จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลืองหวังลดการขาดแคลนวัตถุดิบภายในปท.

20 มี.ค. 2565 | 11:03 น.

ส.อาหารสัตว์จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลือง หวังลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบภายในประเทศ ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบอย่างหลีกไม่ได้

ราคาอาหารสัตว์ที่จ่อปรับขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างข้าวสาลี ข้าวโพดต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเริ่มมีราคาสูงขึ้นจาก สงครามรัสเซีย -ยูเครน  ประกอบกับภาครัฐเองยังมีการอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง ส่งผลให้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศเริ่มขาดแคลน ดังนั้นสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย จึงรัฐบาลทบทวนนโยบายส่งออกวัตถุดิบสองชนิดนี้ บรรเทาปัญหาขาดแคลนภายในประเทศ
 

จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลืองหวังลดการขาดแคลนวัตถุดิบภายในปท.

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ส่งจดหมายด่วนที่สุดถึง อธิบดีกรมการค้าภายใน และ สำเนาถึง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาทบทวนนโยบายส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลืองไปยังต่างประเทศ
 

   นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย
 

เพราะไทยนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 95 และยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาเสริมส่วนที่ขาดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกจำนวนมากแต่ภาครัฐยังคงนโยบายอนุญาตให้ส่งออกข้าวโพดได้อย่างเสรี และส่งออกกากถั่วเหลืองได้ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ทั้งที่ผลผลิตเหล่านี้ขาดแคลน

ขณะเดียวกันการอนุญาตให้ส่งออกกากถั่วเหลือง ขัดแย้งกับข้อตกลงที่ร้องขอให้โรงงานอาหารสัตว์ทำสัญญารับซื้อกากถั่วเหลืองภายในประเทศก่อน สมาคมฯ จึงมองว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ซึ่งเมื่อตรวจสอบตัวเลขปริมาณการส่งออกวัตถุดิบทั้ง 2 รายการ จากกรมศุลกากรพบว่าในปี 2564 มีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 93,615 ตัน เฉพาะช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ส่งออกรวมกันถึง 65,930 ตัน และในส่วนของกากถั่วเหลืองตลอดปี 2564 มีการส่งออกถึง 103,091 ตัน
 

จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลืองหวังลดการขาดแคลนวัตถุดิบภายในปท.
 

“หากยังคงนโยบายนี้อยู่ จะส่งผลต่อราคาขายภายในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างปกติ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองจะยิ่งแพงขึ้นไปอีกจึงขอให้ภาครัฐพิจารณาระงับการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์วิกฤตจะคลี่คลายลง”
 

จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลืองหวังลดการขาดแคลนวัตถุดิบภายในปท.
 

และแม้มติประชุมคณะแนวทางแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม เห็นชอบในหลักการให้ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมแต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ผู้ประกอบการจะหาวัตถุดิบนำเข้ามาได้ เพราะปัญหาสงครามทำให้ผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น ฮังการี อียิปต์ อินโดนีเซีย อาเจนติน่า ประกาศนโยบายห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ
 

จี้รัฐทบทวนส่งออกข้าวโพด-กากถั่วเหลืองหวังลดการขาดแคลนวัตถุดิบภายในปท.
 

นอกจากนี้เคยมีการร้องเรียนให้ภาครัฐ ตรวจสต็อกวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ผู้ค้าคนกลาง เพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์ไม่สามารถจัดซื้อวัตถุดิบได้ แต่ภาครัฐกลับตรวจสต็อกของโรงงานเสียเอง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ เพราะตามระเบียบต้องแจ้งให้กรมการค้าภายในทุกๆ 10 วันอยู่แล้ว จึงเป็นการบรรเทาปัญหาที่ไม่ถูกจุด