เปิดไทม์ไลน์ 1 สัปดาห์เต็มหลังรัฐประหาร เกิดอะไรขึ้นบ้างในเมียนมา 

08 ก.พ. 2564 | 22:16 น.

เหตุใดนักวิเคราะห์จึงมองว่า การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในครั้งนี้ จะทำให้เมียนมากลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ยาก

ไทม์ไลน์ 1 สัปดาห์เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา โลกยังคงจับตา การชุมนุมประท้วงของประชาชน นับหมื่นในหลายเมืองของเมียนมา รวมทั้ง กระแสอารยะขัดขืน ที่อาจเรียกร้องให้รัฐบาลทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามได้ทุกขณะ 

จันทร์ 1 ก.พ. 2564

-ก่อนการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยกองทัพเมียนมาเมื่อรุ่งสางของวันที่ 1 ก.พ. 2564 ซึ่งถือเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบ 59 ปีของกองทัพเมียนมา รัฐบาลพลเรือนซึ่งมีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ของนางอองซาน ซูจี เป็นแกนนำจัดตั้ง มีกำหนดเปิดประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมียนมาชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 แต่การประชุมดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากเกิดรัฐประหารขึ้นเสียก่อน เป็นการรัฐประหารที่อ้างเหตุผลว่ามีการทุจริต-โกงการเลือกตั้งทำให้พรรค NLD คว้าชัยชนะถล่มทลาย และทำให้พรรคการเมืองที่กองทัพให้การสนับสนุน (พรรค USDP) ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน กองทัพอ้างว่าได้ทักท้วงรัฐบาลไปหลายครั้งให้สอบสวนในเรื่องนี้และให้เลื่อนการประชุมสภาไปก่อน แต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยง นำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจในที่สุด

 

-นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีอู วิน มินท์ ถูกทหารพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง หลังจากนั้นพวกเขาถูกกักตัวในบ้านพักของตัวเอง สัญญาณการสื่อสารทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในเมียนมามีปัญหา

 -คณะรัฐประหารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลา 8.00 น. เป็นต้นไป

-สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประธานอาเซียน และอีกหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ประณามการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สหรัฐขู่คว่ำบาตรเมียนมาอีกครั้ง แต่นักวิเคราะห์มองว่า ผลของมาตรการคว่ำบาตรมีจำกัด เพราะผู้นำกองทัพเมียนมาส่วนใหญ่รวมทั้งนายพลมิน อ่อง หล่าย ก็ถูกคว่ำบาตรโดยรัฐบาลชุดก่อนของสหรัฐอยู่แล้ว และหากจะห้ามการทำธุรกรรมหรือการค้าขายใด ๆกับเมียนมา ก็จะกระทบกับภาคเอกชนซึ่งส่งเสียงออกมาแล้วว่า อยากให้รัฐบาลสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบเจาะจงตัวไปที่บรรดาผู้นำกองทัพหรือบริษัทที่พวกเขาชักใยเกี่ยวข้อง มากกว่าการเหวี่ยงแหคลุมกว้าง ๆแล้วกระทบไปทั้งหมด  

 

**นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า การกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งของกองทัพเมียนมานั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ขาดหลักฐานมารองรับ ข้อกล่าวหาทุจริตทุกข้อไม่มีหลักฐาน คล้ายกับการกล่าวหาของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปฏิเสธชัยชนะในการเลือกตั้งของนายโจ ไบเดน แต่ก็ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ข้อกล่าวหาของตัวเอง

พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมา

อังคาร 2 ก.พ.

-กองทัพเมียนมาได้จัดตั้ง “สภาบริหารแห่งรัฐ” นำโดย ผู้บัญชาการทหาร พล.อ.“มิน อ่อง หล่าย” เป็นประธาน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ทำการตัดสินใจในระดับสูงสุดของประเทศในระหว่างการประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีนับจากนี้

-มีการประชุมครม.ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารครั้งแรกที่กรุงเนปิดอว์ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ตั้งโต๊ะแถลงเปิดใจครั้งแรก จำเป็นต้องทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล “อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง” แต่จะจัดเลือกตั้งคืนอำนาจให้ประชาชนหลังรัฐบาลทหารครองอำนาจ 1 ปีภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

พุธ 3 ก.พ.

-กองทัพเมียนมาปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับกุมหลังการรัฐประหารราว 400 คน ซึ่งรวมถึงอดีตส.ส.พรรค NLD พร้อมกับสั่งให้ประชาชนเหล่านี้กลับบ้านไป แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค NLD ซึ่งรวมถึง นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ในบ้านพัก  โดยตำรวจแจ้งข้อหานางซูจี นำเข้าอุปกรณ์สื่อสารผิดกฎหมาย หากผิดจริงมีโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี ศาลสั่งกักตัวนางซูจีเป็นเวลา 14 วัน จนถึงวันที่ 15 ก.พ. เพื่อสอบสวนตามเอกสารของตำรวจ ส่วนนายอู วิน มินท์ ประธานาธิบดีวัย 69 ปี ถูกแจ้งข้อหาในความผิดเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายจัดการภัยธรรมชาติ มีโทษสูงสุด 3 ปี เช่นกัน

-ธนาคารกลางเมียนมา ที่เพิ่งมีการแต่งตั้งนายตาน เย กลับมาเป็นผู้ว่าการฯอีกครั้ง ออกประกาศยืนยันว่า ประชาชนยังสามารถใช้ธนบัตร 5,000 และ 10,000 จ๊าดตามปกติ และสามารถใช้บริการธนาคาร โดยไม่ต้องมีความกังวลใดๆ เนื่องจากธนาคารกลางมีคำสั่งไปยังธนาคารต่างๆให้เปิดดำเนินการตามปกติแล้ว

-พนักงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ราว 70 แห่งใน 30 เมืองทั่วประเทศเมียนมา ได้พากันนัดหยุดงานเพื่อประท้วงการก่อรัฐประหารของกองทัพ

-กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการอารยะขัดขืนแห่งเมียนมา (Myanmar Civil Disobedience Movement) ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพว่า เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

การประท้วงของบุคลากรการแพทย์จากโรงพยาบาลราว 70 แห่ง

พฤหัสฯ 4 ก.พ.

-รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งปิดกั้นการใช้งาน “เฟซบุ๊ก” และสื่อโซเชียลมีเดียอื่น ๆเป็นการชั่วคราว อ้างว่าเพื่อเสถียรภาพความมั่นคง เนื่องจากมีการปล่อยข่าวบิดเบือนและข่าวลวงผ่านช่องทางสื่อเหล่านี้

 

ศุกร์ 5 ก.พ.

-บรรดาอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ออกมารวมตัวกันในเมืองย่างกุ้ง เพื่อแสดงการสนับสนุนนางอองซาน ซูจี รวมถึงสมาชิกระดับสูงคนอื่นๆ ของพรรค NLD ที่ยังคงถูกควบคุมตัว

 

เสาร์ 6 ก.พ.

- กองทัพเมียนมาสั่งผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตปิดกั้นการเข้าถึง “ทวิตเตอร์”และ “อินสตาแกรม” เป็นการเพิ่มเติม (นอกเหนือจากเฟซบุ๊กที่โดนปิดชั่วคราวไปก่อนแล้ว) โดยบริษัท เทเลนอร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของเมียนมายืนยันว่า บริษัทถูกสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงสองแอปพลิเคชันดังกล่าวจนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป

-ประชาชนจำนวนนับหมื่นออกมาเดินขบวนประท้วงเป็นวันแรกในหลายเมืองทั่วประเทศ เรียกร้องการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง

 

อาทิตย์ 7 ก.พ.

-การประท้วงยังคงต่อเนื่องเป็นวันที่สองโดยประชาชนหลายพันคนในเมืองย่างกุ้ง มีการนัดเคาะหม้อตีกระป๋องเพื่อแสดงการคัดค้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาลทหารในช่วงเช้า รวมทั้งการบีบแตรรถยนต์บนท้องถนนซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการขับไล่สิ่งที่ไม่ดี-เป็นอัปมงคล ซึ่งในที่นี้คือรัฐบาลเผด็จการ ทั้งยังเป็นการแสดงออกของอารยะขัดขืน  นอกจากนี้ ยังมีรายงานการชุมนุมขนาดเล็กในเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่นที่เมาะละแหม่ง และมัณฑะเลย์  ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลก็เตรียมพร้อมทั้งรถตำรวจ และรถฉีดน้ำแรงดันสูง

 

จันทร์ 8 ก.พ.

