จี้ภาคอุตฯรับมือ “เหล็กโลกขาขึ้น”ยาว

22 พ.ค. 2564 | 04:50 น.

ราคาสินค้าเหล็ก และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในเวลานี้มีสาเหตุจากอะไร กระทบโรงงานผู้ผลิตเหล็ก และผู้ใช้เหล็กในประเทศไทยอย่างไร และจะกินเวลายาวนานแค่ไหน

นายนาวา  จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ดังรายละเอียด

-สถานการณ์ราคาเหล็กในในตลาดโลก

ปรับขึ้นเยอะ เมื่อเทียบปีต่อปี  ยกตัวอย่างจีนที่เป็นแหล่งผลิตใหญ่สุดของโลก และเป็นแหล่งที่ใช้เหล็กมากสุดเกินครึ่งหนึ่งของโลก  ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาราคาปรับตัวสูงขึ้น 2.3-2.4 เท่า นับตั้งแต่กลางปีที่แล้ว จากราคาเคยลงต่ำสุดประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้วหลังจากที่จีนเจอโควิดที่อู่ฮั่น และหลังจากจีนแก้โควิดที่อู่ฮั่น ได้ราคาเหล็กก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นมา โดยเฉพาะช่วงหลังจะขึ้นแรงมาก

-ราคาที่สูงขึ้นส่งผลต่อราคาเหล็กในไทยด้วย?

แน่นอนครับ เพราะว่าจีนใช้เหล็กเกินครึ่งหนึ่งของโลก ขณะที่บ้านเราเป็นเสี้ยวเล็ก ๆ ไม่ถึงเปอร์เซ็นต์ของโลก เราต้องตามภาวะโลก เพราะไทยพึ่งเหล็กนำเข้าปีหนึ่งประมาณ 2 ใน 3 โดยไทยใช้ปีหนึ่งประมาณ 16-17 ล้าน แต่นำเข้ามาปีหนึ่ง 10-11 ล้านตัน ผลิตได้ในประเทศ 6-7 ล้านตันต่อปี ดังนั้นเหล็กที่นำเข้าก็เป็นราคาที่ประเทศอื่นผลิต อย่างที่ไทยนำเข้ามาเยอะสุดช่วงหลังเป็นญี่ปุ่น แต่พอช่วงราคาดี ญี่ปุ่นก็ขายในประเทศ ตอนนี้เศรษฐกิจในญี่ปุ่นโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ฟื้นขึ้นดีมาก การใช้เหล็กเขาดี ราคาสูง ถ้ามีกำลังผลิตเหลือถึงจะส่งออก ซึ่งเดิมเขาอาจจะส่งมาอาเซียนมาก แต่พอจีนขาดแคลน จีนผลิตเองไม่พอ ตอนนี้ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในเอเชียทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ไต้หวัน  เวียดนาม อินโดนีเซีย ถ้ามีกำลังผลิตเหลือที่ส่งออกได้ ก็จะส่งไปจีนเป็น Priority แรก เพราะได้ราคาดี

-ขณะนี้เหล็กจีนไม่พอใช้ ใช่หรือไม่

 เขาไม่พอใช้ เพราะเศรษฐกิจจีนหลังแก้ปัญหาโควิดได้เขาก็โตมาตั้งแต่เดือน 4  เดือน 5 ของปีที่แล้ว โดยปี 2563 จีนต้องนำเข้าสินค้าเหล็กเกือบ 10 ล้านตัน จากที่ผ่านมาจีนนำเข้าเหล็กจำเป็นเฉพาะที่เป็นไฮเกรดปีหนึ่งก็ประมาณแค่ 1 ล้านตันเศษ ๆ  แต่ปีที่แล้วนำเข้า 9.9 ล้านตัน เพราะในประเทศเขาผลิตไม่ทันกับเศรษฐกิจที่โตขึ้น  จากเกิดโควิดที่อู่ฮั่น เศรษฐกิจเขาติดลบในไตรมาสที่ 1/2563  รัฐบาลก็เลยใส่เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะผ่านโครงการก่อสร้างภาครัฐ คล้าย ๆ กับที่ไทยเรากำลังทำ และมีการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์

