จับตา“ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน” เอา “ม็อบ 14 ตุลา” อยู่หรือไม่

15 ต.ค. 2563 | 02:46 น.

“เทพไท” ตั้งข้อสังเกตม็อบ 14 ตุลา 7 ข้อ หวังให้เกิดความรุนแรง ห่วง อำนาจนอกระบบหวนกลับมาอีก แนะ แก้ รธน.ทางออกของประเทศ จับตา พรก.ฉุกเฉินฯ เอาม็อบอยู่หรือไม่

15 ตุลาคม 2563 นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประกาศ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของรัฐบาลว่า เป็นมาตรการทางกฎหมายของรัฐบาลต่อการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งต้องเฝ้าติดตามดูว่า สามารถควบคุมสถานการณ์การชุมนุมได้จริงหรือไม่ ตนได้เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด

 

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือ กลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งเป็นการชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีการกระทบกระทั่งกัน และมีการปะทะกันอย่างประปราย หรือเกิดความวุ่นวายเป็นระยะๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แถลงการณ์ คณะก้าวหน้า

ด่วน จับ รุ้ง-ณัฐชานน 2 แกนนำม็อบ 14 ตุลารุ่น 2

ประมวลภาพ ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉิน "สลายการชุมนุม" ม็อบ 14 ตุลา

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าพนักงาน "จับกุม-เรียกตัว-ตรวจค้น-ยึดอายัด"

 

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน สามารถตั้งข้อสังเกตได้ ดังนี้

 

1.กลุ่มมวลชนทั้งหมด ที่มาร่วมชุมนุมของทั้งสองฝ่ายเป็นการจัดตั้งมวลชนกันมา  มีการโฆษณาชวนเชื่อ และปลุกระดมให้เกิดความเชื่อตามแนวความคิดของแต่ละฝ่าย

 

2.มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุม หรือให้การสนับสนุนทั้งสองฝ่าย มีทั้งที่เปิดเผยตัวและไม่ยอมเปิดเผยตัวต่อสาธารณชน

 

3.มีการระดมมวลชนของแต่ละฝ่ายมาให้มากที่สุด เพื่อแสดงพลังทางการเมือง ตามที่เกิดภาพมีรถขนคนให้เห็นทางสื่อโซเชียลมีเดีย

 

4.เป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องสุดขั้ว ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมสูง จนเกิดวาทกรรมที่เรียกกันว่า กลุ่มล้มเจ้ากับกลุ่มโหนเจ้า

 

5.มีการเคลื่อนไหวในลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง หวังให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มมวลชน2กลุ่ม จนไม่สามารถควบคุมได้

 

6.มีมือที่สามคอยสร้างสถานการณ์ความรุนแรง หวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบ

 

7.มีแนวความคิดและเตรียมการสร้างเงื่อนไข เพื่อเปิดทางให้อำนาจนอกระบบ เข้ามาแทรกแซงระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่ง

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ อยากให้คนไทยทุกคน กลุ่มการเมืองทุกฝ่าย ได้ตระหนักและร่วมมือกันประคับประคองระบอบประชาธิปไตยอย่าให้ถูกทำลาย ซึ่งภูมิคุ้มกันระบอบประชาธิปไตย และทางออกของประเทศในขณะนี้ ก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง