อย่าตื่น! เงินกีบถูก แห่‘เที่ยวลาว’ คิดเงินทัวริสต์เป็น ‘บาท-ดอลลาร์’

17 มิ.ย. 2565 | 05:32 น.

รองประธานหอการค้าไทยภาคอีสานรับเงินกีบอ่อนค่าหนัก คนแห่เก็บเงินบาทจนเกลี้ยงตลาด เตือนตื่นเที่ยวลาวหวังพัก กิน ช็อป ในราคาถูกลงกว่าครึ่ง ตรวจสอบราคาสินค้าและบริการให้ดี ส่วนใหญ่คิดเป็นเงินดอลลาร์หรือบาทสำหรับทัวริสต์ต่างชาติ

แตกตื่นโลกออนไลน์เมื่อมีการแชร์ข้อมูลว่า เงินกีบลาวอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากระดับ 100 บาทแลกได้ 30,000 กีบเมื่อต้นปีที่ผ่านมา อ่อนค่าลงเป็น 50,000 กว่ากีบเวลานี้ หรืออ่อนค่าลงกว่า 70% ที่สำคัญหาแลกเงินบาทไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านแลกเปลี่ยนเงิน หรือเคาน์เตอร์ธนาคารพาณิชย์ จนหวั่นกระทบการค้า การลงทุน ตลอดจนการท่องเที่ยวที่เริ่มเปิดให้คนสัญจรผ่านแดน
     

ขณะเดียวกัน เงินกีบที่อ่อนค่าทำให้ดูเหมือนว่า ราคาสินค้าและบริการในสปป.ลาว แม้จะเท่าเดิมในราคาเงินกีบ แต่จะถูกลงสำหรับนักท่องเที่ยว เมื่อสามารถแลกเป็นเงินกีบได้เพิ่มขึ้นจากค่าเงินที่อ่อนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวไทย ที่มีพรมแดนติดต่อกับสปป.ลาวยาวเหยียด มีด่านถาวรและสะพานมิตรภาพข้ามนํ้าโขงเชื่อมโยงกันหลายแห่ง จะสามารถข้ามไปเที่ยวเพื่อเดินทาง กิน ดื่ม ในราคาถูกลงมากกว่าครึ่ง
    

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน) และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย (ภาคอีสาน) และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย หอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวเงินกีบลาวอ่อนค่าลงมากผิดปกติมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว จากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการ 100 บาทไทย แลกเงินกีบได้ 41,766 กีบลาว แต่ไปแลกตามร้านรับแลกเปลี่ยนเอกชน เงิน 100 บาท ไทย สามารถแลกได้ 51,000 ถึง 52,000 กีบลาว

 

ทั้งนี้ จากการสอบถาม ผู้ประกอบการในสปป.ลาวบอกว่า เวลานี้พ่อค้า แม่ค้า ทั้งรายใหญ่รายย่อย รวมทั้งประชาชน มีความต้องการถือครองเงินสกุลเงินบาทไทยมาก ถึงขั้นที่เรียกว่าขาดแคลนเงินบาทไทยภายในประเทศเลยทีเดียว สาเหตุหลักเกิดจากผลกระทบวิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อโควิค-19 ในระยะ 2 ปีเศษ ที่หลายประเทศปิดล็อคประเทศ ไม่ให้มีการเข้า-ออกเพื่อควบคุมโรค ทำให้ภาคเศรษฐกิจภายในเกิดความเสียหายมากเกือบทุกประเทศ รวมถึงในประเทศไทยด้วย

อย่าตื่น! เงินกีบถูก แห่‘เที่ยวลาว’ คิดเงินทัวริสต์เป็น ‘บาท-ดอลลาร์’

ในฐานะของประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันพูดภาษาที่เข้าใจกันได้ โดยไม่ต้องมีล่ามแปล ก็จะต้องมานั่งพูดคุย ปรึกษาหารือหาทางออกร่วมกัน ว่าจะออกไปทางไหน โดยผลกระทบนี้เกิดขึ้นทุกประเทศ รวมถึงในอาเซียนและจะลากยาวไปอีกระยะหนึ่ง ยิ่งเกิดเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังไม่ยุติ เชื่อว่าความผันผวนเศรษฐกิจและการค้าโลก จะยังอยู่อีกยาว

