เปรียบมวย “นโยบายหาเสียง” ทรัมป์ vs ไบเดน หมัดต่อหมัด

02 พ.ย. 2563 | 07:18 น.

ก่อนขึ้นสังเวียนจริงในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะลั่นระฆังในวันที่ 3 พ.ย.นี้ เรามาดูน้ำหนักหมัดของนโยบายหลัก ๆของทั้งสองฝ่าย มุมแดงคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ในฐานะผู้รักษาตำแหน่ง และมุมน้ำเงิน คือ นายโจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต  

เปรียบมวย “นโยบายหาเสียง” ทรัมป์ vs ไบเดน หมัดต่อหมัด

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

ปธน.ทรัมป์: ในบริบทที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอตัว หรือบางประเทศกำลังเผชิญเศรษฐกิจถดถอย ปธน.ทรัมป์ ยังคงเน้นการสร้างงานภายในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Make America Great Again โดยตั้งเป้าจะสร้างงาน 10 ล้านตำแหน่งภายใน 10 เดือน และส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กให้โตขึ้นอีก 1 ล้านราย ทรัมป์ประกาศจะคงภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ 21% ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกาศอัตราค่าแรงที่ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมง เพื่อให้ธุรกิจคงอยู่ได้ และคนยังมีงานทำ ในส่วนของนโยบายการค้าจะแข็งกร้าวต่อประเทศคู่เจรจา ไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป หรือเม็กซิโก

 

ภายใต้นโยบาย America First ซึ่งทรัมป์ชูมาตั้งแต่เลือกตั้งครั้งที่แล้ว สหรัฐมุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐและบริษัทอเมริกันเป็นหลัก ส่งเสริมการลงทุนและสร้างงานในสหรัฐอเมริกา จึงตีตัวถอยห่างจากระบบการค้าพหุภาคี ที่ล่าช้า และต้องฟังเสียงข้างมาก

 

โจ ไบเดน:  เน้นนโยบายการค้าเสรี ไบเดนประกาศบนเวทีหาเสียงว่า หากได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะเพิ่มภาษีนิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% และจะคงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ระดับเดิม แต่จะหาทางไปเก็บภาษีเพิ่มตรงส่วนอื่นแทนเพื่อหารายได้เข้าคลัง ด้วยความที่เชื่อมั่นในนโยบายการค้าเสรี ไบเดนให้คำมั่นว่าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี สหรัฐจะผลักดันการใช้แนวทางการเจรจาผ่านองค์กรการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐ ไม่ให้เสียเปรียบกับคู่เจรจา นอกจากนี้ เขายังเสนอขึ้นอัตราค่าแรงเป็น 15 ดอลลาร์/ชั่วโมง

 

นโยบายเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของไบเดนมีชื่อว่า "Buy American" เป็นโครงการมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขาวางแผนใช้เงิน 4 แสนล้านดอลลาร์กระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง ผ่านการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ลงทุนกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 5G,  ยานยนต์ไฟฟ้า, พลังงานสะอาด และปัญญาประดิษฐ์ (AI)  เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและกระตุ้นให้เกิดจากจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูงในอุตสาหกรรมดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

นโยบายด้านการต่างประเทศ

ปธน. ทรัมป์: เน้นรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐและบริษัทอเมริกัน ลดการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านเศรษฐกิจและทหารแก่ประเทศต่าง ๆ ลดกำลังพลในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็เร่งเจรจาแก้ไข-ทบทวนข้อตกลงการค้าที่สหรัฐเคยทำไว้แต่ทรัมป์เห็นว่า สหรัฐเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ดังนั้น ทรัมป์จึงยกเลิกแผนเข้าร่วมภาคีข้อตกลง TPP และรื้อข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ที่ทำไว้กับเม็กซิโกและแคนาดา  ทรัมป์ยังเดินหน้าเจรจาการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สหรัฐเสียเปรียบดุลการค้า โดยเฉพาะกับจีน ที่มีการตั้งกำแพงการค้าสินค้าจีนมากขึ้น และแม้จะมีการทำข้อตกลงการค้าเฟส 1 กับจีนแล้ว แต่สหรัฐก็ยังคงยืนกรานท่าทีเดิมว่า สหรัฐจะต้องไม่เสียเปรียบอีกต่อไป   

 

โจ ไบเดน: ไบเดนมองว่า การใช้นโยบายแข็งกร้าวกับประเทศคู่ค้าทำให้สหรัฐอเมริกาถูกโดดเดี่ยว และสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำในระบบการค้าเสรี และนั่นก็เปิดโอกาสให้จีนเข้ามีบทบาทโดดเด่นแทนที่ ไบเดนชูนโยบายที่สหรัฐต้องมีบทบาทผู้นำในการรักษาสันติภาพของโลก พร้อม ๆไปกับการรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติดเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2020

