แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนความขัดแย้งทางการค้า "สหรัฐฯ - จีน"

28 ส.ค. 2566 | 05:44 น.

แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนกระแสความขัดแย้งการค้า "สหรัฐฯ- จีน" รวมถึงประเด็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดยอริสา จันทรบุญทา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มต้นนับแต่ปลายปี 2561 ปัจจุบันได้กลายเป็นสงครามเทคโนโลยีและขยายวงกว้างสู่กลุ่มประเทศอื่นที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีน (จีนส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 16.2% ของการส่งออกทั้งหมดหรือราว 560 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯ (สหรัฐฯ ส่งออกไปจีน 8.4% ของการส่งออกทั้งหมด หรือราว 170 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ดังนั้น ด้วยความสำคัญของการเป็นคู่ค้าระหว่างกัน จึงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทั้งการค้า การลงทุน และห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญทั่วโลก

 

จากการประเมินผลกระทบโดยตรงของสงครามการค้า โดยใช้ข้อมูลปี 2561-62 ก่อนเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 พบว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้มูลค่าการค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11%ของมูลค่าการส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ ในช่วงปกติ

ขณะที่มูลค่าการค้าจากฝั่งสหรัฐฯ ไปยังจีนหายไป 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 17% ของมูลค่าการส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนในช่วงปกติ  นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากจีนไปสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทั้งในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ ไปจีนลดลงต่อเนื่องในหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงานและเครื่องจักร

แรงกระแทกต่อส่งออกไทย บนความขัดแย้งทางการค้า \"สหรัฐฯ - จีน\"

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่สภาพการตอบโต้ทางการค้ากลับมีการปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบลงไปในรายหมวดสินค้า โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการค้าเป็นรายหมวดจนถึงปี 2565 พบว่า การส่งออกสินค้าจากจีนไปสหรัฐฯ ที่ลดลงมากตามลำดับ คือ

  1. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  2. เครื่องจักรกล
  3. พลาสติกและส่วนประกอบ
  4. ส่วนประกอบรถแทรกเตอร์และรถบรรทุก

ขณะเดียวกัน การส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนลดลงต่อเนื่องในหมวดต่าง ๆ เช่น

  1. น้ำมันจากเมล็ดธัญพืช เมล็ดธัญพืชและผลไม้
  2. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
  3. เชื้อเพลิงและน้ำมัน 

สำหรับประเทศไทย แม้เกิดการไหลเข้ามาของสินค้าจากจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ อาทิ สินค้าหมวดเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ  และผลิตภัณฑ์เหล็ก อย่างไรก็ดี ไทยได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากคู่ขัดแย้งทางการค้าเพิ่มขึ้นโดยตรงในหมวดสำคัญ อาทิ

  1. อุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
  2. ชิ้นส่วนรถยนต์
  3. เครื่องใช้ไฟฟ้า 

หลังจากการตอบโต้ทางภาษีนำเข้าระหว่างกันนานหลายปี (Tariff Measure) มีการปรับเปลี่ยนแนวทางในการตอบโต้ไปสู่ด้านซัพพลายมากขึ้น ผ่านการควบคุมการส่งออกวัตถุดิบและเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าสำคัญๆ (Non-Tariff Measure) อีกด้วย

ล่าสุดในวันที่ 1 สิงหาคม 2566 นี้ ทางการประเทศจีนจะเริ่มควบคุมการส่งออกสินค้าประเภทแร่ธาตุหายาก 2 ชนิดที่จีนเป็นผู้ส่งออกรายหลักของโลก คือ แร่แกลเลียม (จีนผลิต 80% ของตลาดโลก) สำหรับใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และแร่เจอร์เมเนียม (จีนผลิต 60% ของตลาดโลก) ที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์โซลาเซลล์และไฟเบอร์ออปติก เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และยุโรปที่จำกัดการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีผลิตชิปของจีน

ทั้งนี้ คาดว่าเยอรมนีและญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะนำเข้าแร่ทั้งสองชนิดจากจีนโดยตรงในสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โซลาเซลล์ และไฟเบอร์ออปติค สำหรับส่งออกไปในตลาดโลก ส่วนไทยอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นบ้างจากการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์จากญี่ปุ่น (11% จากการนำเข้าทั่วโลก) แต่โดยรวมถือว่าผลกระทบไม่มากนัก

นอกจากมาตรการกีดกันดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มการกีดกันทางการค้าแบบแอบแฝงมากขึ้น ผ่านการบังคับใช้มาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อพิจารณาเฉพาะโครงสร้างการกีดกันการค้าแบบไม่ใช่ภาษี (NTMs) ผ่านสถิติที่จัดทำโดยองค์การการค้าโลกปี 2562 พบว่า ประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิก ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าเชิงเทคนิคในการนำเข้าปลายทาง (Technical Barriers to Trade) ราว 50% การกีดกันผ่านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary) 30% และการกีดกันผ่านการส่งออกสินค้าจากต้นทางโดยตรงและกลวิธีอื่นๆ อีก 20%

 

เมื่อดูเป็นรายประเทศ จีนประสบกับ NTMs สูงที่สุดในภูมิภาค ส่วนไทยเป็นอันดับที่ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด ถือเป็นอันดับแรกในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กในภูมิภาค โดยมาตรการส่วนใหญ่ที่ไทยประสบปัญหา คือ การกีดกันผ่านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชร้อยละ 47 การกีดกันทางการค้าเชิงเทคนิคในขานำเข้าร้อยละ 30 และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีอื่น ๆ อีกร้อยละ 23 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซียและอินโดนีเซีย เผชิญจำนวนการกีดกันทางการค้าในรูปแบบนี้ราวครึ่งนึงของไทย ถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวลสำหรับภาคการผลิตและการแข่งขันของภาคการส่งออกสินค้าของไทย

 

ท่ามกลางการตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงขึ้นของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้เกิดการแบ่งขั้วห่วงโซ่การผลิตระหว่างจีนและประเทศตะวันตก (Supply Chain Decoupling) อย่างชัดเจนทั่วโลก ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญว่า ไทยเองจะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากกระแสเม็ดเงินลงทุนข้ามชาติทั้งจากจีนและประเทศตะวันตกได้อย่างไร บนพื้นฐานของการคัดกรองการลงทุนจากต่างประเทศด้วยความระมัดระวัง และเราจะสร้างศักยภาพการผลิตเพื่อรับมือกับความผันผวนในห่วงโซ่อุปทานโลกที่รุนแรงขึ้นทุกวันอย่างไร นอกจากนี้ บนเงื่อนไขการกีดกันการค้าแบบแอบแฝงผ่านกฎเกณฑ์ระเบียบโลกใหม่ ๆ รัฐบาลไทยจะสามารถสนับสนุนด้านองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อให้ภาคเอกชนเตรียมรับมือกับกฎ กติกา และความท้าทายระเบียบโลกใหม่ให้ทันท่วงทีได้อย่างไร