เข้าใจระบบการเลือกตั้งสหรัฐ ได้คะแนนโหวตน้อยกว่า ทำไมยังชนะ  

03 พ.ย. 2563 | 06:01 น.

ในปี 2559 โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าเขาจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั่วไปน้อยกว่านางฮิลลารี คลินตัน กว่า 2 ล้านเสียง เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ในระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อ ชาวอเมริกันออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง ในเดือน พ.ย. พวกเขาไม่ได้ลงคะแนนเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน โดยตรง แต่เป็นการไปออกเสียงเลือก "คณะผู้เลือกตั้ง" หรือ Electoral College ที่จะเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในเดือนธ.ค. อีกทีหนึ่ง

 

แต่ละมลรัฐของสหรัฐ มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้น ๆ

 

เข้าใจระบบการเลือกตั้งสหรัฐ ได้คะแนนโหวตน้อยกว่า ทำไมยังชนะ  

จุดชี้ขาดของการเลือกตั้งสหรัฐ จึงอยู่ที่การได้คะแนนจากการโหวตของคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ หากพรรคใดครองรัฐที่มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งสูง (ดังภาพประกอบ) ก็จะมีโอกาสชนะมากกว่า ประกอบกับระบบที่เรียกว่า “ผู้ชนะกินรวบ” (winner-take-all) ที่หากในรัฐนั้น ๆ คะแนนเสียงเทไปยังผู้สมัครของพรรคใดพรรคหนึ่งมากกว่า  ผู้สมัครคนนั้นก็จะได้คะแนนของคณะผู้เลือกตั้งประจำรัฐไปทั้งหมด ไม่มีการแบ่งสัดส่วน ยกเว้นในรัฐเมนและเนบราสกา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจุบันคณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐมีจำนวนทั้งสิ้น 538 คน จำนวนมากน้อยในแต่ละรัฐขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากคณะผู้เลือกตั้ง คือ 270 เสียงขึ้นไป จึงจะได้รับชัยชนะ ได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี

เข้าใจระบบการเลือกตั้งสหรัฐ ได้คะแนนโหวตน้อยกว่า ทำไมยังชนะ  

ในรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าก็จะได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ว่าผู้สมัครจะชนะด้วยคะแนนเสียงประชาชน 99% หรือ 51% ก็จะได้รับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งของรัฐไปทั้งหมด 55 เสียง

 

นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมผู้สมัครอาจได้คะแนนจากผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่า แต่กลับได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากคณะผู้เลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

สิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 5 ครั้งล่าสุด แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประวัติศาสตร์ ดังนั้น การหาเสียงของผู้สมัครจึงมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ในการคว้าคะแนนเสียงในรัฐสำคัญเพื่อดึงคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งให้ได้ถึง 270 เสียง

 

สำหรับคุณสมบัติของคณะผู้เลือกตั้งเหล่านี้ พวกเขาคือประชาชนที่ได้รับการเสนอชื่อจาก 2 พรรคการเมืองหลัก (ซึ่งก็คือพรรครีพับลิกันและเดโมแครต) แต่ละรัฐคัดเลือกโดยมีกฎเกณฑ์ต่างกันไป ก่อนจะได้รับเลือกอย่างเป็นทางการในวันเลือกตั้ง

 

คณะผู้เลือกตั้งถูกคาดหมายให้เป็นเสมือนตรายางรับรองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในรัฐนั้น ๆ แต่ในบางรัฐ คณะผู้เลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้ตามที่ตัวเองต้องการ แต่พวกเขาก็มักจะไม่ทำเช่นนั้น

 

สำหรับเหตุการณ์ในปี 2559 เมื่อคราวที่ทรัมป์ชนะแบบบีบหัวใจคนเชียร์นางฮิลลารี คลินตัน ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปีนั้น ตามรายงานของ Cook Political Report ระบุว่า ในการนับคะแนนบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนโดยประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง หรือ ป๊อปปูลาร์โหวต (Popular Vote) ในเดือนพ.ย.ปีนั้น นางฮิลลารี ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตนำมาแล้วที่ 64.2 ล้านคะแนน เหนือกว่าทรัมป์ราว ๆ 2 ล้านคะแนน เพราะทรัมป์ได้คะแนนตามหลังอยู่ที่ 62.2 ล้านคะแนน

ระบบนี้ทำให้ทรัมป์ชนะนางฮิลลารี คู่แข่งจากเดโมแครต ในการเลือกตั้งปี 2559

 

แต่เนื่องจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนดังกล่าว เป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อมที่จะยึดคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electroral college vote) เป็นสำคัญ โดยผู้สมัครคนใดที่ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตมากที่สุดในรัฐนั้น หรือกวาดเสียงข้างมากในรัฐนั้น ก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไปทั้งหมด

 

ผู้ที่จะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะต้องได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างต่ำ 270 เสียง (หรือเกินกึ่งหนึ่งของ 538 เสียง) จึงทำให้ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะนางฮิลลารี เพราะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งถึง 290 เสียง ขณะที่ฮิลลารีได้เพียง 232 เสียง