แถลงการณ์คัดค้านสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก "เขาใหญ่-ทับลาน"

30 มี.ค. 2564 | 01:35 น.

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ค้าน กรมชลประทาน สร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลก "อุทยานเขาใหญ่-ทับลาน" ยัน เดินหน้ายับยั้ง-เอาผิดผู้ที่ริเริ่มและกระทำการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ดังกล่าวทุกมาตรการ  

30 มีนาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาะโลกร้อน ออกแถลงการณ์สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เรื่อง คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่-ทับลาน ใจความสรุปได้ว่า ตามที่กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำข้อมูลเบื้องต้นอยู่ในขณะนี้ โดยการเลี่ยงการศึกษาด้วยการเข้าไปวิจัยความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังมืดในพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของมรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่นั้น

การดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่า เป็นการลุแก่อำนาจของกรมชลประทาน และเป็นการเพิกเฉยของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่อนุญาตให้บริษัทที่ปรึกษาของกรมชลประทานเข้าไปสำรวจทำข้อมูลในพื้นที่ได้ ทั้ง ๆ ที่ผืนป่าทั้งสองและอีก 3 ป่า รวม 5 ป่าได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันภายใต้ชื่อ “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (Dong Phayayen-Khao Yai Forest Complex)”

จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์มรดกโลกด้านธรรมชาติ จำนวน 1 ข้อ คือ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจด้วย

ความพยายามที่จะเข้าไปผลาญธรรมชาติ โดยอ้างว่าเพื่อต้องการหาแห่งน้ำให้เกษตรกร เพื่อทำการเกษตรและเพื่ออุปโภคบริโภคนั้น เป็นเรื่องเก่าค่ำครึ-ล้าสมัยและเป็นกลเกมส์ที่ประชาชนเขารู้ทันหมดแล้ว ว่าแท้ที่จริงหรือหวังที่จะสร้างโครงการขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำที่เพิ่มมาขึ้นของ EEC ที่เต็มไปด้วยกลุ่มทุนอุตสาหกรรม และการได้โอกาสในการรุมที้งงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น

การริเริ่มแผนงานก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จึงเป็นการเหยียบย่ำหัวใจของนักอนุรักษ์และประชาชนที่หวงแหนธรรมชาติ ที่ช่วยกันปกป้องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ กันมาอย่างยาวนาน และไม่มีทางที่ประชาชนเหล่านั้นจะปล่อยให้กรมชลประทานใช้อำนาจบารตใหญ่เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำผืนป่าดังกล่าวได้

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและนักอนุรักษ์ทั้งประเทศและประชาชนจะใช้มาตรการทุกมาตรการ รวมทั้งมาตรการทางกฎหมาย ในการยับยั้ง และเอาผิดผู้ที่ริเริ่มและกระทำการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกดังกล่าว 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลองสุเอซกลับมาใช้งานได้แล้ว ขอเวลา 4 วัน ระบายเรือ 400 กว่าลำ

ศักยภาพ "แหล่งน้ำบาดาล" ขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC

สถานการณ์เป็นใจ ลงทุนไทย 4 แสนล้านไม่ไกลเกินจริง

แลนด์บริดจ์หนุนแผนขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเล เอกชนระนองชี้ระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ดัน‘รถไฟพิเศษอุดร-เวียงจันทน์’ ขนทัวร์จีนจากไฮสปีดลาว บูมเศรษฐกิจอีสาน