“รองนายกฯ สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รับข้อเสนอ-ข้อแนะนำเวที เสวนา Better Thailand ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อ
วันที่ 20 พ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 17.00 น. เป็นเวทีสุดท้ายของเวที "เสวนา Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" ซึ่งจัดโดย สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าเศรษฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย
โดยเป็นช่วงของการสรุปการเสวนาตลอดสองวันเต็มคือ วันที่ 19-20 พ.ค. 65 ซึ่ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นผู้ดำเนินการเสวนาเวทีนี้ด้วยตัวเอง โดยเชิญผู้ดำเนินการเสวนาทั้งสองวันมาเป็นผู้สะท้อนมุมมองจากวิทยากรที่ขึ้นเวทีของแต่ละช่วง
เริ่มจาก นายปิยะชาติ อิศรภักดี CEO BRANDI กล่าวสะท้อนว่า สิ่งที่ได้จากการดำเนินการเสวนาคือได้เห็นว่าหลังจากนี้เศรษฐกิจโลกและไทยจะเป็นอย่างไร ทำให้เห็นว่าไม่มีพรหมแดน เศรษฐกิจจะหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน วิกฤติโลกจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจไทย และผลกระทบของเศรษฐกิจไทยอาจจะเป็นของเศรษฐกิจโลก
ซึ่งการมองเศรษฐกิจต้องมอง 360 องศา มองด้านเดียวไมได้ มีคำถามว่ารัฐบาลทำดีแล้วหรอ แต่ต้องถามกลับว่าเราเข้าใจว่าบริบทหรือไม่ เพราะเมื่อเกิดโควิด ป่วย เข้าไอซียูหมด โจทย์คือต้องออกจากไอซียูให้ได้ก่อน ทำให้ค้นพบว่าจริงๆเราตั้งคำถามว่ามีไหมทิศทางของประเทศ จบลงที่ว่าเราไม่ได้อ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเลย แล้วเราจึงตีความว่าไม่มี แต่ตอนนี้โคม่าอยู่ช่วยทำให้ตัวเองปกติเสียก่อน
ดังนั้นนโยบายทางด้านการคลังที่บอกว่าต้องทุบกระปุก เพราะโคม่าทั้งการเงินการคลัง การท่องเที่ยว หลายเหตุการณ์ใกล้ปกติ มีนักท่องเที่ยวกลับมา ขายของได้แล้ว แต่ต้องถามตัวเองว่าเราเข้าใจบริบทหรือไม่ ออกมาจากโคม่า
ขณะที่ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าข้อมูลเสวนาครั้งนี้ อาจจะไปไม่ถึงบางกลุ่ม คนไม่ชอบกันมีงานอะไรก็ไม่สนใจ แต่ต้องย้ำว่าเวทีนี้ไม่ใช่เวทีของรัฐ เกิดจากหลายสมาคม และหน่วยงานอื่นๆ ท่านที่นั่งเวทีเป็นแขกรับเชิญ โดยส่วนตัวจากการทำหน้าที่ดำเนินการเสวนา มี4 ส. ที่สรุปได้
- “สาน” ทุกท่านพูดเรื่องของการ สาน ที่รัฐบาลสานกันดี ที่แต่ละกระทรวงก็ขอบคุณกันและกัน ไม่มีกำแพงระหว่างกัน คำว่าสานค่อนข้างชัด
- “สารสนเทศ” มีหลายท่านพูดเรื่องสารสนเทศ หรือ DATA กันเยอะ ทำให้เห็นว่าฐานข้อมูลเป็นส่วนสำคัญ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ใช่การให้เงิน แต่เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่
- “สุข” ไม่ใช่แค่สุขภาพ แต่มันคือความสุข เรามีมุมมองที่สร้างสุขให้มากขึ้น
- “สื่อสาร” แต่เสนอให้ช่วยรัฐบาลสื่อสารกันหน่อย ไม่มากก็น้อยจะได้สร้างสุขให้มากขึ้น
ส่วน ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรมว.พลังงาน กล่าวว่า น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีมุมมองการพูดคุยครบถ้วน ได้เห็นมุมมองการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เห็นการทำงานและเห็นอนาคตของประเทศ ซึ่งมีข้อสรุป ดังนี้ ได้เห็นความ Active และความจริงใจจริงจัง ได้เห็นนโยบาย BCG และ C คำว่า Co Creation ได้เห็นการมองซ้ายมองขวา การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมทำคนเดียวไม่ได้จริง
และสุดท้ายเป็น Very good complete content อยากให้ช่วยกันดู ลองมองซ้ายมองขวา เปิดหู เปิดปากสื่อสารต่อ
และปิดท้ายด้วยนายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า ฟีดแบกที่ได้จากเวทีนี้จะนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ จะนำข้อแนะนำไปประสานร่วมกัน นำข้อเสนอไปทำ ขอบคุณ 3 สมาคม และกกร. จัดเสวนาครั้งนี้เป็นประโยชน์ที่ภาครัฐได้เปิดใจ
เราจะเดินหน้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการ อย่างมีคุณภาพ ในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องยืดหยุ่น ต้องร่วมคุยกันระหว่างรัฐกับเอกชน ต้องมีวิสัยทัศน์เดียวกัน มีความรู้สึกร่วมกัน เพราะบางครั้งรัฐบาลต้องผลักดันให้ความตั้งใจของเอกชนประสบความสำเร็จ