ถอดรหัสจากโพล: คนกลุ่มไหนเทใจหนุน “ไบเดน”

“โควิด” ปัจจัยทุบคะแนนนิยม ปธน.ทรัมป์ หนักที่สุด

 

บนเวทีหาเสียง ไบเดนให้คำมั่นว่า เขาจะเพิ่มงบประมาณความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและด้านการทหารให้กับชาติพันธมิตรของสหรัฐ

เปรียบมวย “นโยบายหาเสียง” ทรัมป์ vs ไบเดน หมัดต่อหมัด

นโยบายรับมือโควิด-19

ปธน. ทรัมป์ : ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปธน. ทรัมป์ คัดค้านมาตรการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ จึงมุ่งเน้นการกลับมาเปิดประเทศ เปิดระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นตอน ทรัมป์ย้ำว่า การเปิดเศรษฐกิจคือสิ่งจำเป็นต่อประเทศ มากกว่าการควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมอัดฉีดงบประมาณให้กับโครงการทดลองวิจัยวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นเงินถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 310,000 ล้านบาท) นอกจากนี้ ยังให้งบสนับสนุนรัฐต่าง ๆในการรับมือกับโควิด-19 แต่เนื่องจากรัฐบาลออกตัวค่อนข้างล่าช้า ทำให้การแพร่ระบาดลุกลามออกไปมากแล้ว และปัจจุบัน สหรัฐก็ยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงที่สุดในโลก

 

ตัวปธน. ทรัมป์เองก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย น้อยครั้งที่เขาจะปรากฏตัวพร้อมกับการใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐยอมรับว่าเขาเองพร้อมทั้งนางเมลาเนีย สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ก็ติดโควิดเข้าให้แล้ว อย่างไรก็ตาม ทรัมป์รักษาหายและออกเดินสายหาเสียงต่อในเวลาอันรวดเร็ว และมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยออกสื่อมากขึ้น

 

โจ ไบเดน: สวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่ออยู่ในที่สาธารณะและเวลาออกหาเสียง ข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิดสูง ทำให้ไบเดนมักหยิบประเด็นนี้ ขึ้นมาโจมตีปธน.ทรัมป์ ซึ่งจุดอ่อนที่สุดที่เขาพูดถึงเสมอก็คือ รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการรับมือ เชื่องช้า และประเมินความร้ายแรงของโรคต่ำไป  ทั้งนี้ เขาเองประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาโควิด-19 ด้วยแผนจัดตั้งโครงการในระดับประเทศเพื่อตามรอยการแพร่ระบาดบาดของโรค ตั้งศูนย์ตรวจโรคอย่างน้อย 10 แห่งในแต่ละมลรัฐ โดยให้ชาวอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิดฟรี เขาสนับสนุนมาตรการเว้นระยะห่างและการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดในสถานที่สาธารณะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

 

นโยบายผู้อพยพ-คนเข้าเมือง

ปธน.ทรัมป์: นโยบายต่อต้านผู้อพยพอย่างแข็งกร้าวเพื่อรักษาการจ้างงานไว้ให้คนอเมริกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชายแดน เป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ในระยะหลัง ๆท้ายช่วงการดำรงตำแหน่งในสมัยแรก ทรัมป์พยายามผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม แต่ก็ต้องพบกับอุปสรรคทางรัฐสภา เมื่อพรรคเดโมแครตมีคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทน ทำให้รัฐบาลรีพับลิกันออกกฎหมายต่าง ๆได้อย่างยากลำบากมากขึ้น  หลายเรื่องยังติดค้างอยู่ อาทิ การสร้างกำแพงกั้นระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก และการขับไล่บุตรหลานของผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ ทรัมป์ประกาศว่าถ้าเขาชนะการเลือกตั้งได้กลับเข้าไปทำงานอีกสมัย เขาจะพยายามผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้สำเร็จให้ได้ภายในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2

 

โจ ไบเดน: ให้สัญญาว่าเขาจะยกเลิกทุกนโยบายที่ทรัมป์เคยดำเนินการเอาไว้หรือพยายามจะดำเนินการอยู่ และเขายังไม่เห็นด้วยกับบางนโยบายที่กลุ่มซ้ายจัดในพรรคเดโมแครตเสนอขึ้นมา เช่น การยุบสำนักงานควบคุมการอพยพและการเข้าเมือง หรือการยกเลิกโทษอาญาการลักลอบข้ามชายแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต

