SMEsภูเก็ตบุกยื่นหนังสือ"สมศักดิ์" จี้รัฐต่อลมให้กลับมาเปิดกิจการใหม่  

19 พ.ค. 2565 | 07:14 น.

    รัฐมนตรียุติธรรมเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และยุติธรรมพบประชาชนที่ภูเก็ต  เชิญลูกหนี้ 2,810 รายร่วมงาน รวมทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยกว่า 200 ล้านบาท กลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ตบุกยื่นหนังสือ ขอพักหนี้ ลดดอก ซอฟท์โล ปรับโครงสร้างหนี้ ให้กลับมาเปิดธุรกิจใหม่

วันที่ 18 พ.ค. 2565 เมื่อเวลา 15.00 น. นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  พร้อมด้วย นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ  หน่วยงานภาครัฐ  เอกชน  และประชาชนจังหวัดภูเก็ต  ร่วมต้อนรับนายสมศักดิ์  เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 

 

โดยมีนายสุทา ประทีป ณ ถลาง นายนัทธี ถิ่นสาคู ส.ส.ภูเก็ต นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  และคณะ ร่วมงาน  ในโอกาสเดินทางมาเปิดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 10 จังหวัดภูเก็ต  และยุติธรรมพบประชาชน  ณ  White House โบ๊ท ลากูน รีสอร์ท ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

นายสมศักดิ์  เทพสุทิน  กล่าวว่า  รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน  รวมทั้งได้กำหนดประเด็นต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา อาทิ การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์  การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล  การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เป็นต้น

 

ในการนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี  กระทรวงยุติธรรม  ได้บูรณาการร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  และสถาบันการเงิน  จัดกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนทั่วประเทศขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี  ได้อนุมัติงบกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนในพื้นที่ 4 ภูมิภาค  ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ 

ด้านนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 10 จังหวัดภูเก็ต และยุติธรรมพบประชาชน  ได้รับความร่วมมือจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงินอีก 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ , ธนาคารกสิกรไทย, บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ท จำกัด(มหาชน) , บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด, บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) รวมทั้งได้เชิญลูกหนี้ เข้าร่วมงานทั้งสิ้น จำนวน 2,810 ราย ราคาทุนทรัพย์จำนวน 223,728,892.53  บาท 

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการมอบเงินเยียวยาแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 2 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 186,702 บาท และมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน จำนวน 5 ศูนย์  ที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติ

 

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เพื่อช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ได้เแก่ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต(วัดควน) ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต(สามกอง), ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต, ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ตและ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต

 

และภายในงานได้จัดบูธกิจกรรมให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจังหวัดพัทลุง และธนาคารแห่งประเทศไทย มาให้ความรู้ด้านการเงินแก่ผู้ร่วมงานด้วย

 

ทั้งนี้ ขณะที่รัฐมนตรียุติธรรมเดินชมบูธ ในงาน  นายวงศกร ชนะกิจ ประธานกลุ่มขับเคลื่อนภูเก็ต เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ได้ยื่นหนังสือ ต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อทราบปัญหาในภาพรวมของผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต และขอความช่วยเหลือออกนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธุรกิจ เพื่อให้กระทรวงยุติธรรมออกมาตรการช่วยเหลือ ในระยะเร่งด่วน อีกด้วย 

 

ในหนังสือร้องเรียน ระบุภาพรวมปัญหา ของผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง ภาคธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต ว่าเผชิญปัญหาจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต ทำให้รายได้ธุรกิจลดลง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของจังหวัดภูเก็ตลดลงมาก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ได้แก่

 

   - ภัยโรคระบาดไวรัสโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวจีน จัดเป็นกลุ่มลูกค้าหลักอันดับ 1 ของพื้นที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันจีนยังคงนโยบาย Zero Covid ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้


    - ภัยสงครามรัสเซีย – ยูเครน  นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย จัดเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 2 ของพื้นที่ จ.ภูเก็ต ปัจจุบันเกิดภาวะสงคราม ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้


    -ฤดูกาลท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต  เวลานี้เข้าสู่ช่วง Low Season (เดือน เม.ย. - ต.ค. ของทุกปี) นักท่องเที่ยวชาวยุโรปและสแกนดิเนเวียไม่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต ในช่วงดังกล่าว


    • ต้นทุนบริการเพิ่มขึ้น ​ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วต่อเนื่อง  กระทบต่อต้นทุนสินค้าทุกภาคส่วน ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารธุรกิจโดยตรง

 

     ขณะที่ยังผชิญปัญหาจากปัจจัยภายใน กระทบธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมใน จ.ภูเก็ต คือ  ต้นทุนและภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันนโยบายการช่วยเหลือผ่อนปรนเงื่อนไขชำระหนี้กับทางสถาบันการเงินครบกำหนด ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก - กลาง ไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือ  สถาบันการเงินเริ่มกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่างวดชำระหนี้ตามเงื่อนไขปกติ 

 

ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงตามเงื่อนไข เนื่องจากรายได้ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขสถิติของธนาคารเริ่มมีอัตราลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้และชำระหนี้ล่าช้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากภายใน 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะเป็นหนี้มีปัญหา NPL กับสถาบันการเงิน และคงนำไปสู่ปัญหาการยึดทรัพย์ขาดทอดตลาดในอนาคตอันใกล้

 

ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐ เนื่องจาก ช่วงโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจำนวนมาก ภาครัฐจึงมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม โดยรณรงค์ส่งเสริมให้คนในประเทศช่วยกันเดินทางไปท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น ผ่านหลายโครงการ เช่น ไทยเที่ยวไทย เป็นนโยบายจากภาครัฐที่มีส่วนช่วยกระตุ้นและเพิ่มกำลังซื้อให้ภาคประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมเริ่มมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ แต่ด้วยช่องโหว่จากเงื่อนไขการใช้สิทธิบางประการ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมประสบปัญหา ได้แก่
    

      - ปัญหาคดีความกับภาครัฐ  นโยบายที่เกิดจากเจตนาดี กลับมีช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต โดยประชาชนบางกลุ่มฉวยโอกาสนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ร่วมกับทางผู้ประกอบการบางรายที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และบางรายที่กระทำด้วยความจำเป็น เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน

          ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมใน จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะขนาดเล็ก - กลาง มากกว่า 100 ราย อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและดำเนินคดีจากทางภาครัฐ ซึ่งทำให้สถานประกอบการต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ตามปกติ โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่รู้ชะตากรรมในอนาคต ว่าจะสามารถกลับมาเปิดดำเนินกิจการได้อีกครั้งเมื่อไหร่

 

โดยหนังสือร้องเรียนขอให้กระทรวงยุติธรรม ออกนโยบายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการช่วยเหลือระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย

        - ขอพักชำระหนี้เงินต้นทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน ระยะเวลา 12 เดือน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้รายเดือนให้กับผู้ประกอบการ ในช่วงที่ภาวะการณ์ท่องเที่ยวจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ

          -ขอลดอัตราดอกเบี้ยทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน โดยขอให้ปรับลดการคิดอัตราดอกเบี้ยทุกวงเงินสินเชื่อ คงเหลือ 2% ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน เพื่อเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ
    - ขอยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ทุกวงเงินสินเชื่อที่มีกับสถาบันการเงิน สำหรับลูกหนี้ที่ประวัติดี ผ่อนชำระหนี้ตามเงื่อนไขปกติมาโดยตลอด แต่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนเม.ย.2565 เป็นต้นมา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการเริ่มมีรายได้ลดลง เพื่อเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงิน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกหนี้ชั้นดี
    - ขอสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ Soft Loan อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี (โดยขอให้ปลอดการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย 12 เดือน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอรองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ในการประคับประคองธุรกิจให้ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน เช่น เงินเดือนพนักงาน , ค่าเช่า , ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
    -ขอให้ภาครัฐเร่งออกนโยบายช่วยเหลือ ควบคุมต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งสินค้า ให้กับผู้ประกอบการ SME เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการมิให้แบกรับต้นทุนค่าสินค้า และค่าบริการที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการบริหารธุรกิจ ในช่วงที่ภาวะการณ์ท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
    -ขอให้หน่วยงานภาครัฐเร่งจัดตั้งกองทุนพิเศษ สำหรับเตรียมเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเฉพาะราย ที่ไม่มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยกองทุนสามารถเข้าไปรับซื้อสถานประกอบการ/ร่วมลงทุน(ซื้อหุ้น) และกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการรายเดิมสามารถซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นคืนจากกองทุนได้ ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นการช่วยป้องกันกลุ่มนักลงทุน ที่จ้องฉวยโอกาสเจรจาต่อรองราคา และเข้าซื้อสถานประกอบการในมูลค่าต่ำกว่าราคาตลาด จากผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหา

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้ประกอบการที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองในภูมิภาคอันดามัน เห็นว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ ที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อผลกระทบของ Covid -19

 

ปัญหาที่จะตามมาก็คือ การขาดสภาพคล่อง และเครดิตทางการเงินที่มีต่อสถาบันทางการเงินลดลง ดังนั้นการปรับตัวทางธุรกิจ (transform business) จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะให้ผู้ประกอบการและองค์กรอยู่รอด หนึ่งในนั้นคือการขับเคลื่อน Andaman Wellness Corridor -AWC หรือระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน ที่จะสามารถยกระดับโรงแรมที่พักต่าง ๆ ให้หลุดพ้นจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการแบบที่ผ่านมา

 

ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเป็นเค้กก้อนใหญ่ ที่เราสามารถชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ด้วยศักยภาพการบริการ และจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีจุดหมายมายังประเทศไทย และเชื่อเหลือเกินว่า Wellness Tourism จะเป็นสินค้าตัวใหม่ ให้ผู้ประกอบการได้พบทางรอดที่แท้จริง ทั้งนี้ จะต้องอาศัยการผลักดันด้านนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐในทุก ๆ มิติ และที่ขาดไม่ได้คือสถาบันทางการเงิน จำเป็นต้องช่วยเหลือให้ภาคธุรกิจได้ต่อลมหายใจ เพื่อการพัฒนาสินค้าและบริการรองรับตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

 

ซึ่งสุดท้ายแล้วมูลค่าที่จะเกิดขึ้น จะเป็นตัวนำพาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นไปได้

 

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี.เกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว อาทิ  รถ เรือ ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็กและกลาง ต้องได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือโดยด่วน โดยตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในจังหวัดภูเก็ตและอันดามัน โดยการให้หน่วยงานกลางมาช่วยกันขับเคลี่อนด้วย เป็นการนำเสนอที่ทำงานได้จริง และมีอำนาจเฉพาะในเรื่องนี้