5 กลยุทธ์ควบคุมอารมณ์

08 ก.พ. 2564 | 13:32 น.

ความเติบโตทางอารมณ์ (EQ) เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำหรือผู้บริหาร คนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่ใช่คนที่ไม่แสดงออกทางอารมณ์เลย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนเก็บกด


“อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป กล่าวว่า การมี EQ ที่ดี คือการมีความสามารถในการบริหารจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม โกรธ ก็ให้รู้ว่าโกรธ แต่ไม่ใช่โมโหโกรธาเหมือนคนบ้า ดีใจก็ให้รู้ว่าดีใจ ไม่ใช่ดีดดิ้นจนเป็นคนเสียสติ

วิธีการในการบริหารจัดการอารมณ์ที่ดี ประกอบด้วย

หมั่นสำรวจสภาพจิตใจของตนเองเสมอๆ (Curious About Our Own Mind) ว่าระยะหลังๆ มานี้ เราเริ่มมีนิสัยอะไรที่ไม่ดี เพิ่มมากขึ้นหรือไม่ วิธีการสำรวจไม่ยาก ลองฟังความเห็น (Feedback) จากคนรอบข้างดู ถ้ามีคนเริ่มพูดว่า “หมู่นี้…” เช่น “หมู่นี้อารมณ์ไม่ค่อยดีนะ” แสดงให้เห็นว่า เราชักจะหงุดหงิดมากขึ้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มีคนเริ่มพูดว่า เราเป็นคน “ขี้…” เช่น “ทำไมขี้โมโหจัง” แบบนี้ แสดงว่าแย่แล้ว

พยายามบริหารความคาดหวังให้ดี (Keep our Expectations in Check) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อารมณ์ไม่ดี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แนวทางการแก้ปัญหาให้ได้ผล คือ การจัดการความคาดหวังของตนเอง เพราะเป็นส่ิงที่ควบคุมได้ ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้น มักเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยากกว่า
ทำความเข้าใจในความรู้สึกเจ็บปวดหรือความไม่พอใจที่เกิดขึ้น (Compassionate with our Suffering) อันที่จริงไม่มีสิ่งใดๆ ในโลกนี้ที่ทำให้เราสุขหรือทุกข์ได้ เพราะความสุขความทุกข์อยู่ที่ใจเราคิด เช่น คนมายืนด่า ถ้าเราไม่คิด ก็ไม่เจ็บปวด รถคันอื่นขับปาดหน้า ถ้าเราไม่คิด ก็ไม่เคียดแค้น เป็นต้น ทำใจร่มๆ แล้วทุกอย่างจะผ่านไป

เมื่อมีอารมณ์ พูดด้วยภาษาที่เป็นปกติ (Talk About Emotions in Plain Language) เราไม่ใช่พระอิฐพระปูน ย่อมต้องมีความรู้สึกเป็นธรรมดา แต่ไม่ว่าจะดีใจหรือเสียใจ มีความสุขหรือกำลังโกรธจัด ถ้าจำเป็นต้องพูด ให้ระมัดระวังคำพูด พูดด้วยนำ้เสียงและภาษาที่เป็นปกติ จะทำให้ผลกระทบในทางที่ไม่ดี ลดลงได้รับผิดชอบในการกระทำของเรา (Take Responsibility for our Actions)

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในขีวิต เรามีส่วนทำให้มันเกิดขึ้นทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย จงยอมรับความจริง หยุดโทษคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ยอมรับผิดและนำกลับไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน อันที่จริง ดูเหมือน “พูดง่าย ทำยาก” แต่ถ้าเริ่มต้นลงมือทำ วันละนิดละหน่อย ก็จะค่อยๆ เห็นผลในไม่ช้า