วอนหยุดตรึงราคาสินค้า ปล่อยตามกลไกตลาด ช่วย SME-เกษตรกรไปรอด

16 มี.ค. 2565 | 07:40 น.

เพ็ญภัสสร์ วิจารณ์ทัศน์ นักวิชาการด้านเกษตรปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง “หยุดตรึงราคาสินค้า ปัจจัยฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ” โดยสะท้อนมุมมองแก่ภาครัฐเพื่อให้ทุกภาคส่วนไปรอดช่วงสถานการณ์วิกฤต มีใจความสำคัญดังนี้

 

สงครามยูเครนและสถานการณ์แวดล้อมหลายด้านกระทบให้ราคาสินค้าขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่ม 18 สินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ตรึงราคาเพื่อผู้บริโภค นั่นเป็นเพราะปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ล้วนมีราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันปาล์มที่ใช้ในการทอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และน้ำมันปาล์มที่บรรจุอยู่ในซองบะหมี่สำเร็จรูป มีราคาเพิ่มสูงขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้องขอปรับราคาขายส่ง ซองละ 25 สต. ซึ่งแม้จะไม่กระทบราคาขายปลีกในช่วงแรก แต่ก็คงขายในราคาเดิมได้แค่ช่วงเวลาหนึ่ง 

 

ไม่ต่างกับ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต้นทางการผลิตอาหารมนุษย์ ที่อาจต้องหยุดไลน์ผลิต เพราะไม่มีวัตถุดิบป้อนโรงงาน ทั้งปริมาณข้าวโพด ข้าวสาลี ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และมีระดับราคาที่สูงขึ้นแทบทั้งหมด แม้แต่บางวัตถุดิบที่ไม่มีสารอาหารเทียบเท่าข้าวโพดหรือข้าวสาลี เช่น ปลายข้าว และมันสำปะหลัง ก็ยังยกแผงขี้นราคากันหมด

 

วอนหยุดตรึงราคาสินค้า ปล่อยตามกลไกตลาด ช่วย SME-เกษตรกรไปรอด

 

ประเด็นของอาหารสัตว์นี้ เป็น “ต้นน้ำ” ของการผลิตอาหารมนุษย์ เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นมากว่า 14% และข้าวสาลีพุ่งสูงถึง 43%  ย่อมกระทบต่อต้นทุนผู้เลี้ยงสัตว์ในวงกว้าง แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ ราคาขายอาหารสัตว์กลับถูกตรึง สวนทางต้นทุนที่พุ่งขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่ถูกตรึงราคาขาย ย้อนแย้งกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไม่เว้นวัน 

 

วิธีการ “ตรึงราคา” ที่กระทรวงพาณิชย์ทำอยู่ อาจดูดีในสายตาผู้บริโภคได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทางออกที่ดีในการนำมาแก้ปัญหา เพราะจะกลับกลายเป็นแรงกดดัน-บีบคั้นให้ผู้ประกอบการสินค้านั้น ๆ อยู่ไม่ได้ ต้องทยอยลดกำลังการผลิต และจะวนเป็นปัญหาปริมาณสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งในที่สุดจะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้านั้น ๆ และอาจต้องจ่ายมากเกินคาดคิด เมื่อสินค้านั้น ๆ เข้าสู่ภาวะขาดแคลน

 

วอนหยุดตรึงราคาสินค้า ปล่อยตามกลไกตลาด ช่วย SME-เกษตรกรไปรอด

 

แนวคิดนี้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ทราบดีและไม่เห็นด้วยกับการตรึงราคาสินค้า เช่น ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่กล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันมีความไม่แน่นอน อาจอยู่ในระดับสูงที่ 110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์นี้กำลังกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค และกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ

 

วอนหยุดตรึงราคาสินค้า ปล่อยตามกลไกตลาด ช่วย SME-เกษตรกรไปรอด

 

ทั้งนี้หากรัฐใช้วิธีตรึงราคาสินค้า ด้วยเหตุผลว่าคำนึงถึงผู้บริโภค ก็ควรคำนึงถึงผู้ประกอบการ หรือ SMEs ด้วย เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน กระทั่งล้มเลิกกิจการ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายระบบการค้าในระยะยาว

 

ดังนั้น รัฐควรทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตสินค้าลดลง ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ เพราะราคาในประเทศสูง หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ  ก็จะเป็นการลดต้นทุนเนื้อสัตว์ให้ผู้บริโภคปลายทาง โดยที่ไม่ทำลาย SMEs และระบบการค้าไปพร้อม ๆ กันด้วย

 

นั่นหมายความว่า รัฐไม่ต้องตรึงราคาสินค้า แต่สามารถใช้ “กลไกตลาด” เป็นปัจจัยหนึ่งในการฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ โดยไม่มีใครถูกกดดันจนต้องหยุดผลิตสินค้า ไม่มีใครถูกบีบคั้นจนต้องเลิกอาชีพ ราคาขายสินค้าจะขึ้นหรือลงก็ให้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน กำลังซื้อของผู้บริโภคจะเป็นตัวตัดสิน แล้วทุกอย่างจะเข้าสู่ภาวะสมดุลได้เองโดยที่ระบบการค้าก็ไม่เสียหาย