โลกช็อต! ซัพพลายเชน ส่งออกสาหัสจ่อขาดวัตถุดิบ อาหารสัตว์ปรับสูตรผลิตใหม่

16 มี.ค. 2565 | 06:20 น.

รัสเซียระงับส่งออก 200 สินค้าสะท้านโลก จับตาสึนามิลูกใหม่ซัดซัพพลายเชนโลกวิกฤต ขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบ ทุบภาคผลิต เศรษฐกิจ การค้าฟุบยาว รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ส่อขาดแคลนชิปรอบใหม่ เอกชน-นักวิชาการจี้อาหารคน อาหารสัตว์ เร่งปรับสูตรผลิตรักษาชีวิตรอด

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ แม้มีการเจรจากันไป 4-5 รอบ แล้วแต่ยังคว้านํ้าเหลว ล่าสุดเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทาน (ซัพพลายเชน) การผลิตสินค้าของโลกมีความเสี่ยงที่จะสะดุด และมีต้นทุนที่สูงขึ้นอีกระลอก จากรัสเซียได้ยิงปรมาณูทางเศรษฐกิจ ประกาศระงับการส่งออกสินค้า 200 รายการ (11 มี.ค.) เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตกที่รุมควํ่าบาตรและปิดล้อมทางเศรษฐกิจรัสเซีย รวมถึงตอบโต้ประเทศที่มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย (48 ประเทศ /ดินแดน) จากก่อนหน้านี้รัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ได้ระงับการส่งออก ส่งผลปุ๋ยขาดแคลนและราคาพุ่งทั่วโลก

 

 

โลกช็อต! ซัพพลายเชน ส่งออกสาหัสจ่อขาดวัตถุดิบ อาหารสัตว์ปรับสูตรผลิตใหม่

 

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การระงับการส่งออกสินค้า 200 รายการของรัสเซีย ครอบคลุมสินค้าโทรคมนาคม อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าเกษตร (รวมปุ๋ย) จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าของโลก ผลจากวัตถุดิบและสินค้าที่ไปจากรัสเซียจะหายไป ทำให้โลกเกิดการขาดแคลน ส่งผลถึงราคาสินค้า และต้นทุนการผลิตสินค้าต่าง ๆ จะปรับตัวสูงขึ้น เพราะต้องหาวัตถุดิบและสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทน

 

  • วัตถุดิบขาดแคลนทั่วโลก

รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก เช่น ข้าวสาลีที่ใช้เป็นอาหารคนและใช้ผลิตอาหารสัตว์ แม่ปุ๋ยและปุ๋ยเคมี (รัสเซียและเบลารุสพันธมิตรของรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยสัดส่วน 30% ของโลก) เหล็ก เหล็กกล้า และแร่ธาตุสำคัญ เช่น พาลาเดียม (แร่ใช้ผลิตเครื่องฟอกไอเสียรถยนต์) นิกเกิล (ใช้ผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงในรถยนต์ไฟฟ้า) ไททาเนียม (ใช้ผลิตตัวเครื่องบิน) รวมทั้งแร่ธาตุหายากที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และในหลายสินค้าจะได้รับผลกระทบ”

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

ทั้งนี้เมื่อรัสเซียห้ามส่งออกสินค้าต่าง ๆ ข้างต้นจะส่งผลกระทบวัตถุดิบขาดแคลนทั่วโลก การผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจะสะดุดและมีต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบในวงกว้างเริ่มจากในสหรัฐฯ ยุโรปลามกระทบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโลกชะลอตัว ราคาสินค้า เงินเฟ้อจะปรับขึ้นทั่วโลก ซึ่งไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลกด้วยก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ทั้งในแง่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออก และเศรษฐกิจในภาพรวม

 

ประธานสภาธุรกิจไทย-รัสเซีย กล่าวอีกว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจจะยุติในไม่ช้านี้ เพราะโดยแสนยานุภาพทางทหารรัสเซียเหนือกว่า แต่ในเรื่องสงครามการค้า และการควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจที่ตอบโต้กันไปมาระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯและชาติตะวันตกคาดจะยังอยู่อีกนาน

 

  • ปรับแผนนำเข้าปุ๋ยซาอุฯ-จีน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบในรายละเอียดในสินค้า 200 รายการที่รัสเซียระงับการส่งออกว่ามีสินค้าใดที่รัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลกบ้าง ในเบื้องต้นพบว่า รัสเซียเป็นผู้ส่งออกนํ้ามันและก๊าซสัดส่วนประมาณ 30% ของโลก ข้าวสาลีเกือบ 30% ของโลก และปุ๋ยเกือบ 30% ของโลก ดังนั้นหากซัพพลายจากรัสเซียหายไปจะส่งผลให้โลกเกิดการขาดแคลน และราคาพุ่งสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งหากมีประเทศผลิตสินค้าทดแทนได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ราคาก็จะปรับลดลงมา แต่คงต้องใช้เวลา

