ฮับLNG-ขายหุ้นโออาร์ ภารกิจซีอีโอปตท.คนใหม่สร้างพลังงานฐานราก

19 ธ.ค. 2562 | 10:10 น.

บอร์ดปตท.เคาะแล้ว ตั้ง"อรรถพล" ซีอีโอ คนที่ 10 รับภารกิจ ดิสรัปต์ สานฝัน “สนธิรัตน์” ดันไทยศูนย์กลางซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีของภูมิภาค พร้อมนำพีทีทีโออาร์ เข้าตลาดฯกลางปีหน้า สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ผ่านแผนลงทุน 1.1 ล้านล้าน

 

 

 

ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ปตท.ได้มีการพิจารณาแต่งตั้งนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.หรือซีอีโอปตท.คนใหม่ ที่จะมาแทนนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซึ่งจะครบวาระการทำงานในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 นี้ 

 

รับภารกิจดิสรัปต์

สำหรับการสรรหาซีอีโอคนใหม่ คณะกรรมการสรรหาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยเสียง 5: 0 โดยให้นํ้าหนักกับการขับเคลื่อนองค์กร ปตท.ในอนาคตที่กำลังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (Disruptive technology) ที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท. ไม่ว่าจะเป็น นํ้ามัน โรงกลั่น ปิโตรเคมี และธุรกิจใหม่ที่จะมารองรับการเติบโตของปตท.เป็นสำคัญ และสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงาน ในการบริหารด้านความมั่นคงด้านพลังงาน และต้องดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตลอดจนผู้ถือหุ้น ปตท.ด้วย

ดังนั้น ภารกิจของนายอรรถพล ในการนำพาปตท. ยุค Disruptive technology จึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะตอบโจทย์ให้ครบกับทุกภาคส่วน ภายใต้แผน การลงทุนของกลุ่มปตท.ในระยะ 5 ปี (2563-2567) ที่ตั้งไว้ราว 1.1 ล้านล้านบาท

 

สานฝันฮับแอลเอ็นจี

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับภารกิจของซีอีโอปตท.คนใหม่ จะต้องนำพาปตท.ให้เป็นเสาหลักในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และนำกลไกที่มีอยู่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายก๊าซ LNG ของภูมิภาคอาเซียน (Regional LNG Hub) จากการใช้คลังและสถานีรับ-จ่ายแอลเอ็นจีที่มาบตาพุด ซึ่งจะเริ่มทดลองค้าขาย LNG เชิงพาณิชย์ อย่างเต็มรูปแบบประมาณปลายปี 2563 หรือต้นปี 2564 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จะทำให้ไทยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน เพิ่มการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม และจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยโดยรวมประมาณ 165,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปี (ปี 2563-2573) รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 16,000 คนต่อปี และช่วยลดภาระการส่งผ่านอัตราค่าบริการไปยังค่าไฟฟ้าด้วย

 

ดันโออาร์เข้าตลาดฯ

นอกจากนี้ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จะต้องอาศัยกลไกในการนำบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมชุมชน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ตลอดจนการสร้างมูลค่าร่วมให้เกิดแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล จากการขยายธุรกิจนํ้ามันและค้าปลีกไปสู่ระดับโลก สร้างแบรนด์กาแฟอเมซอน ให้เป็นแบรนด์ของเอเชีย

ฮับLNG-ขายหุ้นโออาร์  ภารกิจซีอีโอปตท.คนใหม่สร้างพลังงานฐานราก

 

ต่อยอดธุรกิจเดิมลุยอีอีซี

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหาร ปตท.เปิดเผยว่า สิ่งที่ซีอีโอปตท.คนใหม่จะต้องนำองค์กรและบริษัทในเครือ เพื่อรับ Disruptive technology และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล น่าจะเป็นการสานต่อยุทธศาสตร์ที่บอร์ดปตท.เคยเห็นชอบไว้ ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การเพิ่มผลผลิต และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการทำงาน

อีกทั้ง การขยายธุรกิจที่กลุ่มปตท.มีความชำนาญ ทั้งก๊าซธรรมชาติและนํ้ามัน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การขยายความสามารถในการรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี และขยายธุรกิจก๊าซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การพัฒนาระบบขนส่ง ของกลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลาย และการมองหาโอกาสในการลงทุนในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ หรือเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ให้เป็นศูนย์กลางงานวิจัยด้านเทคโนโลยี วัสดุ พลังงานทดแทน และดิจิทัล รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ปตท.มีแผนจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อในพื้นที่กว่า 1 พันไร่ ในรูปแบบสมาร์ทซิตี ที่จะเปิดประมูลในปี 2563 นี้

 

มุ่งตอบโจทย์ธุรกิจใหม่

ที่สำคัญการเร่งแสวงหาโอกาสและพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve) เพื่อการเติบโตระยะยาวควบคู่กับการตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 อาทิ โครงข่ายธุรกิจไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งธุรกิจใหม่อื่นๆ เช่น ด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ การลงทุนในรูปแบบสตาร์ตอัพ หรือการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital เพื่อการเติบโตในระยะยาว

สำหรับผู้สมัครชิงตำแหน่งซีอีโอทั้ง 6 คน ประกอบด้วย นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจนํ้ามัน PTT ในฐานะรักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR นางสาวเพียงพนอ บุญกลํ่า
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักกฎหมาย ปตท.และนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3532 วันที่ 19-21 ธันวาคม 2562