เพราะฉะนั้นในไตรมาสไตรมาสที่ 3-4  ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของจีนก็พลิกกลับมาเป็นบวก และไตรมาสที่ 1 ปีนี้ยิ่งบวกมาก(+18%) ทำให้จีนมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าโตเร็วมาก

“จีนไตรมาสที่ 1/2564 เขาก็พยายามเพิ่มกำลังการผลิตเหล็ก แต่ก็ยังไม่พอ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศครึ่งหนึ่ง นึกภาพจีนมาเที่ยวเมืองไทยซื้ออะไรอันนั้นแพงหมด จีนอยากกินทุเรียน ทุเรียนก็แพง เนื่องจากจีนมีกำลังซื้อมาก  ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนามก็เอา(เหล็ก)ไปขายจีนก่อน ใครอยากซื้อราคาถูกเขาบอกเรื่องอะไร ใครอยากได้เหล็กจากเขาก็ต้องจ่ายราคาพอ ๆ กับที่จีนจะซื้อเขา ไม่งั้นเขาก็ไม่ขาย ดังนั้นเหล็กจึงแพงทั่วโลก ไม่ได้แพงเฉพาะประเทศไทย

จี้ภาคอุตฯรับมือ “เหล็กโลกขาขึ้น”ยาว

-เหล็กขาดส่วนหนึ่งเป็นผลจากจีนปิดโรงงานเหล็กที่หรือไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมใช่หรือไม่

อันนี้จีนเขาเรียก  Production Cut คือรัฐบาลจีนสั่งให้ลดกำลังการผลิตลง โดยโรงงานเหล็กในนครถังซาน ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของการผลิตเหล็กของจีน มีโรงงานผลิตเหล็กใหญ่สุด และบริษัทเหล็กอันดับ 1 ของจีนก็อยู่ที่นี่ รัฐบาลจีนเขาต้องการลดมลพิษ ก็เลยสั่งให้ลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่งในช่วงเดือนมีนาคมถึงสิ้นมิถุนายนของปีนี้ จากปกติจีนเขาจะสั่ง Production cut ช่วงหน้าหนาว เพราะอากาศปิด แต่ปีนี้เขาต้องการลดมลพิษเร็ว เลยเริ่มสั่งปิดตั้งแต่เดือนมีนาคมเลยถึงมิถุนายน ปิดชั่วคราว โดยให้ลดกำลังผลิตลงครึ่งหนึ่ง สมมุติโรงงานนี้อาจจะมีเตาถลุง 4 เตา ให้คุณเลือกปิด 2 เตา ให้เก็บไว้ครึ่งหนึ่งเพราะว่าดีมานต์ในจีนยังดีอยู่ เขาก็ไม่กล้าสั่งปิดร้อยเปอร์เซ็นต์

“โรงงานที่ถังซานจะถูกสั่งปิดจนถึงสิ้นมิถุนายน ยกเว้นโรงงานที่ค่ามลพิษไม่ดี อาจจะถูกสั่งปิดถึงสิ้นปี โรงงานที่ควบคุมมลพิษได้ดี อาจจะโดนปิดแค่กลางปี เป็นเหตุผลที่คนกลัวว่าถึงมิถุนายนกำลังการผลิตเหล็กของจีนจะหายไปกว่า 40 ล้านตัน ทำให้เหล็กขาดก็เลยทำให้ราคาแพง นี่คือปัจจัยที่ 1”

ส่วนปัจจัยที่ 2 รัฐบาลจีนได้ประกาศจะยกเลิก Rebate Tax (การให้คืนภาษี) 13% สำหรับสินค้าเหล็กส่งออก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 พูดง่าย ๆ คือจากนี้ใครจะซื้อเหล็กจากจีนต้นทุนจะแพงขึ้น 13%