 

ในส่วนของสินค้าปุ๋ยที่รัสเซียระงับการส่งออก ในปี 2564 ไทยนำเข้าปุ๋ยจากรัสเซียเป็นอันดับ 4 (รองจากจีน ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย) มูลค่า 5,666 ล้านบาท ซึ่งปุ๋ยเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซียเป็นอันดับ 2 รองจากนํ้ามันดิบ จากรัสเซียห้ามส่งออกปุ๋ย ไทยคงต้องหาแหล่งนำเข้าอื่นทดแทน ซึ่งจะส่งผลต่อสูตรการผลิต และระยะเวลาในการตรวจสอบสูตรของภาครัฐ และราคาวัตถุดิบการผลิตปุ๋ย และราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อห่วงโซ่ ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ย เกษตรกร และอุตสาหกรรมอาหาร

 

วิศิษฐ์  ลิ้มลือชา

 

 “ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการยุโรป หอการค้าไทยได้หารือผลกระทบจากมาตรการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ยเคมีของรัสเซีย โดยที่ประชุมเสนอให้หาแหล่งนำเข้าอื่น เช่น จีน หรือซาอุดิอาระเบีย มาทดแทน”

 

  • อาหารจากข้าวสาลีจ่อพุ่ง

ส่วนข้าวสาลีที่ไทยนำเข้าจากยูเครนเป็นอันดับ 3 ในปี 2564 (รองจากออสเตรเลีย และสหรัฐ) สงครามครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวสาลีของยูเครน และราคาข้าวสาลีโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาอาหารสัตว์ที่ใช้ข้าวสาลีเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อห่วงโซ่การเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารที่เกี่ยวข้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ข้าวสาลีถูกใช้เป็นส่วนประกอบหลักในอาหารทุกประเภททั้งขนมปัง ขนมเค้ก ซีเรียล คุกกี้ แครกเกอร์ พาย โดนัท ปาท่องโก๋ โรตี บะหมี่ พาสต้า มักกะโรนี สปาเกตตี้ หรือแม้แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มทิศทางราคาปรับตัวสูงขึ้น

 

  • แนะปรับสูตรผลิตรักษาชีวิตรอด

 ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การระงับการส่งออกสินค้า 200 รายการของรัสเซียในครั้งนี้ หากในรายะเอียดมีแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตสินค้าเซมิคอนดักเตอร์(ไมโครชิพ) จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องขาดแคลนวัตถุดิบสำคัญนี้ในการผลิต และจะมีผลต่อการใช้กำลังการผลิต จากเดิมทั่วโลกยังขาดแคลนไมโครชิพอยู่แล้ว รวมถึงจากการส่งออกข้าวสาลี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของรัสเซียที่สะดุดลง จะส่งผลต่อซัพพลายสินค้ากลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ถูกดึงออกจากห่วงโซ่อุปทานของโลก ทำให้ขาดแคลนและมีราคาสูง และต้องหาวัตถุดิบตัวอื่นมาทดแทน ยังผลต้องพิจารณาปรับสูตรการผลิตใหม่

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

 “ข้าวสาลีและข้าวโพด คู่สงครามคือรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสัดส่วน 30% ของโลก โดยข้าวสาลีสัดส่วน 60% ใช้แปรรูปอาหารให้คนกิน ที่เหลือใช้ผลิตอาหารสัตว์ และพลังงานทางเลือก ส่วนข้าวโพดส่วนใหญ่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ และพลังงานทางเลือก เมื่อซัพพลายหายจากตลาดราคาก็จะสูงขึ้น ส่วนถั่วเหลืองใช้ผลิตนํ้ามันบริโภคสำหรับคน เหลือกากถั่วเหลืองใช้ผลิตอาหารสัตว์ เมื่อราคาถั่วเหลืองปรับตัวสูงขึ้น สินค้าปาล์มในประเทศที่ใช้ผลิตนํ้ามันปาล์มจะได้รับอานิสงส์ราคาปรับตัวสูงขึ้น”

 

สำหรับทางออกของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เมื่อวัตถุดิบทั้งข้าวสาลี กากถั่วเหลือง และข้าวโพดราคาแพงและขาดแคลน ในระยะสั้นนี้อาจจำเป็นต้องหาวัตถุดิบอื่นเป็นส่วนผสมแทน เช่น รำ ปลายข้าว มันสำปะหลัง โดยปรับสูตรการผลิตเพื่อให้มีต้นทุนที่ตํ่าลง และยังคงรักษาธุรกิจเอาไว้ได้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3766 วันที่ 17 -19 มีนาคม 2565