ส่งออกผลไม้ นับถอยหลัง 60 วัน เจรจาจีนไม่สำเร็จ สูญตลาด 1.5 แสนล้าน

16 ม.ค. 2565 | 06:33 น.

ส่งออก "ผลไม้ไทย" ไปจีน โคม่า “จีน” ตรวจเข้ม Zero Covid ผู้ประกอบการไข้ขึ้น ผวาตลาด 1.5 แสนล้านสูญ ชี้ 60 วัน รัฐแก้ปัญหาไม่ทันได้เห็นทุเรียนราคาต่ำสุดรอบ 20 ปี นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เสนอ “บิ๊กตู่”เจรจาสี จิ้นผิง ซื้อเรือดำน้ำ-โบกี้รถไฟฟ้าแลกเปิดทางด่วนผลไม้ไทย เข้า

ผลกระทบจากนโยบาย “Zero Covid-19” ของจีนในเวลานี้ ทำให้การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนทางบกติดขัดอย่างรุนแรงเกือบทุกด่านบริเวณพรมแดนจีน-ลาว และจีน-เวียดนาม ซึ่งไทยต้องขนส่งผ่านแดนได้แก่ ด่านโมฮ่าน ด่านเหอโขว่ ด่านตงชิง ด่านผิงเสียง และ ด่านโหยวอี้กวน ดั้งนั้นหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันผลไม้ส่งออกในฤดูกาลผลิตปี 2565 จะถึงขึ้นวิกฤติ

สัญชัย ปุรณชัยคีรี

 

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ด่านตงซิง เปิดจริง แต่ไม่ให้ลำไย-ทุเรียนที่เป็นของใหม่เข้า แต่ให้เคลียร์เฉพาะของที่ติดค้างอยู่ในประเทศจีนก็ยังไม่หมด  เพราะมีการควบคุมปริมาณในการนำเข้า และทำงานตามเวลาราชการ เท่าที่เครื่องมือ เครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ และเปิดทดลองแค่ 14 วัน เท่านั้น

 

ส่วนสินค้าที่เน่าเสียก็เน่าไป ประเมินหลังตรุษจีนผลผลิตนอกฤดูกาลทั้งลำไย-ทุเรียนของไทยน่าจะเหลือน้อยแล้ว แต่พอเดือนมีนาคม ผลไม้ภาคตะวันออกจะเริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่ทุเรียนปลายฤดูของภาคตะวันออกจะออกประมาณเดือนพฤษภาคม จะชนกับทุเรียนภาคใต้

 

เปิดตลาดส่งออกผลไม้ 5 อันดับแรก ของไทย

 

“ตอนนี้ปัญหาไม่ใช่เรื่องผลผลิตผลไม้จะออกมากหรือน้อย แต่ปัญหาคือ เราไม่สามารถพังประตูโควิดเข้าจีนได้ ถ้าพังไม่ได้ทุกอย่างจะอยู่ในประเทศไทย แต่ถ้าโชคดีเราเปิดประตูจีนได้ก่อนปลายเดือนมีนาคม หรือก่อนเดือนเมษายน  โดยวิธีการเดียวก็คือต้องเจรจากับจีน ซึ่งเอวาดอร์ก็เคยเจอปัญหามีเชื้อโควิดปนเปื้อนในแพ็กเกจจิ้งสินค้า พอเกิดปัญหานายกรัฐมนตรีเขาก็เดินทางไปเจรจากับจีนทันที ก็สามารถแก้ปัญหาได้”

 

นายสัญชัย กล่าววว่า วันนี้จะแก้ปัญหาในเชิงรุก จะต้องไปถามรัฐบาลจีนว่า จะให้ทำอะไรบ้าง วันนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรให้จีนจะสามารถให้เราเข้าไปได้ ดังนั้นต้องมีหลักการ วิธีการทำงาน และวิธีปฏิบัติอย่างไร วันนี้ภาครัฐยังไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ดังนั้นต้องเร่งวางแผนแก้ปัญหาได้แล้ว หรือจะประชุมร่วมกับจีน ว่าจะมีมาตรการอะไรแลกเปลี่ยนกัน เพราะหากไม่เร่งลงมือทำก็จะไม่ทันแล้ว เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 60 วัน ที่ผลไม้ภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาด ซึ่งวันนี้ไม่ใช่ไทยเดือดร้อนประเทศเดียว ลาว เวียดนาม ก็เดือดร้อนหมด

ทุเรียน

 

“หากคิดคำนวณทุเรียนวันละ 7-10 ล้านกิโลกรัม จะเอาไปไหน เพราะทุเรียนเป็นผลไม้สด วงจรหลังจากตัดแล้วก็ต้องขายภายใน 10 วัน หรือต้องแปรรูป ไม่เช่นนั้นก็จะเน่าเสีย ปีนี้อาจจะได้เห็นราคาทุเรียนต่ำสุดในรอบ 20 ปี หากการส่งออกไปจีนสะดุด ดังนั้นระบบการจัดการจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ทางจีนยอมรับ หรือจีนจะมีมาตรการให้ผู้ประกอบการไทยทำอย่างไรแล้วจีนถึงยอมรับได้ ส่วนนี้ต้องเร่งเจรจาเร็วที่สุด

 

 

ฉัตรกมล  มุ่งพยาบาล

 

ด้านนายฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย กล่าวว่า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นสงครามการค้าไปแล้ว แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปเจรจา "ซื้อเรือดำน้ำจีน" อีกสัก 2 ลำ หรือไป "ซื้อโบกี้รถไฟฟ้า" ลงทุนประมาณแสนล้านบาท ซึ่งเป็นการค้าต่างตอบแทน เชื่อว่าทุเรียนที่ตกค้างอยู่ และที่จะออกมาในฤดูการผลิตไม่กี่เดือนนี้ จะแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

 

"เพียงแค่สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนทุบโต๊ะเท่านั้น เพราะวิน-วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะคล้ายกับเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เคยมีปัญหาเรื่องด่าน ตู้สินค้าไทยตกค้างอยู่ชายแดนจีนกว่าพันตู้ ซึ่งความจริงถ้าเคลื่อนย้ายปกติใช้เวลาหลายวัน แต่พอเจรจาสำเร็จก็สามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใน 2 วันท่านั้น ซึ่งก็เป็นหลักการเดียวกันที่สามารถใช้ในการแก้ปัญหาได้"

ภาณุวัชร ไหมแก้ว

 

นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) กล่าวว่า ต้องให้รัฐบาลไปเจรจากับรัฐบาลจีน เพราะไม่เช่นนั้นผลไม้ภาคตะวันออกจะออกอีกประมาณเดือนเศษจะทำอย่างไร จะปิด หรือจะเปิดอย่างไรต้องบอกให้ชัดเจน จะได้หาทางออก ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเลย วันนี้เรื่องเกิดขึ้นตลาดผลไม้ไทยในจีนซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1.5 แสนล้านบาท (ตัวเลข 11 เดือนแรกปี 2564) กำลังจะเสียหายรัฐบาลจะต้องเร่งไปเจรจาเพื่อ ปกป้องตลาด นายกรัฐมนตรีต้องไปแล้ว

 

มังคุด

 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตทุเรียน,มังคุด, เงาะ และ ลองกองภาคตะวันออกในปี 2565 จะมีผลผลิต 712,078 ตัน, 193,389 ตัน, 206,612 ตัน 18,314 ตัน ตามลำดับ จากปี 2564 มีผลผลิต 575,542 ตัน, 106,796 ตัน, 197,708 ตัน 20,080 ตันตามดับ

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,749 วันที่ 16-19 มกราคม 2564