แนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าของไทยในอนาคตและการรับมือ

30 มิ.ย. 2566 | 04:51 น.

แนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าของไทยในอนาคตและการรับมือ: คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดยอริสา จันทรบุญทา ศูนย์วิเคราะห์เศรษบกิจ ทีทีบี

ในช่วงก่อนหน้านี้ มีประเด็นข่าวเรื่องค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นมาก โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสภาพอากาศร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ ด้วยระดับอัตราค่าใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ในช่วงที่เหลือของปี 2566 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนสูงขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว  แต่สิ่งที่น่ากังวลในระยะยาวเป็นเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น เราจะมีกลไกรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไรทั้งในภาคประชาชนและภาครัฐบาลเพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ มีทางเลือกที่เพียงพอและมีต้นทุนทางพลังงานที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ

สำหรับราคาค่าไฟฟ้าในปัจจุบันมีการคำนวณจาก 2 ส่วนด้วยกัน

  • ส่วนแรกมาจากค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่า Ft จะปรับตาม 1. ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซ 2. อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 3. ปริมาณก๊าซในอ่าวไทย)
  • ส่วนที่2 ความต้องการไฟฟ้า ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา  โดยในช่วงพฤษภาคมปี 2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าไฟฟ้าผันแปรในสัดส่วน 95% และอีก 5% มาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น

จากการประเมินยอดค่าใช้จ่ายบิลไฟฟ้าเฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 37% จากปีก่อนหน้าที่ไม่ได้มีการปรับเพิ่ม จึงทำให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาที่ 1,200 บาทต่อครัวเรือน จากราว 800 - 900 บาทในปีก่อน โดยเฉพาะครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งมียอดค่าไฟฟ้าต่อเดือนเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเทียบทั้งประเทศ และอาจจะต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยที่ราว 1,700 บาทต่อเดือน จาก 1,260 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนเมื่อเทียบกับปี 2565

แนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าของไทยในอนาคตและการรับมือ

นอกจากนี้ การที่ค่าไฟฟ้ามีสัดส่วนทางตรงราว5% ในตระกร้าเงินเฟ้อของไทย แต่มีผลทางอ้อมผ่านต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ ที่ครัวเรือนเป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นนี้จึงส่งผลให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงต่อไปจะเป็นไปอย่างช้าลง จากราคาสินค้าจะปรับลงช้าซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพและภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มักประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายประจำ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลและถือเป็นปัญหาระยะยาว คือ ปริมาณความต้องการไฟฟ้าของครัวเรือนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้สูง โดยจากสถิติย้อนหลัง 20 ปี พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศของไทยในปี 2565 เพิ่มขึ้นสูงถึง 100% จากปี 2545 โดยแบ่งเป็นปริมาณใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 70% และภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วสุดที่ 145%

สวนทางกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่แท้จริงของไทย (จีดีพี) ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 90% จากปี 2545 ซึ่งค่าไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5-6% ของจีดีพีประเทศไทยต่อปี ดังนั้น การสนับสนุนให้ครัวเรือนใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า และปรับไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกทางนโยบายระยะยาวที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติจริงทั้งจากระดับภาครัฐและระดับครัวเรือน

  • ในระดับภาครัฐ แม้การอุดหนุนค่าใช้ไฟฟ้าครัวเรือนโดยใช้งบประมาณโดยตรงจากภาครัฐอาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้ไฟฟ้าลงอย่างเร่งด่วน แต่ในระยะยาวจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นให้ครัวเรือนเกิดการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนั้น ยังทำให้เพิ่มภาระแก่งบประมาณภาครัฐอีกด้วย ตัวอย่างการแก้ปัญหาเรื่องค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาวที่รัฐบาลในสหภาพยุโรปได้เสนอไว้ คือ การที่รัฐตั้งเพดานรายได้สูงสุดที่โรงไฟฟ้าจะได้รับต่อหนึ่งหน่วยไฟฟ้าที่ขาย และรัฐบาลจะนำรายได้ส่วนเกินจากการขายไฟฟ้าต่อหนึ่งหน่วยตามราคาตลาดดังกล่าวนี้ไปช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง โมเดลนโยบายนี้จะไม่ไปบิดเบือนราคาตลาด ส่งเสริมให้ครัวเรือนประหยัดไฟฟ้า และไม่เพิ่มภาระต่องบประมาณรัฐที่จะหาเม็ดเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้แก่กลุ่มเปราะบาง

  • ในระดับครัวเรือน สิ่งสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึกร่วมกันอนุรักษ์พลังงาน อาทิ การเน้นให้ครัวเรือนวางแผนและควบคุมการใช้ปริมาณพลังงานอย่างคุ้มค่า เน้นให้มีการตรวจสอบและดูแลการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าสม่ำเสมอเพื่อลดการรั่วไหลของพลังงาน และเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟเบอร์ห้า

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ควรมีกลไกสนับสนุนให้ครัวเรือนปรับไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น อาทิ สนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยอุดหนุนค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และนำไปลดหย่อนภาษีโดยตรง หรือการสนับสนุนให้ภาคธนาคารออกแคมเปญที่เอื้อต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ของลูกค้า ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะมีส่วนช่วยให้ครัวเรือนไทยพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ดีขึ้นและปรับไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายทางการได้เร็วขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้รัฐบาลไทยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและลดการสูญเสียเม็ดเงินงบประมาณไปกับการอุดหนุนค่าไฟฟ้าครัวเรือนลงได้อย่างมากในระยะยาว