"จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" โครงการพระราชทานของในหลวง ร.10

21 ก.ค. 2563 | 20:00 น.

ในหลวง ร.10 พระราชทานโครงการ "จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสมัครสมานสามัคคี สร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ไม่หวังสิ่งตอบแทน

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้ ฐานเศรษฐกิจ ชวนคนไทยร่วมเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว "ในหลวง รัฐกาลที่ 10" 

 

จากโครงการ “จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร.” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย ปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ โดยคำนึงถึงความอยู่ดีมีสุขของราษฎรเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบรมราชชนกที่ได้ทรงพระราชทานไว้เป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศ ต่อมาทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อใหม่เป็น "โครงการจิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ" โดยพระราชทานโครงการดังกล่าวเพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรชาวไทยทุกคน มีความเสียสละ และความสมัครสมานสามัคคี ในการสร้างสรรค์ความดี เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ

 

ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วมในเขตชุมชน ปัญหาการจราจร และอื่นๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิต ได้เปิดให้ประชาชนทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ”ปรากฏว่า  มีประชาชนสมัครเข้าร่วมจำนวนมากจนเสื้อยืดคอโปโลสีดำ “ธ สถิตในดวงใจไทยนิรันดร์” ที่พระราชทานให้ประชาชนจำนวน 770,000 ตัว ถูกแจกจ่ายจนหมด ซึ่งหมายความว่า มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 770,000 คน และอาจจะถึง 1 ล้านคน เพราะมีประชาชนอีกมากที่เข้าร่วมโครงการแม้จะไม่ได้รับเสื้อ ถือเป็นโครงการที่มีประชาชนเข้าร่วม และประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง

 

สำหรับ จิตอาสาตามพระราโชบาย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 

1. จิตอาสาพัฒนา ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่ทำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญ สาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทำได้ตลอดเวลา สามารถแบ่งตามภารกิจงานออกเป็น 8 กลุ่มงาน ดังนี้

 

-จิตอาสาพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง ประชามีสุข หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อาทิ การขุดลอกคูคลอง การดูแลรักษา ความสะอาดเรียบร้อยของศาสนสถาน หรือสถานที่สาธารณะ การจัดเก็บผักตบชวา การปลูกต้นไม้ รวมทั้งการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่สร้างความเป็นอยู่ของ ชุมชนให้เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

 

-จิตอาสางานประดิษฐ์และเผยแพร่งานศิลปาชีพ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่นำความรู้ทางด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน/ภูมิ ปัญญาท้องถิ่น มาเผย แพร่ และถ่ายทอดเพื่อให้ประชาชนนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาให้เป็นประโยชน์ต่อไป

 

-จิตอาสาฝ่ายกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ปฏิบัติงานสนับสนุนในการจัดงานหรือกิจกรรมการแสดงและมีนิทรรศการ เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและเผยแพร่กิจกรรมจิตอาสาฯ เช่น กิจกรรมการแสดงดนตรีบริเวณพระลานพระราชวังดุสิต การจัดงานอุ่นไอ รัก คลายความหนาว งานเถลิงศกสุขสันต์มหาสงกรานต์ตำนานไทย เป็นต้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระราชปณิธาน ในหลวง ร.10 “ด้านการกีฬา”

พระราชกรณียกิจ “ด้านการเกษตร” ของ "ในหลวง ร.10"

พระราชกรณียกิจ "ทางการแพทย์-สาธารณสุข" ของ ในหลวง ร.10

มท.เตรียมจัดกิจกรรม “จิตอาสาวิถีใหม่” เฉลิมพระเกียรติ “ในหลวง ร.10”

 

-จิตอาสาฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ปฏิบัติงานสนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ พยาบาล รวมถึงช่วยอำนวย ความสะดวกด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ

 

 

-จิตอาสาฝ่ายทะเบียนและข้อมูล หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาลงทะเบียนจิตอาสาฯ

 

-จิตอาสาฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่สนับสนุน อำนวยความสะดวก ดูแลความเรียบร้อย จัดหาหรือบริการอาหาร น้ำดื่ม ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรม/จิตอาสาที่เข้าร่วมปฏิบัติงาน

 

-จิตอาสาฝ่ายประชาสัมพันธ์ หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่ช่วยงานประชาสัมพันธ์และให้บริการข้อมูลการจัดกิจกรรมจิตอาสาฯรวมถึงช่วยดูแลต้อนรับ ประชาชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรม

 

-จิตอาสาฝ่ายรักษาความปลอดภัยและจราจร หมายถึง กลุ่มงานจิตอาสาที่สนับสนุนและช่วยอำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชนการแนะนำ เส้นทางการแจ้งอุบัติเหตุการจราจรให้เจ้าพนักงานทราบ

 

ตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จและเห็นเป็นรูปธรรมอย่างมาก เช่น โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองเปรมประชากร,โครงการจิตอาสาพัฒนา คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ และโครงการท่อลอด ถนนวิภาวดีรังสิต

 