-การยกเลิก Rebate Tax เหมือนจีนจะได้ 2 ต่อ หนึ่ง ลดครหาเรื่องการอุดหนุนการส่งออก สอง ไม่จูงใจส่งออกและช่วยสงวนเหล็กไว้ใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น

ถูก เพราะเขารู้ช่วงนี้เหล็กเขาขาด ต้องนำเข้ามาก เพราะฉะนั้นวิธีหนึ่งก็คือ อย่าส่งออกเยอะ โดยยกเลิกRebate Tax  เพื่อไม่ให้มีการส่งออก หรือส่งออกน้อยลง

-จีนนำเข้าเหล็กชนิดใด

นำเข้ามากที่สุดเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน เพราะว่า เขาจะขาดเหล็กชนิดนี้มากสุด  อันดับ 2 คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น อันดับ 3 คือ เหล็กแผ่นเคลือบ รองลงไปจะเป็นพวกเหล็กเส้น จีนในโครงการก่อสร้างภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เหล็กแผ่นมาก ทั้งเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบราคาจะสูงขึ้นมากจากการนำเข้าของจีน

-แค่เฉพาะจีนประเทศเดียวทำให้เหล็กราคาสูงขึ้น ยังไม่นับรวมประเทศอื่นที่มีการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจฟื้นตัว

 นอกจากจีนแล้วเศรษฐกิจอเมริกาก็เริ่มฟื้น โจ ไบเดนก็ประกาศว่าจะอัดเม็ดเงินอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราเลยเดาว่าเดี๋ยวอเมริกาคงเหมือนจีน แต่ว่าอเมริกาปกติปีหนึ่งเขาใช้เหล็กไม่ถึง 100 ล้านตัน เขาใช้ประมาณ 99 ล้านตัน จีนใช้ปีหนึ่ง 800-900 ล้านตัน สเกลใหญ่กว่าอเมริกา 8-9 เท่า แต่จีนเศรษฐกิจดี อเมริกาเศรษฐกิจดี ญี่ปุ่นรถยนต์ดี ยุโรปเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ก็เลยเป็นที่มาที่ทุกคนกลัวว่าเหล็กอาจจะขาดแคลนยาวไปถึงไตรมาส 3

“เมื่อวันก่อนคุณวิน  วิริยประไพกิจ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สหวิริยาสตีล อินดัสตรี)บอกราคาเหล็กจะสูงต่อเนื่องและขาดแคลนไปอีก 1-2 ปี แต่ผมไม่กล้าพูดยาวไปปีสองปี เดี๋ยวคนจะช็อก แต่คาดอย่างน้อยราคาเหล็กจะยังสูงต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ แล้วธรรมชาติของผู้ซื้อ คือเหล็กมันขึ้นจริงแต่ว่าผู้รับเหมา หรือผู้ใช้บางคน เห็นราคาขึ้นทุกเดือนบางทีเขาใช้เหล็กโครงการ 6 เดือน ใช้ 1,200 ตัน เขาทยอยเอาเดือนละ 200 ตันก็ได้ แต่ธรรมชาติของผู้ใช้ขืนทยอยเอาเดือนละ 200 ตัน เดี๋ยวจะแพงขึ้นทุกเดือน เพราะฉะนั้นพอช่วงขาขึ้นแรง ๆ ทุกคนก็อยากได้เหล็กตุนบอกจะเอาหมด 1,200 ตันเลยเพราะว่าคุ้มดอกเบี้ย เพราะว่าดอกเบี้ยตอนนี้อาจจะแค่ 2-3% แต่ว่าผมซื้อมาประหยัดกว่าเหล็กขึ้นไป 10% ทำให้เกิดการเร่งซื้อด้วย ทำให้ความรู้สึกเหมือนว่าเหล็กขาด ซึ่งจริง ๆ ถ้าเขาวางแผนดี ๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์วางแผนแจ้งล่วงหน้าเรา(โรงงานผลิตเหล็ก) 3 เดือนว่า พวกนี้ก็ไม่มีปัญหาขาดแคลน เพราะเราสามารถเอามาซื้อวัตถุดิบมาผลิตส่งเขาได้ทัน”

