เงินบาทแข็งค่าสุดรอบเกือบ 3 เดือน คาดสัปดาห์หน้าแข็งค่าต่อ

12 พ.ย. 2565 | 07:29 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน จากแรงเทขายดอลลาร์ หลังเฟดส่งสัญญาณลดการเร่งขึ้นดอกเบี้ย คาดสัปดาห์หน้า 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติและค่าเงินในภูมิภาค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” รายงานว่า เงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แข็งค่าแตะระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ทั้งนี้เงินดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

 

ทั้งนี้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ (ดัชนี CPI) เดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่  7.9%  ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เพิ่ม 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าตลาดคาดที่ 6.5% เช่นกัน

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดอาจปรับขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัดๆ ไป ด้วยเช่นกัน

 

ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังสอดคล้องกับสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้าซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 7-11 พ.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 14,091 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรมากถึง 77,110 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิพันธบัตร 79,556 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 2,446 ล้านบาท

 

ทั้งนี้วันศุกร์ที่ 11 พ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 37.57 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 พ.ย.)

 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 35.30-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่

  • ทิศทางเงินทุนต่างชาติ
  • สถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค

 

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่

  • ดัชนีราคาผู้ผลิต
  • ยอดค้าปลีก
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม
  • ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและยอดขายบ้านมือสองเดือน ต.ค.
  • ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย
  • ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เดือน พ.ย.
  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

 

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางอินโดนีเซีย ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ของอังกฤษ ยูโรโซน และญี่ปุ่น และข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ต.ค. ของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการว่างงาน ด้วยเช่นกัน