ด้วยรักและแรงศรัทธา สติและความรู้คือรากฐานการลงทุน

30 พ.ค. 2566 | 06:47 น.

ด้วยรักและแรงศรัทธา สติและความรู้คือรากฐานการลงทุน : คอลัมน์ Investing Tactic โดย กวิน สู่พานิช เพจ Kavin’s Hybrid Trading และ วิทยากรพิเศษโครงการ SITUP

เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่าในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูล ผ่านการติดต่อสื่อสารกันได้รวดเร็วและง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัส นำพามาซึ่งโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งการศึกษา การสร้างธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการสร้างอาชีพใหม่ ในโลกปัจจุบันสื่อ Social Media ต่าง ๆ เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ทั้ง Youtube Facebook และ Tiktok

จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การเล่น Social Media ย่อมทำให้บุคคลหนึ่งนั้นเป็นบุคคลที่เข้าถึงได้ ถ้า Content ดี น่าสนใจ และน่าดึงดูดใจ สามารถทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นคน บุคคลมีชื่อเสียง ผู้ติดตามหลักแสน หลักล้านคนได้ในระยะเวลาไม่นาน

การเป็นคนที่มีผู้ติดตามมากมายย่อมมีผลต่อทิศทางต่างๆ ได้ในบางครั้ง รวมถึงส่งผลต่อผู้ติดตามเช่นกัน เรื่องนี้ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงการลงทุนอย่างตลาดหุ้น เราได้เห็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์มากขึ้นที่มีทั้งให้ความรู้ที่ดี มาแบ่งปันประสบการณ์การลงทุน มาระบายอารมณ์ มาเล่าเรื่องราวของการขาดทุน และบางครั้งก็มาแสดงความภาคภูมิใจในการลงทุนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสีสันของโลกการลงทุนที่ล้วนมีทั้งสุขและทุกข์ผสมกัน จนเป็นประสบการณ์และความทรงจำ

ในมุมมองของผู้ชมอย่างเรา บางครั้งก็เผอเรอเคลิ้ม แอบลอกการบ้านของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ เพราะหวังว่าสักวันหรือครั้งนี้เราจะประสบความสำเร็จ “รวย” บ้างอย่างเขา แต่ก็มีหลายครั้งที่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นดั่งวิมานที่วาดฝันไว้ รถยนต์คันงามที่เมื่อหุ้นขึ้นไปถึงราคานี้เราจะถอยออกมาอวดโลกโซเชียลมีเดีย หรือคอนโดหรู หรือนาฬิกาข้อมือเรือนงาม บางครั้งก็พังทลายในเวลาอันสั้น

ด้วยรักและแรงศรัทธา สติและความรู้คือรากฐานการลงทุน

โดยส่วนมากเรื่องราวเหล่านี้เรามักไม่ค่อยได้เห็นในโลกออนไลน์ แต่มักจะได้เห็นในมุมหลืบเล็ก ๆ ตามห้องไลน์จากการบ่น บางครั้งปนการก่นด่าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำไมต้องอวดให้เราเคลิ้มจนซื้อตาม ซึ่งถ้ามองกันจริง ๆ แล้วความผิดนั้นอยู่ที่ตัวเรา เพราะเขาไม่ได้บังคับให้เรา “ลอก” เขาหรือซื้อตามหรือบอกว่าจะไปราคาเท่าไร รวมถึง ถ้าเรามองย้อนกลับมาที่รากฐานของการลงทุนอันดับต้นๆ ของการเริ่มลงทุน คือ “สติ” และ “ความรู้”

ในโลกของการลงทุน ยิ่งถ้าหากเราลงทุนในปริมาณเงินที่มีนัยสำคัญของชีวิตหรือพอร์ตการลงทุน เราล้วนต้องมี “ศรัทธา” ในสิ่งที่เราลงทุน และความเชื่อมั่นว่า สินทรัพย์นั้นๆ จะสร้างผลตอบแทนให้กับเรา ซึ่งจุดนี้เป็นดาบสองคม ถ้าหากเราขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนย่อมเกิดความหวั่นไหวและผันแปรไปตามการเคลื่อนไหวของราคา 