จี้ภาคอุตฯรับมือ “เหล็กโลกขาขึ้น”ยาว

อย่างไรก็ดี ผู้ใช้เหล็กที่จะเดือดร้อนมากที่สุดช่วงนี้น่าจะเป็นผู้ใช้ที่พึ่งเหล็กจากจีนเป็นหลัก รวมถึงผู้ใช้ที่ที่พึ่งเหล็กจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนามที่เขาอาจจะตัดสินค้าไปส่งขายจีนแทน ซึ่งการจะหันมาสั่งซื้อเหล็กจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศเพิ่มทันที  บางทีผู้ผลิตไม่มีวัตถุดิบในมือ แต่ถ้าเขาแจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน ผู้ผลิตก็สามารถตอบสนองความต้องการได้

-มองว่าจะเป็นโอกาสของผู้ผลิตเหล็กในประเทศมากขึ้นหรือไม่

ก็เป็นโอกาส แต่ก็ไม่ได้มาก เพราะว่าจีนเขาไม่ได้ซื้อแค่ตัวผลิตภัณฑ์เหล็ก  ตอนนี้เขาแย่งไปซื้อถึงวัตถุดิบ เขาแย่งซื้อแม้กระทั่งเศษเหล็ก ที่ผ่านมา 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนห้ามนำเข้าเศษเหล็ก แต่ตอนนี้รัฐบาลจีน ตั้งแต่เดือนเมษายนบอกให้นำเข้าเศษเหล็กได้แล้ว เพราะ เอาเศษเหล็กไปหลอมเป็นเหล็ก เดิมจีนไม่ค่อยซื้อวัตถุดิบที่เรียกว่าเหล็กแท่งแบน(Slab) ซึ่งเอามาผลิตเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อน ตอนนี้จีนกว้านซื้อวัตถุดิบเหล็กแท่งแบนตอนนี้ก็ราคาสูง เพราะฉะนั้นเหมือนจะเป็นโอกาส แต่ไม่ใช่โอกาสผู้ผลิตในไทยที่ไม่มีโรงถลุงเหล็กเองเวลานี้ก็หาซื้อวัตถุดิบยาก ตั้งแต่เหล็กแท่งแบน เหล็กแท่งเล็ก(Billet) และเศษเหล็ก หรือซื้อได้ก็ซื้อได้ในราคาสูง เพราะเขาส่งไปจีนได้ราคาดีกว่า อยากได้ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น 2 เท่า

จี้ภาคอุตฯรับมือ “เหล็กโลกขาขึ้น”ยาว

-โรงงานผลิตเหล็กในประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าขาดแคลนวัตถุดิบเหล่านี้

ก็ต้องซื้อ ถ้าไม่ซื้อเราจะไม่เจอปัญหาเหล็กแพงอย่างเดียว แต่จะเจอปัญหาเหล็กขาด  ตอนนี้ผู้ผลิตในประทศก็ต้องจำใจต้องซื้อ ไม่งั้นเราก็จะไม่มีของให้ลูกค้า ก็ต้องนำเข้า

-ตอนนี้จีนก็กว้านซื้อเราจะไปเอาวัตถุดิบจากแหล่งไหน

เราก็ต้องจ่ายราคาพอ ๆ กับที่จีนซื้อ เราถึงจะได้ของ แต่ว่าวัตถุดิบเรามีบ้าง แต่เหล็กแท่งแบนเราไม่มี เราต้องนำเข้า 100% เศษเหล็กในประเทศเราพอมีบ้างปีละ 2 ล้านตันแต่ไม่พอ ต้องนำเข้าอีกประมาณ 2-3 ล้านตัน วัตถุดิบเรามีแค่เศษเหล็ก แต่ว่าอย่างอื่นเราไม่มี ก็ต้องนำเข้า

