หวั่นลาวลดค่ากีบ“คลังยันดีขึ้นแล้ว”

19 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

 เอกชน-หน่วยงานรัฐจับตาสปป.ลาวใกล้ชิด ทุกอย่างยังเป็นไปตามสัญญาเหมือนเดิม คลังรับมีปัญหาช่วงก.ย.-ต.ค. 2563 ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ทุนโรงไฟฟ้าไทยเริ่มชะลอลงทุน พ่อค้าชายแดนหวั่นลาว“ลดค่ากีบ” เกรงซํ้ารอย“ต้มยำกุ้ง”

สปป.ลาวเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย กระทั่งมีหนังสือชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้าแก่ผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าไทยในลาวนั้น แหล่งข่าวจากบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีโรงไฟฟ้าพลังนํ้า 2 แห่งที่สปป.ลาวมีกำลังการผลิต 15 และ 20 เมกกะวัตต์ ปัจจุบันยังมีการชำระค่าไฟให้บริษัทตามปกติ ยังไม่กระทบต่อกระแสเงินสด หรือการชำระคืนหนี้สินของบริษัทแต่อย่างใด ทางสปป.ลาว ยังจ่ายตามระยะเวลา หรือเครดิตเทอมที่ได้ทำสัญญากันเอาไว้

 ขณะที่บริษัทเองยังชำระหนี้เงินกู้คืนได้ตามปกติ รวมถึงยังคงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยมองว่าประเด็นที่สำคัญอาจจะอยู่ที่โครงการขนาดใหญ่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ

 ส่วนอีก 2 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกะวัตต์ และ 68 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้น ก็ไม่ได้กระทบต่อสัญญาในการก่อสร้างแต่อย่างใด โดยที่สัญญาเองก็มีความยืดหยุ่นสำหรับการพิจารณาสถานะของ สปป.ลาว ระบุไว้ด้วย

ด้านแหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตไฟฟ้า เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าในหลายโครงการเริ่มชะลอการพัฒนา เพราะไม่มีความมั่นใจในสถานะทางการเงินของสปป.ลาว ในการจ่ายค่าผลิตไฟฟ้า อีกทั้งมีการส่งหนังสือให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า ที่จะต่อรองในการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าใหม่ โดยจะกดราคาค่าไฟฟ้าลงมาให้ตํ่าเหลือเพียงราว 2-3 เซนต์ต่อหน่วย จากที่เคยได้รับ 5-7 เซนต์ต่อหน่วย แต่ผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ

 ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่สบน.เป็นห่วงเกี่ยวกับสถานะเงินสำรองทางการระหว่างประเทศ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ลดลง คือ ความสามารถในการชำระหนี้ในพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทย (บาทบอนด์) แต่เท่าที่ติดตามฝ่ายลาวยังมีการชำระหนี้ปกติ ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด

 สำหรับการออกบาทบอนด์ของลาวจะมีวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยเป็นการออกของบริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (EDL-Gen) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังแห่งประเทศลาว (MOFL) อีก 30,000 ล้านบาท ซึ่งสลน.ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น จากระดับทุนสำรองที่เคยตํ่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีก่อน ขณะนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

 “ช่วงที่สปป.ลาวมีปัญหาน่าจะช่วงกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเราเป็นห่วงเรื่องการชำระหนี้ จึงได้ติดตามดูอย่างใกล้ชิด ก็เห็นว่าปกติดีซึ่งขณะนี้สถานการ์ต่างๆ เขาก็ดีขึ้นแล้ว ส่วนความต้องการใช้เงินบาทก็เป็นเรื่องปกติตามการค้าขายตามแนวชายแดน ที่เขาเองก็ต้องการเงินบาทอยู่แล้ว” นางแพตริเซียกล่าว

ขณะที่พ่อค้าชายแดนที่ทำการค้ากับสปป.ลาว เผยว่า ปัญหาสถานะเงินคงคลังของสปป.ลาวนั้น มีกระแสข่าวแพร่หลายในวงการธุรกิจต่าง ๆ มาได้ประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ประกอบกับในสปป.ลาว กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจ มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามมติของที่ประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ลาว ในการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางพรรค คณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) เมื่อกลางเดือนมกราคม 2564 (2021) ที่ผ่านมา จึงอาจจะเป็นข่าวขึ้นมา

 แหล่งข่าวคนดังกล่าวเปิดเผยอีกว่า น่าเป็นห่วงว่า หากรัฐบาลลาวเกิดการชะงักการชำระหนี้ในโครงการไฟฟ้ากับไทย ก็เกรงว่าจะเป็นกรณีลุกลามมีผลต่อเนื่องไปถึงธุรกิจการค้า การส่งออก-นำเข้าสินค้า ตลอดจนการลงทุนต่างๆ ของไทยในสปป.ลาวได้ โดยเฉพาะกรณีการลดค่าเงินกีบลง เกรงว่าจะเกิดวิกฤติเหมือนกับเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ของไทยที่จะส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างๆ เป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะของนักลงทุนไทยที่อยู่ในประเทศสปป.ลาว อยู่ในขณะนี้

ที่มา : หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,654 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564