บอนด์ยิลด์เพิ่ม หวั่นต้นทุนกู้รัฐพุ่ง

28 ก.พ. 2564 | 07:00 น.

ตลาดห่วงเงินเฟ้อเพิ่มดันบอนด์ยิลด์สหรัฐฯพุ่งต่อเนื่อง ดันบอนด์ยิลด์ไทยตาม ชี้ช่วงที่เหลือมีโอกาส อัพไซส์แตะ 2% หวั่นกระทบต้นทุนรัฐบาล เหตุยังต้องกู้ต่อเนื่องจากงบขาดุล แนะควรลดการถือบอนด์ยาวเป็นระยะสั้นและเงินฝากเพื่อลดผลกระทบพร้อมกระจาย ลงทุนต่างประเทศ

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล(Bond Yield)สหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และบอกว่า ยังไม่ถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือคิวอี(Quantitative Easting) สะท้อนต้นทุนในการกู้ ประกอบกับมีแรงขายพันธบัตรรัฐบาลไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วย จึงดึงให้ Bond Yield สหรัฐและไทยทำระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีบ่งชี้ว่า ตลาดเริ่มคาดหวังต่อเงินเฟ้อที่เริ่มก่อตัว เป็นผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกอาจต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์ ทีเอ็มบี(TMB Analytics)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บอนด์ยิลด์สหรัฐ อายุ 10 ปีอยู่ที่ 1.64% อายุ 5 ปีอยู่ที่ 0.95% เทียบรอบเดือนที่ผ่านมาปรับขึ้นแล้ว 0.32% โดยอายุ 5 ปีปรับขึ้น 0.27% และอายุ 10 ปีปรับขึ้นราว 0.32% โดยปัจจัยที่จะมีผลต่อบอนด์ยิลด์คือ 1.ทิศทางดอกเบี้ยโลก 2.ทิศทางการไหลเข้าออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย และ3.ปริมาณการออกพันธบัตรของรัฐบาลแต่ละประเทศรวมไทยด้วย 

ทั้งนี้ช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว มีเงินไหลออกทั้งสิ้น 8.2 แสนล้านบาท โดยมาจากกองทุนหุ้น 4 แสนล้านบาท กองทุนตราสารหนี้ 3.6 แสนล้านบาท ขณะที่ต้นปี 2564 มีเงินไหลกลับเข้ามาเพียง 4.7 แสนล้านบาท เป็นการกลับเข้าในกองทุนหุ้น 3.5 แสนล้านบาทจากการออกกองทุนใหม่ เพราะตลาดหุ้นฟื้นเร็วกว่า ส่วนกองทุนตราสารหนี้ยังกลับเข้ามาไม่มากราว 1 แสนล้านบาทจาก ดังนั้นยังมีเงินค้างอยู่ในตลาดตราสารหนี้กับเงินฝาก 

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ10ปี

สำหรับทิศทางบอนด์ยีลด์ที่ปรับขึ้น ทำให้ราคาพันธบัตรปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งกองทุนต่างๆต้องระวังว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV) จะปรับลงหรือไม่ โดยแนะนำผู้ลงทุนลดการถือบอนด์ระยะยาวเป็นระยะสั้นหรือปรับพอร์ตเป็นเงินฝากคงไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบจากบอนด์ยิลด์ปรับขึ้นมาก ทั้งนี้เพื่อรอจังหวะให้ทิศทางดอกเบี้ยปรับขึ้นจนจบ จึงกลับไปถือครองบอนด์ระยะยาวอีกครั้ง 

“ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสไปต่อและอัพไซส์ เพราะบอนด์ยิลด์สหรัฐยังมีแนวโน้มขึ้น แต่ดอกเบี้ยขาลงจบแล้ว ซึ่งช่วงนี้ไม่เหมาะที่จะเข้าซื้อ เพราะราคายังไม่ถูกที่สุด เพราะเดือนเดียวขึ้นมา 0.32% แล้ว ถ้าเข้าตอนนี้ระวัง NAV จะเป็นลบ เพราะกองทุนตราสารหนี้ไม่น่าสนใจมากเมื่อเทียบกับเงินฝากดอกเบี้ยสูง โดยกองทุนตลาดเงินระยะสั้นอายุ 1 ปี ยิลด์สูงสุดอยู่ที่ 0.26% ซึ่งไม่ได้สูงกว่าเงินฝากที่อยู่ในอัตรา 0.25% แต่กลางปี 2564 อาจจะเห็นชัดว่าจะไปต่อหรือไม่ ซึ่งการทำนโยบายของสหรัฐจะเริ่มกู้หรือออกพันธบัตรไตรมาส2 ก็จะเริ่มเห็นว่า จะดึงบอนด์ยิลด์สหรัฐขึ้นอีกเท่าไร และบอนด์ยิลด์ไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มตาม” 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า ปัจจัยช่วงที่เหลือได้แก่ เงินเฟ้อของสหรัฐมีโอกาสปรับตัวสูงได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ค่าจ้าง แนวโน้มราคาบ้านปรับสูงขึ้น ส่วนไทยจะได้รับผลกระทบ 2 ทางคือ บอนด์ยิลด์สหรัฐที่สูงขึ้น ส่งให้บอนด์ยิลด์ไทยขยับตามและจากภาครัฐดำเนินนโยบายขาดดุล ซึ่งจะมีการระดมทุนหรือประมูลพันธบัตรในช่วงที่เหลือ ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาลไทยจะกระทบต่อบอนด์ยิลด์อายุ 3 ปี 5ปี ส่วนบอนด์ระยะยาวทั้งสหรัฐและไทยปีนี้น่าจะปรับขึ้นแตะ 2% เท่ากัน 

“สภาพคล่องไทยอยู่ในเงินฝากเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปลอดภัยมาก ซึ่งถ้าแนวโน้มบอนด์ยิลด์ยังปรับขึ้น มีโอกาสไปลงทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวซึ่งไม่คิดว่าจะลงทุนในหุ้น แต่เลือกลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เพราะมีความผันผวนไม่เยอะมาก”

สำหรับสัดส่วนการลงทุน ช่วงต้นปีนี้ แนะนำลงทุนต่างประเทศ 8 ส่วน และในประเทศ 2 ส่วนสำหรับสินทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงประเทศที่ไปลงทุน โดยเห็นได้จากวัคซีนเริ่มแจกจ่ายในประเทศพัฒนาแล้ว จึงทยอยลดการลงทุนในสหรัฐและยุโรป แต่เพิ่มการลงทุนในปรเทศตลาดเกิดใหม่และเป็นจังหวะที่จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนตามลำดับ

“ครึ่งปีแรกประเทศที่น่าสนใจคือ จีน จากนั้นในครึ่งหลังของปี ลงทุนในลาตินอเมริกา ยุโรปตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรอบนี้ธุรกิจกองทุนระวังตัวสูงอยู่แล้ว และตลาดมองว่า ไม่มีความเสี่ยงที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นช่วงต้นโควิด เพราะมีนโยบายการคลังและการเงินสนับสนุนอยู่ ขณะที่ทั้งเฟดและไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปถึงสิ้นปี2564” 

ด้านความเสี่ยงครึ่งปีแรกในตลาดเงินตลาดทุนคือ 1.บอนด์ยิลด์ที่ปรับตัวสูง จะทำให้ตลาดเกิดความผันผวน ทำให้นักลงทุนกังวลและเกิดการเทขายหุ้น อาจดึงหุ้นไทยและการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ลงด้วย 2. นโยบายต่างประเทศระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งต้องจับตาว่า ในอนาคตจะมีนโยบายที่เข้มงวดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าจะกดดันจีนมากขึ้น 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,657 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปิดตลาด “แข็งค่า”-ดอลลาร์ฯเผชิญแรงขายตามการปรับตัวลงของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ

บอนด์ยีลด์สหรัฐดีดตัว คลายกังวลสงครามการค้า

SET ฟื้นตัวจำกัด แรงหนุนบอนด์ยิลส์ดีดตัว

หุ้นไทยปิดลบ 8.88 จุด รับแรงกดดันบอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่ง และค่าเงินดอลลาร์ยังแข็งค่า

ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลง กังวลบอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่ง