“ก็เหนื่อยครับ ใครบอกว่าผู้ผลิตเหล็กในประเทศช่วงนี้รวย “ไม่ใช่” เพราะว่า จีนเขาก็ฉลาด ไม่ใช่ซื้อเฉพาะเหล็ก เขาก็ไล่กว้านซื้อวัตถุดิบเช่นกัน”

-ผลกระทบกับอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศ

อุตสาหกรรมก่อสร้างเนื่องจากเขาใช้เหล็กเส้นมากสุด ซึ่งเหล็กเส้นเนื่องจากผู้ผลิตในประเทศมีค่อนข้างเยอะ และมีกำลังการผลิตเหลือเฟือ ที่ผ่านมาเป็นการใช้เหล็กเส้นจากผู้ผลิตในประเทศประมาณเกิน 90%เพราะว่าต้องมีมาตรฐาน มอก.คุ้มครอง สินค้านำเข้าพวกเหล็กเส้นมีไม่ค่อยมาก ถ้าผู้ใช้มีการวางแผนการใช้ล่วงหน้า แจ้งโรงงานผู้ผลิตให้โอกาสเขาไปหาซื้อเศษเหล็กนำเข้าได้ทัน ผมว่าน่าจะรองรับได้

“อย่างไรก็ดีอุตสาหกรรมก่อสร้างผมเชื่อว่ากระทบเฉพาะโครงการที่ผู้รับเหมาไปเซ็นสัญญาไว้แล้ว โดยใช้ราคาเหล็กเดิม ซึ่งเป็นไปได้โดยเฉพาะโครงการภาครัฐ ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงพาณิชย์พยายามเป็นเซ็นเตอร์ประสานขอปรับค่า K ให้สำนักงบประมาณ ลดส่วนเหลื่อมค่าคาดเคลื่อนจากวัสดุที่เพิ่มขึ้น ส่วนเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ  อย่างผม(สหวิริยาสตีลฯ)ป้อนเหล็กให้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยทุกบริษัท บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นเขาก็ซื้อเหล็กจากญี่ปุ่น เขาก็รู้ว่าราคาเหล็กกันแพง เพราะฉะนั้น ต่อเขาไม่ซื้อเหล็กจากผม เขาก็ซื้อเหล็กนำเข้าจากญี่ปุ่น เขาก็รู้ราคามันแพง เพราะฉะนั้นราคาที่เราซัพพลายลูกค้าเขาเข้าใจก็ต้องยอมรับได้ตามกลไกตลาดโลก”

-เวลานี้โรงงานเหล็กในประเทศใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณเท่าไร 

ปีที่แล้วที่เจอโควิดสถาบันเหล็กประเมินการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยภาพรวมเหลือประมาณ 33% ปีนี้ดีมานต์ดีขึ้น บริษัทส่วนใหญ่ก็พยายามเพิ่มกำลังการผลิต ปีนี้ก็มีโอกาสการเพิ่มการใช้กำลังผลิตสูงขึ้น อาจจะขึ้นมาประมาณ 38-39% คงไม่ถึง 40% เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการหาวัตถุดิบ มีข้อจำกัดเรื่องธนาคารให้วงเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบที่แพงขึ้น 2 เท่า แต่ธนาคารยังให้วงเงินเท่าเดิม เราซื้อวัตถุดิบมากขึ้นก็ไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

กรมบัญชีกลาง รื้อราคากลาง หลังราคาเหล็กพุ่งไม่หยุด

เหล็กจีนแพง 200% สะเทือนไทย-สะท้านโลก

ก่อสร้างอ่วม จี้นายกฯรื้อค่า K ราคาเหล็กพุ่ง 80% เมกะโปรเจกต์แบกไม่ไหว

“สหวิริยาสตีล” ชี้ราคาเหล็กจะสูงต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี

รัฐ-เอกชนเร่งแก้ไขปัญหาราคาเหล็ก เล็งจัด Matching – ตรึงราคาจำหน่าย

เปิด 5 แนวทางแก้ปัญหาเหล็กราคาแพง ส.ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย