ทะลวง Zero Covid ยก “ดรากอน เฟรช ฟรุท ” โมเดล แก้เกมจีน

14 มี.ค. 2565 | 08:31 น.

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดแผนแก้เกมจีน ยก “ดรากอน เฟรช ฟรุท โมเดล” ทะลวง Zero Covid ส่งออกผลไม้ แสนล้าน ไม่สะดุด พร้อมผนึก ผู้ว่าฯ ลุยปราบทุเรียนอ่อน ยึดของกลาง 3 ตัน พร้อมเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมายและเพิกถอนใบรับรอง

ระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงค์

 

วันที่ 14 มีนาคม  2565 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  แถลงข่าวร่วมกับนายสุธี  ทองแย้ม  ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี  กรณีการจับกุมและดำเนินคดีตัดทุเรียนไม่ได้คุณภาพ(อ่อน) เพื่อการส่งออก ณ สถานีตำรวจภูธรท่าใหม่  ซึ่งได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีมีล้งทุเรียนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรีมีการรับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีน  ชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จังหวัดจันทบุรี  จึงได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบล้งทุเรียนตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าว  ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าได้ขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชกับกรมวิชาการเกษตร

 

จากการตรวจสอบพบทุเรียนอ่อนในโรงคัดบรรจุดังกล่าวนั้น นอกจากจะมีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุในคำสั่งจังหวัดจันทบุรีแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรก็จะมีการดำเนินการกับเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน โดยเกษตรกรเจ้าของผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพที่อายัดไว้  ตรวจสอบแล้ว พบว่าได้รับการรับรอง GAP จาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6 )กรมวิชาการเกษตร พื้นที่การผลิต จำนวน 3 ไร่  หากสืบสวนแล้วปรากฏว่ามีเจตนาให้ตัดผลผลิตไม่ได้คุณภาพ

 

หรือเพิกเฉยไม่คัดค้านการนำผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพของตนออกสู่ท้องตลาด  เกษตรกรผู้ได้รับการรับรองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เจ้าหน้าที่จะเสนอข้อมูลเสนอต่ออธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย  มีอำนาจสั่งพักใช้ใบรับรอง หรือ เพิกถอน ใบรับรอง GAP  ซึ่งในส่วนของโรงคัดบรรจุก็จะมีการดำเนินการเช่นเดียวกันภายใต้ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่องการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช

 

 

นายระพีภัทร์  กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายหลักที่จะผลักดันและสนับสนุนให้การส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศมีความคล่องตัวและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ลงพื้นที่พร้อมด้วยนายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร 

 

แถลงการจับกุม

 

เพื่อติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปี 2565 โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งกำลังมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในขณะนี้  เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักในการตรวจสอบศัตรูพืชไม่ให้ติดปนเปื้อนไปกับผลผลิตที่จะส่งออก รวมทั้งปัจจุบันจีนยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้เข้มงวดตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับผลผลิตด้วย

 

ในด้านการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนไม่ให้มีการลักลอบส่งออกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานป้องกันไม่ให้มีสินค้าด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนหลุดรอดไปถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

 

 

กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่คือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรีให้ความร่วมมือดำเนินการป้องกันและตรวจสอบร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ตามประกาศการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องทุเรียนซึ่งระบุว่า ทุเรียนพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 % พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า30% และพันธุ์หมอนทองไม่น้อยกว่า 32% ถ้าเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนอ่อน

 

“ขอเน้นย้ำว่าทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก  จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งออกของประทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม  GMP Plus (มาตรการ GMP + Covid-19 ) การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรไทยมีความปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 

ทุเรียนอ่อน

 

นอกจากนี้ นายระพีภัทร์  ได้ตรวจเยี่ยมโรงคัดบรรจุต้นแบบ GMP+ ซึ่งเป็นการถอดต้นแบบการควบคุม และตรวจสอบการปนเปื้อน COVID จากสินค้านำเข้า  ณ ด่านนำเข้าประเทศที่จีน มาประยุกต์การใช้งานให้เหมาะสมกับ โรงคัดบรรจผลไม้สด และมาตราการป้องกันเชื้อ COVID -19 ในโรงคัดบรรจุผลไม้ ได้แก่ การควบคุมแรงงาน การใช้สารเคมีตามคำแนะนำของ GACC เพื่อกำจัดการปนเปื้อนเชื้อที่บรรจุภัณฑ์ ตู้คอนเทนเนอร์ และบนพื้นผิวผลไม้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะเป็นมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกผลไม้ไทยให้มีความน่าเชื่อถือ

 

ซึ่งโรงคัดบรรจุ บริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุท จำกัด ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ได้พัฒนาเป็นต้นแบบให้โรงคัดบรรจุทุเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยมีระบบควบคุมการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดของบุคลากร การพ่นฆ่าเชื้อยานพาหนะก่อนเข้าโรงคัดบรรจุ การจุ่มฆ่าเชื้อทุเรียนก่อนนำเข้าโรงคัดบรรจุ และการฆ่าเชื้อรอบกล่องบรรจุทั้ง 6 ด้าน รวมทั้งการฆ่าเชื้อภายในและภายนอกตู้สินค้า

 

โดยใช้สารฆ่าเชื้อในกลุ่ม ที่ "จีน" ยอมรับ คือ คลอรีนไดอ๊อกไชด์ ซึ่งมีจำหน่ายในประเทศไทย และราคาไม่แพงโรงคัดบรรจุที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในโรงคัดบรรจุของตนเองได้ เพื่อทำให้ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยปลอดจากเชื้อโควิด ตามมาตรการทุเรียนส่งออกจากไทย โควิดต้องเป็นศูนย์