“ประกันรายได้ข้าว” ลุ้น งวด7 ชาวนา ปลูกข้าว ชนิดไหนจะได้รับเงินสูงสุด

25 พ.ย. 2564 | 08:17 น.

“กรมการค้าภายใน” ร่อนหนังสือด่วนที่สุด นัดเคาะราคาส่วนต่าง “ประกันรายได้ข้าว” งวดที่ 7 วันที่ 26 พ.ย. นี้ ชาวนา ปลูกข้าวชนิดไหนจะได้รับเงินสูงสุด นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน โอดทุกข์ชาวนาลำเค็ญ ขายข้าวได้ราคาต่ำ วอนขอพักต้น ดอกเบี้ย 3 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น

ความคืบหน้า โครงการประกันรายได้ข้าว”  ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ทาง เกษตรกร หรือ ชาวนา  ให้ความสนใจ และติดตาม ถึงการจ่ายเงินส่วนต่างของรัฐบาล อย่างต่อเนื่อง ผ่านการเคาะราคามาแล้ว 6  งวด ล่าสุดถึง งวดที่ 7  นั้น กลุ่มเกษตรกรที่แจ้ง เก็บเกี่ยว วันที่ 19 – 25 พฤศจิกายน 2564 นั้น

 

 

นายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน และ ในฐานะคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการ”ประกันรายได้ข้าว” เป็นโครงการที่ชาวนาพอใจเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่ามีนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามโจมตี ดังนั้นทำให้ข้าราชการเอง และคนที่เกี่ยวข้องก็ค่อนข้างระวังตัว

 

ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน มีหนังสือด่วนที่สุด เชิญประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างและการชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 จะมีการนัดเคาะราคาประกันข้าว  งวดที่ 7  สำหรับเกษตรกรที่แจ้งเก็บเกี่ยวในวันที่ 19 – 25 พฤศจิกายน 2564 นั้น ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่รัฐบาลประกันในข้าว 5 ชนิด 

 

สำหรับ ราคา "ประกันรายได้ข้าว" ปี 3

 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาท/ตัน  จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

 

  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

 

  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนไม่เกิน 25 ตัน

 

  • ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ไม่เกิน 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

 

 นายธีร์วริศ  กล่าวว่า ความจริงในเรื่อง "เงินช่วยเหลือชาวนา"  ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 2 หมื่นบาท นั้น รัฐบาลควรที่จะจ่ายให้มาก่อนเพราะชาวนาจะได้นำเงินตรงนี้มาใช้จ่ายโน้นนี่นั้น เป็นตัวหนึ่งที่ช่วยชะลอให้ชาวนาไม่ต้องรีบขายข้าวได้อีกทางหนึ่ง ”ข้าวภาคอีสาน” ควรจะให้ความสำคัญสำหรับ 3 ชนิด ได้แก่ “ข้าวหอมมะลิ” มี 2 ชนิด ก็คือ ข้าว กข15 และ ข้าวหอมมะลิ 105 หรือ “ข้าวเหนียว”  ชนิด “กข6” หรือ ข้าวสี  หรือข้าวนวัตกรรม เช่น ไรซ์เบอรี่ เป็น ต้องหาต้นทุนข้าวที่แท้จริงว่าเท่าไรกันแน่ ไม่ควรนำข้าวพื้นนุ่มมาปลูกในพื้นที่อีสาน เพราะขายคละปนทำให้ข้าวหอมมะลิเสียหาย

 

"อยากจะสะท้อน ชาวนาเดือดร้อนกันทั้งประเทศ ไม่เฉพาะแค่ชาวนาอีสาน เพียงภาคเดียวเท่านั้น อยากให้พักต้น และดอกเบี้ย ธ.ก.ส.  เพราะตอนนี้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ขายข้าวได้ราคาต่ำ แล้วตอนนี้เงินประกันรายได้ข้าว บางคนก็ได้แล้ว บางคนก็ยังไม่ได้ ก็ไม่ได้ว่ากัน  แต่มีปัญหา พอเงินจ่ายส่วนต่างประกันราคาข้าว ธ.ก.ส. ยึดหมดเลย ขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาพักต้น และดอกเบี้ยให้เกษตรกรทั้งประเทศเลย ไม่ใช่ชาวนาเพียงอาชีพเดียว  ขอ 3 ปี จนกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น"

 

อนึ่ง ระเบียบวาระการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงในโครงการ "ประกันรายได้ข้าว" ปี 3 ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

 

วาระที่ 1     เรื่องที่ประธานแจ้งที่ประชุมทราบ

 

วาระที่ 2    รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 26/2564

 

วาระที่ 3 เรื่องเพื่อทราบ ความคืบหน้าผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 

 

วาระที่ 4 เรื่องพิจารณา ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกัรนรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 (งวดที่7) 

 

วาระที่ 5 เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)

 

 

อย่างไรก็ดี เกษตรกรสามารถตรวจสอบเงินประกันรายได้เกษตรกรผ่าน chongkho.inbaac.com ที่เมนู “ตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐ”  ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ตลอดเวลา ไม่ยุ่งยากอีกต่อไป ตลอด 24 ชั่วโมง เงินเข้าเมื่อไร รับทราบทันที