โดยเฉพาะเวลาที่ตลาดปรับตัวลงหรือมีความผันผวนมากอย่างในปัจจุบัน บางครั้งการเคลื่อนไหวของราคาเพียงเล็กน้อยอาจทำให้แผนการที่วางไว้อย่างดิบดี ผ่านการทำงานมานานนับชั่วโมงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าทันที ยิ่งถ้าหากเราเพิ่งเจอการขาดทุนติดๆ กันมา หรือการขาดทุนหนักมา ย่อมทำให้การตัดสินใจของเรามีโอกาสที่จะผันแปรตาม “ความกลัว” ณ ช่วงเวลานั้น

ในมุมกลับกัน สำหรับคนที่เข้ามาในโลกของการลงทุนในระยะเวลาที่ไม่นานมากนัก ยังไม่มีแนวทางการลงทุนที่เป็นของตัวเอง หรือประสบการณ์ลงทุนที่ไม่มากนัก มักจะพยายามหาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจจากการอ่านหรือดูบทสัมภาษณ์ของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ หรือที่ได้รับการยอมรับในโลกการลงทุนว่าเป็น “เซียน”

โดยส่วนมากแล้วนักลงทุนหน้าใหม่มักมองข้ามเรื่องของประสบการณ์ของเหล่าเซียนหุ้น และเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เขาเหล่านั้นพบเจอมา โดยมองเพียงภาพของความสำเร็จและอยากได้อย่างนั้น โดยพยายามหาทางลัดด้วยวิธีการลอกหุ้นแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งเพราะเหตุผลมากมาย แต่เหตุผลหลักที่ไม่ควรทำมี 4 ข้อ

  1. ต้นทุนเราไม่เท่ากัน
  2. ไม่มีใครบอกแผนการที่ชัดเจนแน่นอน (ถ้าบอกทุกคนรู้ โลกรู้ กำไรจะมาจากไหน)
  3. ตอนขายเขาก็คงไม่ได้บอกก่อนขายเช่นกัน
  4. เหตุผลในการซื้อที่แท้จริงเราไม่อาจรู้ได้ในโลกโซเซียลฯ

กรณีเราศรัทธาในอินฟลูเอนเซอร์ท่านนั้นจนกลายเป็นแรงรักและศรัทธา ถ้าหากหุ้นหรือสินทรัพย์นั้น ๆ ปรับตัวลงไปมาก หรือเลวร้ายสุดกลายเป็นศูนย์ คำถามคือจำนวนเงินที่เราลงทุนไป เราสามารถนำกลับมาได้หรือไม่ บางทีตัวเลขที่อยู่ในสื่อออนไลน์อาจเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสินทรัพย์ของเขาก็ได้

สิ่งที่ผู้ตัดสินใจจะก้าวขาเข้าสู่โลกของการลงทุนต้องมีเป็นอันดับแรกไม่ใช่เงินทุน แต่เป็นความรู้ เมื่อมีความรู้และลงทุนมาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว สิ่งที่ตามมาคือประสบการณ์ในการลงทุน และประสบการณ์นี้ย่อมเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะได้ในระดับหนึ่งว่า สิ่งที่เราเห็นในสื่อต่างๆ นั้น ผู้โพสต์หรือผู้ที่เผยแพร่มีจุดประสงค์อะไรในการเผยแพร่ดังกล่าว

รวมถึง ถ้าหากจริงจังในการลงทุนมากพอ เราย่อมน่าจะต้องมีหลักการในการลงทุนเป็นของตนเอง หรือวิธีการที่เราใช้แล้วมีความสบายใจและสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งการมีหลักการเป็นของตนเองย่อมทำให้เราไม่เคลิ้มหรือหลงเชื่อคนอื่นง่าย จนละเลยการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในผลตอบแทน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกรณีที่การลงทุนนั้นไม่ได้เป็นดั่งที่คาดหวังไว้

เพราะเส้นทางการลงทุนไม่ได้เป็นเส้นทางที่ง่ายดายเพียงแค่ฟัง “เขาบอกว่าจะขึ้น” ก็ซื้ออย่างไม่เกรงกลัวความเสี่ยง และหวังว่าจะรวยได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่การลงทุนที่ดีคือ การเลือกลงทุนด้วยตัวเราเอง ทำการบ้านด้วยตัวเอง และวางแผนการลงทุนให้เหมาะสม วิธีการนี้จะทำให้เราสามารถยืนระยะ และอยู่รอดได้ในตลาด ขอบคุณครับ

หน้า 14  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,891 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2566