ราคาน้ำมันร่วง ดับฝัน เปิดสัมปทานปิโตรเลียม

27 เม.ย. 2563 | 06:00 น.

สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่กระทบไปทั่วโลก หลายประเทศ ประกาศใช้มาตรการปิดเมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมบางประเภทต้องหยุดชะงักลง ส่งผลกระทบต่อความ ต้องการใช้นํ้ามันโดยตรง ล่าสุด สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้นํ้ามันโลกหดตัวลงถึง 29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายน 2563 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน เป็นการลดลงตํ่าสุดในรอบ 25 ปี และคาดว่าในปี 2563 ความต้องการจะหดตัวลง 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้การผลิตนํ้ามันอยู่ในภาวะล้นตลาด

บวกกับปัจจัยสงครามราคานํ้ามันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อราคานํ้ามันดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ราคานํ้ามันดิบเวสต์เท็กซัส ลงมาอยู่ที่ 16.50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล นํ้ามันดิบเบรนท์อยู่ที่ 21.33 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และนํ้ามันดิบดูไบ อยู่ที่ 18.29 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งถือเป็นราคาที่ตํ่ามาก เมื่อเทียบกับราคานํ้ามันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2562 อยู่ที่ 63 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

ต้นทุนผลิตสูงกว่าราคาขาย
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตนํ้ามันดิบรายใหญ่ของโลก อย่างสหรัฐอเมริกาที่มีกำลังผลิต 12.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีต้นทุนกว่า 36 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล รองลงมาเป็นรัสเซียผลิตได้ 11.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีต้นทุนผลิต 15-20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และซาอุดีอาระเบีย ต้นทุนผลิตอยู่ที่ 5-9 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนของไทยนั้นมีต้นทุนผลิตนํ้ามันดิบบนบกอยู่ที่กว่า 20 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และในทะเล 20-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

ดังนั้น ด้วยราคานํ้ามันดังกล่าวจะเป็นอีกปัจจัยที่จะมาพิจารณาว่า การประกาศเปิดประมูลให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 จะดำเนินการได้หรือไม่ หลังจากที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุให้เลื่อนการประกาศออกไปจากเดือนเมษายน 2563 และจะมาพิจารณาอีกครั้งหลังโควิด-19 คลี่คลายแล้ว

ราคาน้ำมันร่วง ดับฝัน เปิดสัมปทานปิโตรเลียม

 

 

ใช้ราคาเป็นตัวตัดสินใจ
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากเดิมที่จะมีการประกาศเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 ในเดือนเมษายนนี้ ในพื้นที่ทะเลจำนวน 3 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ 34,873 ตารางกิโลเมตร แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ละประเทศมีการล็อกดาวน์ กระทบต่อการเดินทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้เลื่อนการประกาศออกไป จนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย

 

ส่วนจะประกาศให้ยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 จะดำเนินการได้หรือไม่หลังโควิด-19 จบลงนั้น คงต้องมองปัจจัยของราคานํ้ามันในตลาดโลกเป็นหลัก เพราะหากโควิดฯ จบ แต่ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ก็เป็นเรื่องลำบากที่นักลงทุนจะสนใจเข้ามายื่น เพราะไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

 

“ต้องจับตาดูว่า ราคานํ้ามันในตลาดโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อใด หากราคานํ้ามันดิบยังอยู่ในระดับตํ่าไม่คุ้มกับการผลิต ก็คงไม่มีผู้ประกอบการรายใดมายื่น แม้ว่าทั้ง 3 แปลงจะมีศักยภาพที่จะพบปิโตรเลียมก็ตาม เพราะด้วยราคานํ้ามันที่ตํ่ากว่าต้นทุนผลิต 
ผู้ผลิตที่อยู่ปัจจุบันหรือผู้ได้รับสัมปทานก็เหนื่อยอยู่แล้ว การจะเปิดให้สำรวจและผลิตใหม่เวลานี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน”

 

เปิดประมูลลากยาว 1-2 ปี
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม นํ้ามัน เปิดเผยว่า การจะประกาศเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 23 นี้ คงต้องรอไปอีก 1-2 ปี เป็นอย่างตํ่า เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ โควิด-19 จะจบลงเมื่อใด และความต้องการใช้นํ้ามันจะกลับมาเข้าสู่ภาวะเมื่อใด ท่ามกลางภาวะ นํ้ามันดิบที่ล้นตลาดในเวลานี้

 

ดังนั้น มองว่ากว่าความต้องการใช้นํ้ามันจะกลับมา และส่งผลต่อราคานํ้ามันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นไปได้ และคุ้มกับต้นทุนการผลิตหรือพอมีกำไรได้คงต้องใช้เวลาอีกนาน ที่สำคัญมองว่า หลังโควิด-19 จบลง ธุรกิจต่าง ๆ และอุตสาหกรรมนํ้ามันจะเปลี่ยนไป (New Normal) ส่งผลต่อความต้องการใช้นํ้ามันไม่เหมือนเดิม ซึ่งจะมีผลให้ราคานํ้ามันดิบกลับมาเหมือนปี 2562 ที่ราคานํ้ามันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 63 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คงไม่ง่ายและต้องใช้ระยะเวลานาน ประกอบกับการสำรวจและ ผลิตปิโตรเลียมของไทยมีต้นทุนสูงกว่าผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่ของโลก หากราคานํ้ามันไม่จูงใจก็เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะสนใจเข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิต

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 8 ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563

ราคาน้ำมันร่วง ดับฝัน เปิดสัมปทานปิโตรเลียม