ผู้เลี้ยงไก่ท้อใจ รัฐเลิกมาตรการ 3 :1 ชั่วคราว จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์

17 มี.ค. 2565 | 06:30 น.

ผู้เลี้ยงไก่ไทย พ้อรัฐยกเลิกมาตรการ 3:1 ช่วยอาหารสัตว์ กำหนดโควตา จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร ซ้ำเติมให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากเนื้อสัตว์ยังถูกคุมราคา ชี้ควรปล่อยตามกลไกตลาด ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยงผลพวงขาดทุน

 

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มติที่ประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย  ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่  และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยและผลไม้ โดยที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกมาตรการ 3:1  ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว และให้นำเข้าข้าวสาลีได้เสรีจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 65 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดยังไม่ออกสู่ตลาดและต้องนำเข้าภายใต้โควต้าที่กำหนดเท่านั้น

 

ฉวีวรรณ  คำพา

 

เรื่องนี้ภาครัฐ ยังต้องกำหนดรายละเอียดนำเข้าและวันที่เริ่มนำเข้าซึ่งต้องใช้เวลา ซึ่งยังถูกจำกัดด้วยโควต้านำเข้าและระยะเวลา เพื่อปกป้องชาวไร่ข้าวโพด แต่มองว่าได้ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้แบกภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสุงขึ้นแรงมากในปีนี้ ซึ่งอาหารสัตว์ป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ ขณะที่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ ถูกควบคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิต

 

สำหรับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ทั่วโลกรวมทั้งไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ตามปกติขณะที่ราคาข้าวสาลีพุ่งขึ้น 43% จาก 8.91 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) เป็น 13 บาทต่อ กก. และข้าวโพดจาก 10.05 บาทต่อกก. เป็น 13 บาทต่อ กก.

 

ผู้เลี้ยงไก่ท้อใจ รัฐเลิกมาตรการ 3 :1 ชั่วคราว จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์

 

นางฉวีวรรณ กล่าวย้ำว่า แม้ภาครัฐจะยกเลิกมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ที่ผ่านมาสมาคมฯในฐานะตัวแทนเกษตรกรเรียกร้องไปยังภาครัฐให้พิจารณานำกลไกการตลาดมาใช้แทนมาตรการควบคุมราคา เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงอย่างสมดุลตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักการอุปสงค์ (ดีมานด์) และอุปทาน (ซัพพลาย) จึงควรยกเลิกการคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ ให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด โดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล

 

ผู้เลี้ยงไก่ท้อใจ รัฐเลิกมาตรการ 3 :1 ชั่วคราว จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์

 

ทั้งนี้ กรมการค้าภายใน ใช้มาตรการกำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ไปสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565 เพื่อลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค ขณะที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.) กำหนดให้ผู้ประกอบการ ผู้ค้า และฟาร์มเลี้ยงไก่ต้องปฏิบัติตามมาตรการดังนี้ 1.ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน ต้องแจ้งปริมาณ สต๊อกและต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน 2.โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ทั้ง 55 ราย ต้องแจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิตและสต็อก และ 3.การปรับราคาสินค้าจะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน

 

อย่างไรก็ตาม ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองสูงขึ้นโดยตลอด ในปี 2564 ราคาปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 30-40% ร่วมถึงปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคระบาดปรับราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย การปล่อยให้ราคาเนื้อไก่ที่ปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ให้มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมและขายสินค้าได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ที่สำคัญยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

ผู้เลี้ยงไก่ท้อใจ รัฐเลิกมาตรการ 3 :1 ชั่วคราว จำกัดเวลา ไม่เกิดประโยชน์

 

หากรัฐบาลยังคงใช้มาตรการการคุมราคาสินค้าภาคปศุสัตว์ทั้งห่วงโซ่การผลิตต่อไป จะส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่สามารถแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ที่ผ่านมาเนื้อไก่เป็นอาหารโปรตีนคุณภาพดีย่อยง่าย เป็นทางเลือกทดแทนยามเนื้อหมูราคาแพงและขาดแคลน และยังคงเป็นอาหารที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ทั่วไปในราคาที่เป็นธรรม หากราคาเนื้อสัตว์โดนควบคุมต่อไปไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ผู้เลี้ยงไม่สามารถอยู่ได้ก็ต้องหยุดเลี้ยง อาจทำให้เกิดปัญหาอาหารขาดแคลนได้