เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 1)

20 มี.ค. 2566 | 09:21 น.

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 1) :คอลัมน์ Investing Tactic โดย น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

ทำไมผลการเทรดและลงทุนของคนแต่ละคนถึงได้มีความแตกต่างกัน ทั้งที่มีข้อมูลชุดเดียวกัน และศึกษามาจากศาสตร์เดียวกัน เพราะอะไร ทำความเข้าใจ เพื่อการลงทุนอย่างเข้าใจ และนำไปปรับปรุงและต่อยอดความรู้ความสามารถกันต่อไป

โดยปกติแล้วมนุษย์มีการตัดสินใจในเรื่องต่างๆที่แตกต่างกันอยู่แล้วและถึงแม้จะเป็นคนที่ลักษณะคล้ายกัน  แต่ในรายละเอียดก็ยังอาจตัดสินใจแตกต่างกันได้  ซึ่งเหตุผลนั้นอาจแบ่งได้เป็นหลายข้อดังนี้

  • 1.ประสบการณ์ชีวิต  หมายรวมถึง อายุ  ช่วงเวลาที่เริ่มต้นของประสบการณ์ เช่น เริ่มเข้ามาช่วงตลาดขาขึ้น มีโอกาสมองการลงทุนในแง่ดี แต่ถ้าเข้ามาช่วงเศรษฐกิจตกต่ำก็มีโอกาสจะเลือกวิธีลงทุนที่รัดกุมมากกว่า สถานที่ที่อยู่และสิ่งแวดล้อมเช่น ถ้าอยู่ในครอบครัวทำธุรกิจก็จะคุ้นเคยกับความเสี่ยงในการลงทุน และจำนวนเงินที่ลงทุนมากๆได้มากกว่า

 

กรรมพันธุ์ ความถนัด สุขภาพร่างกายจิตใจ ลักษณะทางกายภาพสูงต่ำ ดำขาว ก็มีส่วนกระทบต่อการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างในแต่ละบุคคล   เหตุการณ์ต่างๆที่เคยผ่านมาในชีวิต และ กระทบจิตใจ ทั้งทางดีและไม่ดี จะนำไปสู่การสร้างกลไกการตอบสนองโดยอัตโนมัติต่างๆไว้ในจิตใต้สำนึก และจะแสดงออกมาในเวลาที่ต้องคิดตัดสินใจ  ซึ่งจะมีผลมากขึ้นในเวลาฉุกเฉินและวิกฤติ 

เหตุผลที่คนตัดสินใจลงทุนไม่เหมือนกัน (ตอนที่ 1)

  • 2.ความเชื่อและการให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ความเชื่อสามารถเปลี่ยนไปตามเวลาและข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ทั้งในทางลึกและทางกว้างและสถานะ บทบาท ของบุคคลที่เปลี่ยนไป เช่น ในช่วงเป็นเด็กเราอาจให้คุณค่ากับเพื่อนและเชื่อว่าความสัมพันธ์จะคงที่เสมอไป  แต่เมื่อโตขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงความเชื่อก็จะเปลี่ยนไป 

ในการลงทุนก็เช่นกัน เราอาจเชื่อในเงิน ดอลลาร์ หรือในทองคำ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันก็เปลี่ยนไป ซึ่งอาจเปลี่ยนไปตามที่ผู้รู้ที่เราติดตามวิเคราะห์บอกมา  แล้วเมื่อเราเปลี่ยนบุคคลที่เราเชื่อ ความเชื่อเราก็อาจเปลี่ยนตามไปด้วยซึ่งกรณีแบบนี้อาจไม่ได้มีสิ่งใดที่ถูกต้องที่สุด เปลี่ยนไปตามกระแสความคิดของคน    

ตัวอย่างเช่น คนรุ่นใหม่ที่ชำนาญในเทคโนโลยีและมีความเชื่อว่าโลกการเงินแบบเดิมมีข้อบกพร่องมากมายและควรแก้ไขจะให้คุณค่ากับเทคโนโลยี ที่ทันสมัยและโปร่งใสขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนใน cryptocurrency มากกว่านักลงทุนที่มีอายุมากกว่า 

นอกจากนี้ยังอาจรวมไปถึงความเชื่อเรื่องอื่นๆ  เช่นความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เหมือนกันก็ทำให้คนตัดสินใจในการเลือกวิธีการลงทุนที่ต่างกันด้วย  การปรับปรุงความเชื่อให้ใกล้เคียงความจริงนั้นต้องฝึกที่จะตั้งคำถาม และ หามุมมองตรงข้าม หรือปรึกษาผู้มีความรู้  ให้เป็นนิสัย 

  • 3.อุปนิสัยความชอบส่วนตัว ซึ่งเกิดต่อเนื่องมาจาก 2 ข้อข้างต้น  การที่คนหนึ่งมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีกับเหตุใดเหตุหนึ่ง หลายๆครั้งก็ก่อให้เกิดความเชื่อมั่น และก็นำไปสู่ความชอบ ไม่ชอบได้ เช่น คนที่ชอบเสี่ยงโชคแล้วได้รางวัลจากการเล่นครั้งแรกๆ  หรือ ได้รางวัลใหญ่  ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นความชอบเสี่ยงโชคในเกมอื่นๆได้  ในขณะที่คนที่ทำงานอยู่ในระเบียบ ต้องมีหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจ ก็มีแนวโน้มที่จะลงทุนแบบเป็นระบบเพื่อลดความลังเลในการตัดสินใจด้วยเช่นกัน
  • 4.อคติหรือการรับรู้และตอบสนองด้วยความลำเอียง เมื่อเราเรียนรู้สิ่งต่างๆและมีประสบการณ์มากขึ้น สิ่งที่เรียนรู้นั้นทั้งดีและไม่ดีจะถูกบันทึกและประมวลผลเพื่อสร้างเป็นการตอบสนองแบบอัตโนมัติและทำงานได้รวดเร็วขึ้น  หรือเรียกอีกอย่างว่าสัญชาติญาณ ในอดีตมนุษย์ใช้สิ่งเหล่านี้ในการตัดสินใจเฉพาะหน้า เช่นการที่จะสู้ หรือ จะหนี เมื่อเจออันตราย 

แต่ในปัจจุบันมนุษย์มีความเจริญและซับซ้อนขึ้น  หลายๆครั้ง ทำให้กลายเป็นความผิดพลาดจากการตัดสินใจได้ เช่นความโลภแล้วเกิดความกล้า คิดเข้าข้างตัวเองว่าจะได้จนลำเอียงลืมคิดว่าอาจจะสูญเสีย   หรือ มีความกลัวจนอยู่เฉยๆ ไม่กล้าทำตามแผนที่วางไว้  เหตุการณ์อาจเกิดขึ้นเร็วมากจนสติไม่สามารถรับรู้แล้วกลั่นกรองด้วยเหตุผลที่ครบถ้วนได้ทัน  สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ปรากฏการณ์ อคติ หรือความลำเอียง (cognitive bias ) ซึ่งจะเริ่มต้นในใจแล้วไปสู่การแสดงออกภายนอก