2.จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพระราชพิธี หรือการรับเสด็จ ในโอกาสต่างๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาร่วมปฏิบัติกับ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงานรวมทั้งการเตรียมการ การเตรียมสถานที่และการฟื้นฟูสถานที่ภายหลัง การปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จฯ นั้นๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

ภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทย เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงโปรดให้เปิดรับสมัคร โครงการ “จิตอาสาเฉพาะกิจ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” ขึ้น ด้วยเพราะทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และทรงรับรู้จากพระราชหฤทัยของพระองค์ถึงพลังแห่งคุณค่าของความรัก ความศรัทธาเทิดทูนและความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า

 

ดังนั้น เพื่อทรงสนองตอบต่อความรัก และน้ำใจอันประเสริฐสุดของประชาชนทั้งหลาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมถวายความอาลัยรัก น้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในห้วงเดือนตุลาคม 2560 เพื่อเป็นการรวมพลังความรักอันมีค่า รวมพลังน้ำใจของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่จะน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนเสด็จสู่สวรรคาลัย

 

ปรากฏว่า ระหว่างวันที่ 1-30 กันยายน ประชาชนไทยทั่วประเทศและที่พำนักอยู่ต่างประเทศ สมัครเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจฯ เพื่อปฏิบัติงานตามความสามารถและความสมัครใจ โดยแบ่งงานเป็น 8 ประเภท ได้แก่ งานดอกไม้จันทน์, งานประชาสัมพันธ์,งานโยธา, งานขนส่งเพื่อความปลอดภัยของประชาชน, งานบริการประชาชน, งานแพทย์, งานรักษาความปลอดภัย และงานจราจร มียอดรวมผู้สมัครจิตอาสาเฉพาะกิจฯ ทุกประเภท นับตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2560 รวมทั้งสิ้น 4,006,825 คน ที่ได้ร่วมปฏิบัติเป็นจิตอาสาเฉพาะกิจ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 อย่างสมพระเกียรติงดงามตามราชประเพณี

3. จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้า ตรวจ เตือน และเตรียมการรองรับภัยพิบัติทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวมและการเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติ ดังกล่าว เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น

 

ภาพเหตุการณ์ที่ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับจ้องประเทศไทยอีกครั้งเมื่อเกิดปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง-น้ำขุนนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งนอกเหนือจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจไปยังครอบครัวผู้ประสบภัยทุกคนแล้ว มีอาสาสมัครในโครงการจิตอาสา ทำความดีด้วยหัวใจ ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือตามที่ถูกร้องขออย่างเต็มที่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน อาหาร เครื่องดื่มแก่จิตอาสาและผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จโดยสวัสดิภาพ และเมื่อปฏิบัติการกู้ชีวิตประสบความสำเร็จ

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชกระแส ความว่า “น่าชื่นชมยินดียิ่งนัก ที่ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย และไม่มีผู้ใดคาดคิด ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ จึงต้องกระทำอย่างปัจจุบันและเร่งด่วน แต่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม และทุกภาคส่วนก็ระดมสรรพกำลังกันมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ต่างยอมเสียสละกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์ และยอมสละแม้ชีวิตของตน

 

ส่วนผู้ประสบภัยนั้นต่างก็ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ ประกอบกับการที่ประชาชนทั่วโลกก็ส่งกำลังใจมายังผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างท่วมท้น จึงกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้แม้จะมีความยากลำบาก แต่ก็มีสิ่งที่ดีและมีคุณค่าบังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจประมาณได้

 

ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกคนทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การบริหารจัดการที่ดี การใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ให้พอเหมาะพอดีกับสถานการณ์ การปฏิบัติตนและปฏิบัติการอย่างรอบคอบ มีวินัย มีสติ ตลอดจนการรู้หน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ให้ประสานส่งเสริมกับทุกคนทุกฝ่ายโดยเต็มกำลัง เป็นครื่องมืออย่างสำคัญ ที่จะสามารถนำไปใช้แก้ไขอุปสรรคปัญหา รวมทั้งพัฒนาบ้านเมืองของเราได้ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อกันนั้น เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกยั่งยืนตลอดไป”

 

ขณะที่จิตอาสาอีกกว่า 4,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนในพื้นที่ต่างช่วยกันทำความสะอาด บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ถ้ำหลวง เพื่อคืนความสมบูรณ์ของวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อีกด้วย
 

 

ปัจจุบันคนไทยได้เห็นภาพของ จิตอาสา สวมหมวกสีฟ้า ผูกผ้าพันคอสีเหลืองพระราชทานกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ผ้าพันคอสีเหลืองเป็นสีประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ส่วนด้านหลังผ้าพันคอมีตราพระปรมาภิไธยย่อ “ว.ป.ร.” หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและหมวกจิตอาสาสีฟ้า เป็นสีประจำพระชนมวารของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งหน้าหมวกมีภาพวาดฝีพระหัตถ์ เราทำความดี ด้วยหัวใจ โครงการจิตอาสา “ทำความดีด้วยหัวใจ”ได้ขยายตัวออกไปทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา หน่วยราชการในพระองค์