นโยบายด้านสีผิว-ความเหลื่อมล้ำ-การเหยียดเชื้อชาติ

ปธน.ทรัมป์: ทรัมป์รับมือกับการลุกฮือประท้วงของคนผิวดำทั่วสหรัฐได้ไม่ดีนักกรณีเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของนายจอร์จ ฟลอยด์ นอกจากจะออกมาใช้ถ้อยคำรุนแรงเรียกผู้ชุมนุมแล้ว ยังขู่จะใช้ความรุนแรงเข้ากำราบผู้ชุมนุม ทรัมป์เลือกที่จะเห็นอกเห็นใจและเข้าข้างฝ่ายตำรวจ โดยระบุว่าบ้านเมืองจะสงบสุขได้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเชื่อว่าตำรวจต้องใช้ความรุนแรงบ้างเมื่อถึงคราวจำเป็น

 

ทรัมป์สัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ตำรวจ สนับสนุนการจ้างตำรวจเพิ่ม และผลักดันกฎหมายเพิ่มโทษจำคุกอาชญากรชนิดรุนแรงให้นานขึ้น

 

โจ ไบเดน: ไบเดนเลือกที่จะยืนหยัดอยู่เคียงข้างกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว เขาต้องการหยิบยื่นความยุติธรรมให้กับคนผิวสี โดยเสนอนโยบายแก้ไขปัญหาหลายอย่างที่มักจะเกี่ยวเนื่องกับคนผิวสีและชนกลุ่มน้อย เช่น เรื่องของคดีอาญา นโยบายให้ถือว่าผู้เสพติดเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร ลดบทลงโทษของการมียาเสพติดในครอบครอง และเสนอให้มีระบบประกันตัวระหว่างสู้คดีโดยไม่ต้องใช้เงินสด

 

นโยบายสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก

ปธน. ทรัมป์: ทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐจากความตกลงปารีสว่าด้วยการลดปัญหาโลกร้อน เขาเน้นสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการยึดมั่นกับประเด็นสิ่งแวดล้อม รัฐบาลของปธน.ทรัมป์ จึงประกาศเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลแม้ว่าทั่วโลกจะเดินทางไปในทิศทางที่สวนกันก็ตาม ทรัมป์มองว่า น้ำมันปิโตรเลียม มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ

 

โจ ไบเดน: ไบเดนลั่นวาจาสวนทางกับปธน.ทรัมป์ในเรื่องนี้ เขาประกาศว่า ถ้าชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาจะนำประเทศกลับเข้าสู่ความตกลงปารีสว่าด้วยการลดปัญหาโลกร้อน ที่สำคัญคือ ไบเดนมองว่า สหรัฐต้องคงบทบาทความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ขึ้นมาทดแทนอุตสาหกรรมพลังงานน้ำมัน เขาประกาศเป้าหมายว่า หากได้เป็นรัฐบาล สหรัฐจะเป็นประเทศที่ยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอน (อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์) ภายในปี พ.ศ. 2593 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า ไบเดนจะห้ามการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตที่ดินสาธารณะ และมีแผนลงทุนกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

เปรียบมวย “นโยบายหาเสียง” ทรัมป์ vs ไบเดน หมัดต่อหมัด

เปรียบมวย “นโยบายหาเสียง” ทรัมป์ vs ไบเดน หมัดต่อหมัด

- - - - - - - - - - - -

ในเบื้องต้นนั้น นักวิเคราะห์ในตลาดเงินตลาดทุนคาดหมายว่า การปรับตัวลดลงของราคาในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกในช่วงขณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ลงทุนส่วนใหญ่คาดเดาว่า นายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต จะมีชัยชนะเหนือ ปธน.ทรัมป์ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่วิเคราะห์จากนโยบายของนายโจ ไบเดน ว่าจะเป็น “ผลลบ” ต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่าจะเป็นบวก เพราะไบเดนมีแผนปรับขึ้นภาษีและมีมาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ชัยชนะของนายไบเดนก็น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน-พลังงานสะอาด

 

นอกจากนี้ หากนายไบเดนเป็นฝ่ายชนะจริง ก็จะเป็นโอกาสเชิงบวกต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชีย ที่อาจสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากท่าทีประนีประนอมของนายไบเดน เป็นการเปิดโอกาสร่วมมือกับประเทศแถบเอเชียเพื่อคานอำนาจกับประเทศจีน แทนที่จะใช้นโยบายภาษีที่เป็นชนวนสงครามการค้าที่ปะทุขึ้นมาในยุคสมัยของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์