Feedback ตรงไปตรงมา ไม่โกรธ แถมได้งาน แบบ Netflix

07 ก.พ. 2564 | 07:27 น.

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องมีการสื่อสารและอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กร การพูดคุยเจรจาถือเป็นเรืื่องปกติ โดยเฉพาะในการทำงาน ต้องมีการพูดคุย แสดงความคิดเห็น รวมถึงมีการ Feedback โดยเฉพาะระหว่างหัวหน้ากับทีมงาน หรือระหว่างเพื่อนร่วมงาน โดยพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี จะเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ และรับ Feedback ได้อย่างดี และตรงประเด็น

หากแต่ การให้ Feedback ก็ต้องมีเทคนิคกันนิด เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งและทำให้งานเดินหน้าไหลลื่น “อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา” ผู้ก่อตั้ง และกรรมการบริหาร สลิงชอท กรุ๊ป บอกว่า มีโอกาสอ่านหนังสือที่กำลังเป็น Talk of the Town ในขณะนี้ ชื่อ No Rules Rules เขียนโดย รีด เฮสติ้งส์ CEO ของ Netflix ที่บอกเล่าประสบการณ์และเคล็ดลับในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

รีด เล่าถึงวัฒนธรรมหนึ่งที่สำคัญใน Netflix คือ การพูดกันอย่างตรงไปตรงมาและขอข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) กันอย่างสม่ำเสมอ เทคนิคในการให้และรับ Feedback ของ Netflix ประกอบด้วย A จำนวน 4 ตัว (2 ตัวแรก สำหรับการให้ Feedback และ 2 ตัวหลัง สำหรับการรับ Feedback)

A - Aim to Assist : การให้ Feedback ทุกครั้ง ต้องมีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ผู้ได้รับ Feedback ดีขึ้น ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากขึ้น (คนไทยรู้มานานแล้ว เรียกว่า ติเพื่อก่อ)

A - Actionable : การให้ Feedback ที่ดี ต้องมีคำแนะนำที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การตำหนิอย่างเดียว โดยไม่มีเสนอแนะนำว่า ถ้าต้องการทำให้ดีขึ้น ควรทำอย่างไร ถือเป็น Feedback ที่ไม่มีคุณภาพ

A - Appreciate : เมื่อได้รับ Feedback ให้กล่าวคำขอบคุณ ไม่ว่าจะชอบ Feedback นั้นหรือไม่ และไม่ว่า Feedback นั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือเข้าใจผิด ก็ตาม ... เราขอบคุณที่เขาให้ Feedback ไม่ได้ขอบคุณเพราะ Feedback ดีหรือไม่ดี

A - Accept or Discard : เป็นสิทธิ์ของผู้ได้รับ Feedback ว่าจะรับและนำกลับมาปรับปรุง หรือทิ้งไปเลย ก็ได้

ช่วงต้นปี เป็นโอกาสอันดี ที่จะให้และรับ Feedback จากคนรอบข้างที่ทำงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้อง

ถ้ายังไม่ได้ทำ รีบเลย วันนี้ !