 

ในส่วนการท่องเที่ยวของไทย ที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวกับขบวนรถไฟไปภาคเหนือของลาว ก็ยังต้องคิดทบทวนการใช้จ่ายประจำวัน ค่าที่พัก ค่าอาหาร สำหรับนักท่องเที่ยว ในประเทศลาวผู้ประกอบการจะกำหนดราคาเป็นเงินดอลลาร์ หากจะจ่ายเป็นเงินบาทก็คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนกับดอลลาร์ในตอนนั้นๆ ส่วนที่เห็นรถป้ายทะเบียนของสปป.ลาว มาจอดตามห้างสรรพสินค้าในอุดรธานีนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะ หรือเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในสปป.ลาว ที่ข้ามมาจับจ่ายซื้อสินค้าจากฝั่งไทย

 

ขณะที่แหล่งข่าวแวดวงค้าชายแดน เผยว่า หลังจากทางการสปป.ลาว ผ่อนคลายมาตรการ เปิดให้เดินทางสัญจรเข้าออกประเทศได้อีกครั้ง ตั้งแต่ 9 มิ.ย.2565 ค่าของเงินกีบลาวก็ตกลงเรื่อย จนมาอยู่ที่ระดับ 1 บาทไทย เท่ากับ 510-520 กีบลาว (14 มิ.ย. 2565) แต่อัตราอย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ 100 บาทเท่ากับ 41,000 กีบเศษๆ

 

ทั้งนี้ เนื่องจากภายในประเทศเกิดการขาดแคลนเงินบาท และมีความต้องการถือครองเงินบาท เพื่อที่จะได้ทำการค้ากับประเทศไทย เนื่องจากในประเทศลาว ยังมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยอยู่มาก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีสินค้าที่ผลิตจากประเทศจีน หลั่งไหลเข้ามาในประเทศลาวมากขึ้นก็ตาม แต่ส่วนมากจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องใช้ ของเล่นไฟฟ้า

 

สถานการณ์กีบอ่อนค่านี้ เชื่อว่าจะส่งกระตุ้นให้นักเดินทางท่องเที่ยวไทยตื่นตัว วาง แผนจะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศลาวกันมากขึ้น

 

ทั้งนี้ต้องตรวจสอบให้ถี่ถ้วนว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในลาว กำหนดราคาเป็นสกุลเงินใด เพราะผู้ประกอบการลาวหลายแห่งกำหนดค่าสินค้าและบริการเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วจึงคำนวณกลับเป็นราคาเงินบาทหากต้องการจ่ายเป็นเงินบาทไทย หรือเงินกีบลาว ทำให้ราคาสินค้าชิ้นนั้นๆ ผันแปรไปตามค่าเงินแต่ละวัน อาทิเช่น เคยรับประทานเฝอ (ก๋วยเตี๋ยว) เคยจ่ายชามละประมาณ 70 บาทไทย วันนี้ราคาอาจปรับขึ้นเป็นชามละ 120 บาท ราคาที่พักรีสอร์ทคืนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ มาเป็นเงินบาทไทย ในเวลานั้น เช่น 1 ดอลลาร์ ต่อ 33 บาทเศษ เป็นต้น

 

ขณะที่สถานการณ์การค้าชายแดนด้านจังหวัดหนองคาย เดือนเม.ย. 2565 มีมูลค่าการค้าทั้งสิ้น 6,637.57 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (มี.ค. 2565) 1,416.42 ล้านบาท หรือ -17.59 % โดยไทยได้ดุลการค้า 2,812.21 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ คือ นํ้ามันปิโตรเลียม ผลไม้สด รถยนต์และยานยนต์ เครื่องโทรศัพท์ฯ ส่วนสินค้านำเข้าหลัก คือ พลังงานไฟฟ้า ปุ๋ยเคมี ลวดเคเบิ้ลฯ เป็นต้น