกิดหนี้เสีย (Non-Performing Loan : NPL) ในระบบการเงินที่จะกระจายเป็นวงกว้างไม่ใช่เพียงภาคธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

ท้ายสุดนี้ ผู้เขียนจึงอยากฝากข้อความสำคัญไว้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช่เพียงการพักชำระหนี้เพื่อช่วยสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ส่งผลให้ภาระหนี้ยืดเยื้อในระยะยาว แต่ควรเน้นมาตรการที่ส่งเสริมและลดความผันผวนของรายได้ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่ในระยะข้างหน้าจะเผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้ของภาวะเอลนีโญ

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่สถาบันการเงินที่ต้องระมัดระวังให้การให้สินเชื่อ แต่รวมถึงภาคครัวเรือนเองที่ต้องปรับ เสริม สร้างภูมิคุ้มกันและวินัยทางการเงินไว้เสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองตกอยู่ในวงจรกับดักหนี้จนหาทางออกไม่ได้