การบินโลกวิกฤต "ไออาต้า" ชี้สายการบินต้องการเงินช่วยเหลือ2.4ล้านล้านบาท

18 ม.ค. 2564 | 03:45 น.

ไออาต้า เผยสายการบินต่างๆ ทั่วโลก ยังต้องการเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอีกกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ฝ่าวิกฤตโควิด ด้านสายการบินของไทย รับเริ่มหมดซอฟท์โลนจากรัฐ 1.4 หมื่นล้านบาท ดิ้นช่วยตัวเอง วอนรัฐต่อมาตรการเยียวยา

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ระบุว่า สายการบินต่างๆทั่วโลก จำเป็นต้องได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีกราว 7 หมื่น-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้น จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

 

ทั้งนี้จำนวนเงินช่วยเหลือดังกล่าวเป็นงบประมาณช่วยเหลือที่ต้องการเพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินกว่า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปเพื่อช่วยพยุงอุตสาหกรรมการบินไปแล้วก่อนหน้านี้

 

ไออาต้าชี้ว่างบประมาณก้อนใหม่จะช่วยเป็นสะพานข้ามช่องว่างในธุรกิจการบิน ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะนี้จนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งประเมินกันว่าจะเป็นเดือนแรกที่มีการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางด้านการเดินทางลง หลังการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 จะแสดงให้เห็นผลตามที่ทุกฝ่ายคาดหวัง

 

ไออาต้า ยังระบุอีกว่าการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ประกาศมาตรการคุมเข้มการเดินทาง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้เดินทางทั่วโลกลดลง จนทำให้จำนวนผู้เดินทางโดยเครื่องบินลดลงไปถึง 60% ในปีที่ผ่านมา

การบินโลกวิกฤต "ไออาต้า" ชี้สายการบินต้องการเงินช่วยเหลือ2.4ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้เดินทางโดยเครื่องบินในปี 2563 อยู่ที่ 1.8 พันล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ 4.5 พันล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมการบินสูญเสียรายได้ไปแล้วถึง 1.18 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงอีกในอนาคต

 

สำหรับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย  ก็ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ต่างกัน โดยตลอดปี63 ที่ผ่านมาสายการบินเอกชนของไทย จำนวน 8 สายการบินได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ,บางกอกแอร์เวย์ส, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์, นกแอร์,ไทยเวียตเจ็ท,นกสกู๊ตและแอร์เอเชียเอ็กซ์ ได้ขอสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อประคองสภาพคล่องและรักษาการจ้างงานพนักงานกว่า 1.5 หมื่นคน

 

ที่ผ่านมามีการเรียกร้องผ่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไร้คำตอบ โดยสายการบินนกสกู๊ต  ได้ปิดกิจการไปแล้วเป็นสายการบินแรกของไทย แต่สายการบินยังคงร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

 

โดยทั้ง 7 สายการบินที่เหลือ ได้ขอปรับวงเงินการขอซอฟท์โลนใหม่ ลดลงจาก 2.4 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อกันไว้เฉพาะสำหรับการจ่ายเงินเดือนพนักงาน  ตั้งเดือนธันวาคม2563-ธันวาคมปี2564  เพื่อให้สายการบินต่างๆสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง  ซึ่งก็จะทำให้รักษาพนักงานของทั้ง 7 สายการบิน แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยสายการบินต่างๆ ยอมรับว่า คงเลิกหวังการช่วยเหลือซอฟท์โลนจากรัฐบาลแล้ว ต้องช่วยตัวเอง


ไทยแอร์เอเชีย

 

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์  ประธานกรรมการบริหารไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า  การขอสนับสนุนซอฟท์โลนจากรัฐบาล ของกลุ่มสายการบินต่างๆของไทย เพื่อนำมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน ช่วงเดือน ธ.ค.2563 - ธ.ค.2564 วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท  แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ โดยแอร์เอเซีย และสายการบินทั้งหมด ยอมรับว่า คงเลิกหวังกับมาตรการดังกล่าวแล้ว 

 

ปัจจุบันสายการบิน ได้พยายามช่วยเหลือตัวเอง โดยไทยแอร์เอเชีย กำลังเร่งขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมทั้งการระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นกู้ และอีกหลายๆช่องทางโดยการเร่งหาแหล่งเงินทุนนั้น เพื่อให้ทันภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันสภาพคล่องที่บริษัทฯมีอยู่ คงยื้อสถานการณ์ได้ถึงเดือนมีนาคมปีนี้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินได้ลดเงินเดือนพนักงานไป แต่จะต้องมีการเลิกจ้างในอนาคตหรือไม่นั้นในขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไออาต้า ประเมินล่าสุด คาด ธุรกิจการบินโลก ฟื้นตัวเท่าเดิมต้องรอถึงปี67

ไทยแอร์เอเชีย ระดมทุน 3-4 พันล้านกู้ชีพ หมดหวังซอฟท์โลนรัฐบาล

โควิดระลอกใหม่ ทุบแอร์ไลน์พังพาบ วอนรัฐขยายเวลาอุ้ม

7 แอร์ไลน์ ลดซอฟต์โลนเหลือ 1.4 หมื่นล้าน ขอกู้จ่ายเงินเดือนพนักงานข้ามปี

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

 

 

 

นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า สายการบินคงจะไม่ได้รับการสนับสนุนซอฟท์โลนจากรัฐบาล จึงอยากจะร้องขอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องของการลดต้นทุน เนื่องจากหลายมาตรการได้สิ้นสุดไปตั้งแต่สิ้นเดือนธ.ค.63 ไม่ว่าจะเป็นการลดค่านำร่องอากาศยานของบวท. ลง50% หรือแม้แต่การลดค่าแลนด์ดิ้ง 50% และปาร์กกิ้ง90% ของสนามบินต่างๆในสังกัดกรมท่าอากาศยาน จึงอยากให้มีการขยายระยะเวลาต่อมายังปีนี้

 

รวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นลง จากเดิมอัตรา 4.726 บาท/ลิตร เป็น 0.20 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้ ก็อยากให้มีการขยายเวลาออกไปอีก  เพราะโควิดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้ ได้ส่งผลกระทบและซ้ำเติมธุรกิจสายการบิน