ร้อง"ชวน"ช่วยดับไฟเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกิน"วังน้ำเขียว"

03 พ.ย. 2564 | 09:38 น.

    ชาวบ้านวังน้ำเขียวร้อง"ชวน"คลายทุกข์ 352 คดี พร้อมขอช่วยถามรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่ดินภายในกำหนดเมื่อใด ทั้งเร่งรัดกระทรวงทรัพยฯรีบแก้ไขเขตอุทยานทับลาน ตามแนวทางผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอ  ตีแสกหน้ารัฐ"ปล่อยให้หน่วยงานราชการรังแกประชาชนอยู่ได้อย่างไร"

ปัญหาพิพาทที่ดินวังน้ำเขียวที่กลับมาระอุอีกรอบ เมื่ออัยการจังหวัดนครราชสีมาส่งฟ้องคดี ส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาเป็นจำเลยต่อศาลเกือบครบ ตามที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้แจ้งข้อกล่าวหาชาวอำเภอวังน้ำเขียวไว้ จำนวน 352 คดี

ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อก.พ.2564 เห็นชอบแก้ไขปัญหาการทำกินในเขตอุทยานตามข้อเสนอผู้ตรวจการแผ่นดิน และอยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานราชการ 

ชาวบ้านวังน้ำเขียวจัดเวทีประชาคมที่ตำบลไทยสามัคคี ชีี้แจงความเดือดร้อนให้เลขานุการประธานรัฐสภาและส.ส.ปชป.รับฟัง

ล่าสุด เมื่อ 31 ต.ค. 2564 ที่ศาลาประชาคมตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เครือข่ายชาววังน้ำเขียว ในนาม"ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อน" ได้จัดเวทีประชาคม ชี้แจงปัญหาความเดือดร้อนและยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา

ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา และนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เคยเรียกร้องในที่ประชุมสภาให้ยุติการดำเนินคดีโดยมิชอบกับประชาชน ที่เดินทางมาร่วมรับฟังด้วย

ร้อง"ชวน"ช่วยดับไฟเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกิน"วังน้ำเขียว"

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.ปชป.และนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา รับฟังความเดือดร้อนชาวบ้านวังน้ำเขียว

ชาวบ้านวังน้ำเขียวชี้แจงว่า การถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยครั้งนี้สร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมแก่ราษฎรอย่างยิ่ง โดยระบุว่า  เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนี้ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 2  (กอ.รมน. ภาค 2) และกองทัพภาคที่ 2 ได้ประชุมชาวบ้าน และแสดงหลักฐานและแพร่ภาพ อันเป็นเอกสารราชการจำนวนมาก

เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่า การจัดตั้งชุมชนในเขตพื้นที่ตำบลไทยสามัคคีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น อันเป็นที่มาของการก่อตั้งหมู่บ้านไทยสามัคคี เมื่อ พ.ศ. 2520

ร้อง"ชวน"ช่วยดับไฟเขตอุทยานทับลานทับที่ทำกิน"วังน้ำเขียว"

ในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอโชคชัย และอำเภอปักธงชัย เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ขณะประกาศพระราชกฤษฎีกาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอปักธงชัย) และต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ของชุมชนในโครงการพระราชดำริดังกล่าว รวมทั้งทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(สปก.)อีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติในครั้งนั้น ไม่ได้มีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด และกันชุมชนออกจากพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนดเสียก่อน (โดยอ้างว่าให้ประกาศไปก่อนและแก้ไขปัญหาในภายหลัง) อันทำให้เกิดปัญหาต่อราษฎรและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

 

ผลจากความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละกระทรวงดังกล่าว จึงเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความยุ่งยากและขัดข้องในการพัฒนำท้องถิ่น และเป็นที่มาของการจับกุมดำเนินคดีต่อราษฎรจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งทางราษฎรก็ได้พยายามร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้งหลายคราตลอดเวลาที่ผ่านมา อาทิเช่น คณะกรรมาธิการจากวุฒิสภา (นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย), คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎร (พลตำรวจเอก วิรุฬห์ ฟื้นแสน), ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพานิช) ซึ่งได้ลงพื้นที่และตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งมีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า ควรมีการแก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ตามแนวเขตปรับปรุงที่กองทัพภาคที่สองเสนอให้กรมป่าไม้ร่วมกับฝ่ายปกครอง จัดทำขึ้นตามความเป็นจริงและแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543 (เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นแนวเขตอุทยาน ซึ่งเรียกกันว่า แนวเขต 2543)  รวมทั้งให้ความเห็นว่า ไม่ควรดำเนินคดีอาญากับราษฎร ทั้งนี้เนื่องจากราษฎรที่ถูกดำเนินคดีดังกล่าวล้วนแต่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่,เสียภาษีที่ดิน,ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารที่พัก จากหน่วยงานของรัฐในท้องถิ่นแล้ว รวมทั้งมีทะเบียนบ้าน และสามารถขอสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ประปา, ไฟฟ้า, โทรศัพท์ ฯลฯ

