ย้ำตรวจ-คัดกรองเชิงรุก“สิงคโปร์โมเดล” สกัดโควิดแรงงานต่างด้าว

21 ธ.ค. 2563 | 07:31 น.

กรมควบคุมโรคย้ำ ตรวจ-คัดกรอง "เชิงรุก" ตามหาผู้ติดเชื้อให้ได้ไวที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามแบบ “สิงคโปร์โมเดล” ที่นำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชุมชนแรงงานต่างด้าวสมุทรสาคร ล่าสุดวันนี้พบเพิ่มอีก 360 รายจากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน

 

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กล่าวในประเด็นความคืบหน้า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะใน การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เช้าวันนี้ (21 ธ.ค.) มีผู้ติดเชื้อสะสม 821 ราย โดยเป็นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 33 ราย และเป็นผู้ป่วยที่พบจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 788 ราย

 

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

 

“ในกระบวนการของการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จำเป็นที่จะต้องลงพื้นไปเก็บแล็บเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ กระบวนการทางห้องปฏิบัติก็จำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำ ดังนั้น การรู้ผลจึงอาจมีความล่าช้า ตอนนี้ก็ออกผลมาแล้ว 1,861 ราย และอยู่ในระหว่างการรอผลตรวจอีกประมาณ 2,600 กว่ารายจากที่ลงพื้นที่ตรวจมาทั้งหมด 4,688 ราย ตัวเลข (ผู้ป่วย) จึงยังอาจมีเพิ่มมากขึ้น” อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้กังวลในเรื่องของตัวเลขมากนัก เพราะเป็นตัวเลขที่เกิดจากกระบวนการของการลงไปค้นหา-สอบสวนเพิ่มเติม  การตรวจพบเพิ่มขึ้นในทางระบาดวิทยาแปลว่าระบบเฝ้าระวังและเตือนของเราทำงานได้ดี

 

ภาพรวมการระบาดนั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นค่อนข้างชัดเจนว่า จุดตั้งต้นการระบาดอยู่ที่ตลาดกลางกุ้งซึ่งเป็นตลาดกุ้งเลี้ยง ไม่ใช่ตลาดอาหารทะเลทั้งหมด  จากนั้นจึงระบาดเป็นวงเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาและมีการแพร่ประปรายไปยังพื้นที่อื่น พื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อมากเป็นพื้นที่ตลาดกลางกุ้งและหอพักคนงานซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนี้อยู่ใต้มาตรการล็อกดาวน์โดยฝ่ายปกครองไม่ให้มีการเข้า-ออกแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มท. สั่ง ผู้ว่าฯรอบ สมุทรสาคร สแกนเข้มกลุ่มเสี่ยง โยงจุดซื้อขายสัตว์น้ำ

นายกฯขอเวลา 7 วัน ประเมินโควิด ก่อนเคาะ“เคาท์ดาวน์ปีใหม่”

โฆษก ศบค. เผย นายกฯสั่งสธ.เตรียมเกณฑ์ "ล็อกดาวน์" หลายจังหวัดและทั่วประเทศ

 

จากการตรวจเชิงรุกพบว่า ต้นเหตุการแพร่ระบาดน่าจะมาจากแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งตอนนี้มีการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 90 ในกลุ่มแรงงานเมียนมา เป็นไปได้ว่าอาจจะมีเคลื่อนย้ายของแรงงานเมียนมาจากต่างประเทศในช่วงของการแพร่ระบาด เข้ามาแพร่เชื้อกันในแวดวงชุมชนแรงงานเมียนมาที่มีอยู่เดิมในพื้นที่สมุทรสาคร แต่เพื่อเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าวก็จะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป เพื่อถอดรหัสทางพันธุกรรมของเชื้อเพื่อดูความเชื่อมโยงของเชื้อว่ามีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ไหน กรณีใดบ้าง

ส่วนสาเหตุที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง เพราะพฤติกรรมการอยู่รวมกันในที่พักอาศัยที่แออัด มีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดโดยไม่มีการป้องกันที่ดีนัก เช่นการสวมหน้ากากหรือการล้างมือ

 

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งจากการตรวจเชิงรุกผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้คือ การอยู่รวมกันจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ กระทรวงสาธารณสุขจึงพิจารณานำแนวทางของสิงคโปร์ หรือ สิงคโปร์โมเดล มาประยุกต์ใช้สำหรับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อในพื้นที่ มีการขีดวงหรือจำกัดวงของพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดและตรวจพบผู้ป่วย หลังจากนั้นก็จะเข้าไปจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อให้การดูแลเฉพาะกลุ่ม และมีการสอดส่องดูแลโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่จะเข้าไปกำกับในเรื่องของการดูแลสุขภาพในพื้นที่ในทุก ๆวัน ผู้ที่มีอาการป่วยก็จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างได้มาตรฐาน ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการก็จะมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง มีการจำกัดวงแยกผู้ที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อออกจากกัน

 

ขณะนี้ ทางกรมจึงเน้นการค้นหา การขีดวง การเฝ้าระวังค้นหากลุ่มเสี่ยงให้ได้โดยเร็วทั้งในจังหวัดสมุทรสาคร และชุมชนแรงงานต่างด้าวในจังหวัดอื่น ๆ ให้ได้โดยเร็วเป็นมาตรการสำคัญ กระบวนการดังกล่าวนี้จะทำให้พบผู้ป่วยและมีตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ก็ขอให้อย่าตื่นตระหนก เพราะการตรวจพบเพิ่มขึ้นในทางระบาดวิทยานั้นถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าระบบเฝ้าระวังโรคของประเทศไทยนั้นกำลังทำงานอยู่ในทุกพื้นที่ และระบบเฝ้าระวังเชิงรุกกำลังทำงานอยู่อย่างเข็มแข็ง

 

มาตรการที่สำคัญในขณะนี้ คือจะขอความร่วมมือจากประชาชนให้ป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง ไม่เข้าในสถานที่แออัดและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ก็ขอให้สวมหน้ากากอนามัยแล้วไปพบแพทย์ ยกการ์ดให้สูง ทั้งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร หรือผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563 ให้สังเกตอาการตนเอง หากสงสัยสามารถโทรปรึกษาที่สายด่วนของทุกจังหวัด หรือสายด่วนของกรมควบคุมโรค 1422 หรือสอบถามได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ในเบื้องต้นอาจเข้าไปลองประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงของตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน “ราชวิถี-มีหมอ”