เงินบาทพลิกแข็งค่า...แต่ยังต้องระวังความผันผวนจากหลายปัจจัยข้างหน้า

11 พ.ย. 2565 | 12:03 น.

กสิกรไทย จับตา 3ปัจจัยชี้ทิศเงินบาทอยู่ในกรอบผันผวนในระยะข้างหน้า “สัญญาณของเฟด โมเมนตัมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ” ย้ำให้ผู้ประกอบการ นักลงทุนควรทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

สถานการณ์ล่าสุด เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ (11 พ.ย. 2565) ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากการคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัดๆ ไป

 

• นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ในรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ด้วยเช่นกัน

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการและนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อาจไม่ได้โน้มไปแบบทิศทางเดียว เพราะยังมีจุดที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็คือ สัญญาณของเฟด โมเมนตัมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และภาพรวมความเสี่ยงของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

 

  สถานการณ์ล่าสุด เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน  ที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกกลับมาบางส่วน

ทั้งนี้ เงินบาทและสกุลเงินเอเชียในภาพรวมปรับตัวแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงในเดือนตุลาคม 2565

 

ซึ่งภาพดังกล่าวหนุนการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเริ่มทยอยลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่การประชุม FOMC รอบหน้าในเดือนธันวาคม 2565 และน่าจะเป็นภาพต่อเนื่องในปี 2566

 

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการขยับแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งรับปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ระบุว่า ทางการจีนพิจารณาลดจำนวนวันกักตัวและผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนในการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศด้วยเช่นกัน

 

 ทิศทางค่าเงินในเอเชีย รวมถึงเงินบาท เริ่มพลิกกลับมาแข็งค่าในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองอย่างรวดเร็ว และพยายามหาสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า 

 

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับระดับการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนการประชุมเฟดเดือนพฤศจิกายน 2565 เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 6% ตามหลังค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นถึง 8.3% โดยการพลิกแข็งค่าของทั้งเงินบาทและเงินวอน เป็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจน

 

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นในกรอบประมาณ 1-3% และเมื่อดูการเคลื่อนไหวของสถานะพอร์ตการลงทุนของต่างชาติ ก็คงต้องยอมรับว่า การขยับแข็งค่าของเงินบาทในเดือนพฤศจิกายนนั้น  เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับจังหวะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทย โดยมียอดเงินทุนไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 1.18 แสนล้านบาท (เป็นเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น 9.4 หมื่นล้านบาท และ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ)

 

เงินบาทพลิกแข็งค่า...แต่ยังต้องระวังความผันผวนจากหลายปัจจัยข้างหน้า

 

   นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ในรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ ไม่มีคู่ค้าหลักบิดเบือนค่าเงิน

ทั้งนี้ ในรายงานฉบับนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่มีคู่ค้าหลักรายใดของสหรัฐฯ ที่บิดเบือนค่าเงิน (Manipulator) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับสหรัฐฯ

 

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ไม่มีประเทศใดติดลิสต์รายชื่อประเทศที่บิดเบือนค่าเงินนั้น เป็นเพราะในช่วงที่ผ่านมา สกุลเงินส่วนใหญ่ล้วนเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าอย่างมาก

 

อันเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าตามจังหวะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จนทำให้ทางการของหลายประเทศต้องเข้าดูแล (Intervention) เพื่อพยุงหรือชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงิน ซึ่งก็เป็นทิศทางการเข้าดูแลตลาดเพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และไม่ได้สร้างแต้มต่อด้านค่าเงินเพื่อประโยชน์ในการค้ากับสหรัฐฯ

 

 สำหรับในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน เพราะแม้สัญญาณเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ชะลอลง จะกระตุ้นให้ตลาดเทขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไรจากที่แข็งค่าขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

 

แต่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อาจไม่ได้โน้มไปแบบทิศทางเดียว เพราะยังมีจุดที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็คือ สัญญาณของเฟด รวมถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เพราะเฟดยังไม่ได้หยุดการคุมเข้มนโยบายการเงิน

 

และยังต้องขึ้นดอกเบี้ยไปจนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่า จุดสูงสุด หรือ Terminal Rate ของวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยสหรัฐฯ และช่วงเวลาการยืนดอกเบี้ยต่ออีกระยะหนึ่ง ยังเป็นเรื่องที่ยากจะประเมิน ณ เวลานี้ และอาจเป็นตัวแปรที่หนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาได้เป็นระยะๆ ตามมุมมองของตลาดที่ปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว 

 

ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยพึงตระหนักว่า การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้ ยังคงมีโอกาสผันผวนค่อนข้างมาก

 

เพราะมีหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ทั้งจังหวะขาขึ้นของดอกเบี้ยเฟด แนวโน้มการชะลอตัวหรือเข้าขั้นถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ซึ่งล้วนมีผลต่อการประคองแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้า