"ชัชชาติ"แนะใช้รายได้ Non-Fare กดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ถูกลง

02 ก.พ. 2564 | 01:20 น.

"ชัชชาติ"แนะใช้รายได้จากกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือ Non-Fare กดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าให้ถูกลง

รายงานข่าวระบุว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตร่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) โดยมีข้อความว่า เรื่องอัตราค่าโดยสารใหม่ของ BTS คงเป็นเรื่องกังวลใจของพวกเราหลายๆคน เพราะจำนวนคนที่ใช้รถไฟฟ้า BTS ก่อนโควิด มีถึงเกือบ 700,000 คนเที่ยวต่อวัน

              มีทางไหนไหม ที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง?

              วิธีหนึ่งที่หลายๆประเทศในโลกใช้กัน คือ เพิ่มรายได้ในส่วนของ Non-Fare

              รายได้จากกิจการรถไฟฟ้าหรือ กิจการขนส่งทั่วๆไป เราอาจมีรายได้ในสองรูปแบบคือ

              1. Fare Revenue รายได้จากค่าตั๋วโดยสาร

              2. Non-Fare Revenue รายได้จากกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ ประโยชน์จากการเชื่อมต่อสถานี

รายได้จากกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องของรถไฟฟ้า

              จำนวนผู้โดยสารที่ผ่านระบบมากถึง 700,000 คน-เที่ยวต่อวัน ทำให้พื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้า ในขบวนรถไฟฟ้า ราวจับ รวมถึงรอบตัวรถไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเสาโครงสร้างรถไฟฟ้า มีมูลค่าสำหรับการโฆษณาสูงมาก

เราคงจะไม่เห็นพื้นที่ไหนที่มีการโฆษณามากเท่ากับพื้นที่ในสถานีรถไฟฟ้าแล้ว

              อย่างในกรณีของ MTR ของฮ่องกง ในปี 2017 มีรายได้จาก Fare Revenue 63% และ Non-Fare Revenue 37%

              สำหรับในส่วนของกทม. ผมเชื่อว่าถ้าเราบริหารจัดการให้ดี ดูแลผลประโยชน์ของประชาชนให้ดี เราสามารถนำรายได้ในส่วนของ Non-Fare มาช่วยเสริมรายได้จากค่าโดยสารอีกไม่น้อยกว่า 20%

              จากข้อมูลของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เราพอจะหารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อเปรียบเทียบคร่าวๆได้ดังนี้

              รายได้จากค่าโดยสารของรถไฟฟ้า BTS ในส่วนสายหลักระยะทาง 23.5 กิโลเมตร (สายสุขุมวิท จากสถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุชและสายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติถึงสถานีสะพานตากสิน) ในปี 2562-2563 เก็บค่าโดยสารได้รวม 6,814.24 ล้านบาท

              ในขณะที่รายได้จากการโฆษณาและให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า BTS ในปี 2562-2563 สูงถึง 2,183.89 ล้านบาท คิดเป็นประมาณ 30% ของรายได้จากค่าโดยสาร

              ในอนาคต เมื่อสัมปทานปัจจุบันสิ้นสุดลง ถ้าเรามีการประมูลที่โปร่งใส ยุติธรรมกับทุกฝ่าย มีการนำรายได้อื่นๆจากรถไฟฟ้ามาช่วยสนับสนุนค่าโดยสาร จะช่วยทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงได้ครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานเข้า บีทีเอส ร่อนหนังสือทวงหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังกทม.ชิ่งกว่า 8.8 พันล้าน

กทม.ยันค่าโดยสาร"รถไฟฟ้าสายสีเขียว" 104 บาท เหมาะสมแล้ว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิด 8 เหตุผล ค้านขึ้นราคารถไฟฟ้า 104 บาท

รถไฟฟ้าหลากสี คนกรุงควัก 14-104 บาท

เปิดไทม์ไลน์"ผู้ติดเชื้อโควิด"กทม.เพิ่มอีก 16 ราย