-มวลชนออกมาเดินขบวนประท้วงในท้องถนนเป็นวันที่สาม คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกใน 7 พื้นที่เขตปกครองของเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมารองจากย่างกุ้ง  ห้ามการชุมนุมประท้วงหรือการรวมตัวกันเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และการบังคับใช้เคอร์ฟิวที่ห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานตั้งแต่เวลา 20.00 -04.00 น. ซึ่งเป็นประกาศจากกระทรวงบริหารงานทั่วไปของเมียนมา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังประกาศจัดการกับผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยตำรวจได้ตั้งแนวเตรียมใช้กระสุนจริงท่ามกลางบรรยากาศการประท้วงที่มีมวลชนเข้าร่วมมากขึ้น

 

ห้ามฝ่าแนวกั้น

หวั่นประท้วงบานปลาย

ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งรวมทั้ง เจอราร์ด แม็กคาร์ที นักวิจัยที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า การยึดอำนาจนาน 1 ปีภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่กองทัพประกาศไว้ จะเป็นการโดดเดี่ยวหุ้นส่วนต่างชาติของเมียนมาที่ไม่ใช่จีน ทำลายผลประโยชน์ทางการค้าของกองทัพเองซึ่งมีความเกี่ยวข้องโยงใยในบริษัทต่าง ๆ และมีการลงทุนจำนวนมากในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนทางการค้าแก่กองทัพ ซ้ำยังกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านจากประชาชนหลายล้านคนที่เลือกนางซูจี และพรรค NLD ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แทนที่พรรค USDP ที่กองทัพให้การสนับสนุน (และตกเป็นฝ่ายค้านจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด) จะมีเครดิตดีขึ้นในสายตาประชาชน ผลลัพธ์อาจเป็นตรงข้าม

 

ที่สำคัญคือ เมียนมาอาจถูกคว่ำบาตรและถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกอีกครั้ง เช่นทรรศนะของฟิล โรเบิร์ตสัน แห่งองค์กร “ฮิวแมนไรท์วอทช์” ที่ระบุว่า การทำรัฐประหารและกวาดล้างผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจะทำให้เมียนมาตกอยู่ในอันตรายที่จะกลายเป็น "รัฐที่ถูกนานาชาติคว่ำบาตร" อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็จะสร้างความโกรธแค้นไม่พอใจในหมู่ประชาชน

 

"ผมไม่คิดว่าประชาชนเมียนมาจะยอมรับเรื่องนี้แต่โดยดี พวกเขาไม่ต้องการย้อนกลับไปมีอนาคตอยู่ภายใต้ทหารอีก” โรเบิร์ตสันเชื่อว่า ยังมีความหวังที่สถานการณ์ในเมียนมาจะคลี่คลายด้วยการเจรจา แต่ถ้าเริ่มเห็นว่ามีการประท้วงใหญ่เกิดขึ้น เมื่อนั้นเมียนมาก็จะเข้าสู่วิกฤตครั้งสำคัญ

 

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานฝ่ายกิจการต่างประเทศแห่งประเทศอังกฤษให้ความเห็นว่า การก่อรัฐประหารทำให้เมียนมาอยู่ในจุดที่ไม่อาจกลับไปตั้งต้นใหม่ได้ นอกจากนี้ การประท้วงของประชาชนที่ดำเนินติดต่อกันมาย่างเข้าวันที่ 4 แล้วก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะบานปลาย  และคาดว่าบรรดาประเทศผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยก็อาจไม่สามารถเข้าแทรกแซงสถานการณ์ของเมียนมาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ได้

 

ในส่วนของการเลือกตั้งทั่วประเทศที่ทางผู้นำกองทัพเมียนมาประกาศไว้ว่า อาจจะมีขึ้นในเดือนส.ค.ปีหน้า (2565) นั้น นักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่สุดท้ายแล้วกองทัพจะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งซึ่งล่าสุดนายพลมิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศไว้แล้วว่า จะมีการปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียใหม่ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า นอกจากนี้ การที่พรรค NLD ไร้ซึ่งผู้นำ (นางอองซาน ซูจี นายวิน มินท์ และผู้นำอีกหลายคนของพรรค NLD ถูกควบคุมตัว) ทำให้อาจเกิดความแตกแยกขึ้นภายในพรรค

 

อย่างไรก็ตามประเด็นใกล้ตัวที่น่ากังวลคือ ความเสี่ยงที่การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในขณะนี้จะบานปลายและดำเนินไปจนถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อในที่สุด 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียนมาขู่ใช้กระสุนจริง ประกาศกฎอัยการศึกเมืองมัณฑะเลย์

กองทัพเมียนมาสั่งปิด “ทวิตเตอร์-อินสตาแกรม” ยัน “ซูจี” ยังสบายดี

คณะรัฐประหารเมียนมา ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

คณะรัฐประหารเมียนมา ส่งสัญญาณอาจจัดเลือกตั้ง คืนอำนาจให้ประชาชนกลางปี 65

ไทม์ไลน์ "รัฐประหาร​เมียนมา"​ จากข่าวลือถึงการจับกุม "อองซาน ซูจี”