“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

23 ม.ค. 2565 | 01:37 น.

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมานโยบาย“โควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid Policy : ZCP)” หรือ “Zero Covid Strategy : ZCS” เป็นนโยบายหลักของหลายประเทศเพื่อป้องกันโควิด เช่น ออสเตรเลีย (ยกเลิก ส.ค. 64) แคนาดา ไต้หวัน นิวซีแลนด์ (ยกเลิก ต.ค.64) สิงคโปร์ (ยกเลิกต.ค.64) เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น

 

“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

 

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่เลิกใช้นโยบาย ZCP แล้ว แต่ประเทศจีนยังใช้ ZCP อย่างเข้มข้น นโยบาย ZCP ของจีนเป็นนโยบาย “Top Down Policy” จากส่วนกลางสู่หน่วยงานระดับพื้นที่ ซึ่งต้องปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นก็ตั้งเป้าไว้สูงที่จะจัดการโควิดให้ได้ เพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็โดนตำหนิหรืออาจจะถูกปลดและทำโทษถ้าปล่อยให้มีการติดโควิดเพิ่มขึ้น ความกดดันจึงไปอยู่ที่ระดับปฎิบัติการอย่างมาก

 

จีนเริ่มใช้ ZCP เมื่อเดือนเมษายน 2563 และยังคงใช้ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ (แม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนไป 86% ของประชากรจีนแล้วก็ตาม) วันที่ 23 ธันวาคม 2564 จีนได้ล็อกดาวน์เมืองซีอาน (Xian) เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์โควิดกระทบต่อการใช้ชีวิตของ 13 ล้านคน การจัดการการแพร่ระบาคโควิดของจีนไม่ว่าจะเจอผู้ติดเชื้อมากหรือน้อย จีนจะใช้ ZCP อย่างเข้มข้น เช่น ในเมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน (Henan) เจอ 150 ราย ทำให้ต้องตรวจทั้งเมือง ในเขตปกครองตนเองเทียนจิน (Tianjin) เจอ 11 รายก็ตรวจทั้งเมือง เมืองยูโจว (Yuzhou) เจอ 3 รายก็โดนล็อกดาวน์

 

“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

 

ขณะนี้โควิดระบาดไป 11 เมืองในจีน เช่น เสิ่นเจิ้น จินหัว หนิงโป ยูโจว และเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น (ที่มา : National Health and Family Planning Commission, China) และเมืองเหล่านั้นก็ล้วนเป็นท่าเรือหลักจีน ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 ท่าเรือต้าเลียน (Dalian) พบเชื้อโอมิครอนทำให้การขนส่งสินค้าช้าขึ้น

 

ผลกระทบจาก ZCP ที่จะเกิดขึ้น คือ 1.การบริโภคลดลง วัดจากมูลค่าค้าปลีกรายเดือนของจีน ปี 2020 ติดลบ 20% หลังจากนั้นการซื้อสินค้าปรับขึ้นไป 30% ในต้นปี 2021 หลังจากนั้นก็ลดลงมาเหลือต่ำกว่า 4.9% เทียบกับก่อนโควิดอัตราการค้าปลีกเฉพาะ 10% ต่อเดือน

 

2.ห่วงโซ่การผลิตเปลี่ยนทิศ ปี 2020 จีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับหนึ่งของโลกสัดส่วน 19% ตามด้วยสหรัฐฯ 10% ตลาดส่งออกหลักของจีนคือ สหรัฐฯ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม เยอรมัน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์ และจีนเป็นผู้นำเข้าอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ สินค้าที่จีนนำเข้าหลักมาจาก เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ ออสเตรเลีย เยอรมัน มาเลเซีย และเวียดนาม

 

“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

 

ห่วงโซ่การผลิตที่จะได้รับผลกระทบหลักคือคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ รถยนต์ และสินค้าเกษตร ผลของ ZCP และโควิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางห่วงโซ่การผลิต เช่น เดิมบริษัทรองเท้าสหรัฐฯ ต้องนำวัตถุดิบจากหลายประเทศ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ ไต้หวัน และเวียดนาม เพื่อไปผลิตที่บังกลาเทศ และส่งกลับไปที่บริษัทแม่ที่สหรัฐ

 

ต่อไปจะเกิดการเปลี่ยนห่วงโซ่ 2 เรื่องคือ “Nearshoring” ที่ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้กับประเทศตนเอง เช่น บริษัทเสื้อผ้า Benetton เดิมผลิตในเอเชีย หันไปตั้งโรงงานในยุโรป (Nearsoring) และ “Reshoring”  ที่บริษัทสหรัฐฯ กลับไปผลิตสินค้าไปยังประเทศของตัวเองมากขึ้น 3.สินค้าขาดแคลน ผลของห่วงโซ่การผลิตสะดุด หลังจากล็อกดาวน์ เมืองซีอานเกิดภาวะขาดแคลนอาหารหนักเพราะร้านค้าและห้างสรรพสินค้าปิด ตลอดจนโรงงานหยุดการผลิต