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมี พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ เป็นประธาน ได้ออกคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา ภายหลังจากได้รับคำร้องเรียนและลงตรวจสอบพื้นที่ ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมหลักฐานทั้งหมด โดยมีข้อสรุปว่า ให้ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยยึดถือแนวเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดร่วมกันมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2543 และให้ส่งมอบพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากอุทยานแห่งชาติตามแนวเขต 2543 ให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อำศัยทำกินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินต่อไป

 

คำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินข้างต้นนี้ ได้เคยมีการเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและได้รับความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 คณรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้รับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวไปดำเนินการ แต่จนบัดนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังมิได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ราษฎรในท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว ต้องถูกส่งตัวและตกเป็นจำเลยคดีอาญา ณ ศาลจังหวัดนครราชสีมา อันเป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวโดยไม่ชักช้า ราษฎรก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนเช่นนี้

 

กลุ่มราษฎรผู้เดือดร้อนชาวอำเภอวังน้ำเขียว จึงยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือถึงประธานรัฐสภา ให้ช่วยแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนตามลำดับความเดือดร้อน คือ

1. เนื่องจากปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแล้ว แต่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่าฝ่ายบริหารจะเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยไม่ชักช้า ดังนั้น การดำเนินคดีอาญากับราษฎรในกระบวนการยุติธรรมต่อไป จึงไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อมิให้เป็นการซ้ำเติมให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมเพิ่มขึ้น 

ข้าพเจ้าทั้งหลายจึงขอความกรุณาท่านได้โปรดประสานงาน และหาแนวทางดำเนินการกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อชะลอหรือระงับการดำเนินคดีอาญากับราษฎรดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้มีเวลาแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสร็จสิ้น ตามมติของคณะรัฐมนตรีข้างต้น

 

2. ขอให้ท่านได้โปรดประสานงานกับฝ่ายบริหาร เพื่อกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อใด เพื่อแจ้งและประสานงานให้กับศาลจังหวัดนครราชสีมาได้ทราบ

 

3. ขอให้ท่านได้โปรดประสานงานและติดตามเร่งรัด ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ. 2524 ตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว

 

4. ขอให้ท่านได้โปรดประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ดำเนินการขอรับมอบที่ดินในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมำ ตามรายละเอียดในคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และเร่งรัดการออกเอกสาร สปก. 4-01 ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อราษฎรจะได้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพต่อไป

ทั้งนี้ นายภัคพล เขียวสลับ ตัวแทนคนวังน้ำเขียว ตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยว่า การที่ปล่อยปละให้กรมอุทยานฯ ยังดื้อ ไม่ยอมกันแนวเขตอุทยานฯทับลาน ตามแนวเขตปรับปรุงที่ดำเนินการค้างไว้ตั้งแต่ปี 2543 ให้เป็นกฎหมาย ซึ่ง ครม. ได้มีมติเห็นชอบแล้วตั้งแต่ 2 ก.พ. 2564 ให้ดำเนินการตามแนวทางความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ถือเป็นผลงานของรัฐบาลท่าน จะมีผลดีหรือไม่เมื่อ

 

1. ท่านปล่อยให้ข้าราชการกลั่นแกล้งรังแกประชาชน มีความทุกข์ยากทั้งเรื่องต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และภาวะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมาก ๆ ทั้งอำเภอ และ

 

2. ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับองค์การยูเนสโก ในคราวขอให้อนุมัติขึ้นทะเบียนเป็น“มรดกโลก” เมื่อปี 2548  ว่าจะกันพื้นที่ชุมชนที่ดำเนินการไว้แล้วตั้งแต่ปี 2543 ให้แล้วเสร็จเป็นกฎหมายภายในปี 2550 แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ทำ และต่อมาในปี 2555 มาเร่งดำเนินคดีกับประชาชน) สิ่งนี้จะกระทบถึงชื่อเสียงและเครดิตของประเทศหรือไม่ หากมีใครนำประเด็นปัญหานี้มาโจมตี หรือจะเป็นเหตุให้ยูเนสโกจะยกเลิกการเป็นมรดกโลกหรือไม่

"ขอให้ท่านเร่งพิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชน และประเทศชาติ ตามเจตนารมณ์ที่รัฐบาลได้ตั้งไว้"นายภัคพลกล่าวย้ำ