พระราชกรณียกิจด้านศาสนา-การศึกษาของในหลวง ร.10

22 ก.ค. 2563 | 20:05 น.

พระราชกรณียกิจทางการพระศาสนา-การศึกษาของในหลวง ร.10

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้ ร่วมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "ในหลวง รัฐกาลที่ 10"

 

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวม พระราชกรณียกิจด้านศาสนา และด้านการศึกษา ของพระองค์ท่านมานำเสนอ

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ อาทิ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายกฐินหลวงตามวัดต่างๆตั้งแต่พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ

 

ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงผนวช เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ซึ่งระหว่างทรงผนวช พระองค์ก็ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

 

พระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาอื่น ๆ อาทิ เป็นองค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ ณ เขาชีจรรย์ ตำบลจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ  50 ปี พุทธศักราช 2559 และเพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

"จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" โครงการพระราชทานของในหลวง ร.10

พระราชปณิธาน ในหลวง ร.10 “ด้านการกีฬา”

พระราชกรณียกิจ “ด้านการเกษตร” ของ "ในหลวง ร.10"

พระราชกรณียกิจ "ทางการแพทย์-สาธารณสุข" ของ ในหลวง ร.10

 

ตลอดจนเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการดำเนินการก่อสร้าง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุเพื่ออัญเชิญประดิษฐานในพระอุระของพระพุทธรูปแกะสลัก โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน พุทธศักราช 2538 ขณะพระองค์ดำรงพระอิศริยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธี บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนเริ่มโครงการจัดการสร้างพระพุทธรูปเขาชีจรรย์ และวันพุธที่ 24 มกราคม 2539 เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงกดปุ่มระเบิดหินแกะสลักลายเส้นพระพุทธรูปเขาชีจรรย์เป็นปฐมฤกษ์

 

พระองค์ได้ทรงทำการบินเที่ยวบินมหากุศล ในตำแหน่งนักบินที่ 1 เที่ยวบินพิเศษของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นำคณะพุทธศาสนิกชนไปสักการะปูชนียสถานสำคัญ และยังทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ทางศาสนาอีกมากมาย พระองค์ยังเป็นผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เปิดงานเมาริดกลางของศาสนาอิสลาม และร่วมกิจกรรมส่งเสริมคริสต์ศาสนา ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และศาสนาซิกซ์ เป็นต้น

 

สำหรับพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงทราบดีว่า เยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 โรงเรียน ได้แก่

1.โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดนครพนม 2.โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดกำแพงเพชร 3.โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี 4.โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดอุดรธานี 5.โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี จังหวัดสงขลา และ 6.โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ฉะเชิงเทรา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เอง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์  พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียน ทรงติดตามผลการศึกษา และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และหม่อมเจ้าสิริวัณวรี พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่างๆ เสมอทั้งนี้ด้วยน้ำพระหฤทัยที่ทรงพระเมตตาห่วงใยเยาวชนผู้ด้อยโอกาส

 

นอกจากนี้ในด้านอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ปีละเป็นจำนวนมากทุกปี ในปี พ.ศ. 2552 ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ยากไร้แต่เรียนดี ความประพฤติดี ให้ได้ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ต่อเนื่องไปจนจบปริญญาตรี และจนถึงขั้นสูงสุดตามความสามารถของผู้รับทุน เพื่อเป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีคุณภาพ และทรงเน้นย้ำว่า เมื่อทําโครงการมาแล้ว จำเป็นต้องศึกษา ติดตาม และพัฒนาแผนในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง การทำงานที่ได้ผล ต้องศึกษาข้อมูล มีการปรับแผนให้ทันสมัย และมีความใส่ใจที่จะทำงานต่อเนื่อง

 

ที่มา คณะกรรมการกฤษฎีกา