 

 4.โลจิสติกส์มีปัญหา ทั้งค่าขนส่งแพงที่แพงขึ้นทั้งทางเรือและบก รวมไปถึงการตรวจเข้มมาขึ้นทำให้ใช้เวลาหลายวันในการตรวจปล่อยสินค้า เราอาจจะสงสัยว่าปี 2021 ทั้งปี จีนใช้ ZCP มาตลอดทั้งปี แต่ทำไมอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2021 “สูงสุดในรอบ 10 ปี ที่  8.1%” ทั้งนี้ เพราะการส่งออกโต 30% มูลค่า 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

 

แล้วกระทบผลไม้ไทยอย่างไร ไทยผลิตสินค้าเกษตรปีละ 180 ล้านตัน ร้อยละ 80 เป็นพืชไร่ (ข้าว มันฯ อ้อย สับปะรด และประเภทถั่ว) และ 15% เป็นไม้ผลและยืนต้น  สินค้าเกษตรส่งออกหลักได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ทุเรียน มังคุค เงาะ ลำไย มะม่วง เป็นต้น ส่วนนำเข้าได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  กาแฟ ชา พริกไทย ถั่วเหลือง ถั่วลิสง (ไทยผลิตน้อยกว่าความต้องการ)

 

สินค้าเกษตรไทยและสินค้าอื่นร้อยละ 60 ขายให้กับตลาดหลักอย่าง จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และอาเซียน สำหรับผลไม้ไทย “ร้อยละ 80” ขายในตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน มังคุค และลำไย  ปี 2562 จีนนำเข้าผลไม้จากไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น จีนนำเข้าทุเรียนไทย 6 แสนตัน ตามด้วยมาเลเซีย ลำไย 280,000 ตันตามด้วยเวียดนาม เงาะ 1,600 ตัน ตามด้วยเวียดนาม มะม่วง 8,600 ตัน ตามด้วยไต้หวัน มังคุค 350,000 ตันตามด้วยอินโดนีเซีย ยกเว้น กล้วยและสับปะรดที่จีนนำเข้ามาจากฟิลิปฟินส์

 

“Zero Covid จีน” ศึกหนักส่งออกผลไม้ไทยสู่แดนมังกรปี 65

 

มูลค่าในตลาดจีนปี 2562 เท่ากับ 6.4 หมื่นล้านบาท และในปี 2563 เพิ่มเป็น 9.3 หมื่นล้านบาท (Trade Map) ปี 2654 (ม.ค.-พ.ย.) เท่ากับ 1.5 แสนล้านบาท (ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล 16 ม.ค.2565)  การขนส่งผลไม้ไทยไปจีนร้อยละ 90 เป็นการขนส่งผ่านทางบกบนเส้นทาง R3A และ R12 โดยเส้นทาง R12 เป้าหมายคือมณฑลกว่างสีและมณฑลฝั่งตะวันตกของจีน (ต้องผ่านประเทศเวียดนาม) ซึ่งต้องผ่าน “ด่านหยวนยี้กวน” ในขณะที่เส้นทาง R3A จากด่านเชียงของไปยังด่านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว  เป้าหมายคือตลาดเมืองคุนหมิง มณฑลเสฉวน ธิเบต ซินเจียงและมณฑลใกล้ๆ ผ่าน “ด่านบ่อเต็น”

 

การส่งสินค้าไทยบนเส้นทางรถไฟลาว-จีนยัง “ไม่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ” (สินค้าจีนเข้ามามากกว่าส่งออก เช่น ล้อรถยนต์จีน) นโยบาย ZCP จะทำให้การผ่านด่านข้างต้นจะยากขึ้น เพราะจีนตรวจเข้มมาก สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ 1.เจรจากับจีนเพื่อให้มีการส่งผลไม้ไทยไปมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ที่เปิดอยู่ขณะนี้เป็นโควต้ารวมทั้งไทย ลาว และเวียดนาม 2.จ้างบริษัทประกันจีนเข้ามารับรองการขนส่งเพื่อให้มั่นใจว่า ปลอดโควิดตลอดเส้นทาง 3.สร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อตรวจว่าสินค้ามาจากแหล่งใด ไม่อย่างนั้น ปี 2565 ผลไม้ไทยอาจจะเจอศึกหนักในตลาดจีนแน่ครับ