ปี 64 รัฐ-เอกชนระดมทุนรวม ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้าน

22 ม.ค. 2564 | 11:03 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ ปี 64 ทิศทางดอกเบี้ยตลาดพันธบัตรขยับสูงขึ้น ตามทิศทางสหรัฐ แถมรัฐออกพันธบัตรมากขึ้น เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ คาดรัฐ-เอกชนระดมทุนรวมกัน ไม่น้อยกว่าระดับ 2 ล้านล้านบาท

การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ให้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมิน ขณะที่ต้นทุนการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ไทยเริ่มทยอยปรับขึ้นในช่วงต้นปี 2564  ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ถึงปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยจะออกเพิ่มขึ้น เพื่อระดมทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ปี 2564  ภาครัฐจะระดมทุนกว่า  1 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเอกชนมีแผนการระดมทุนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่าระดับ 2 ล้านล้านบาท

 

อีกส่วนหนึ่งเป็นการปรับขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังมีข่าวดีจากการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 และการเข้าตำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน ที่มาควบคู่กับแผน กระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งใหญ่มูลค่าสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือ  9% ของจีดีพีสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าที่ตลาดคาด ส่งผลทำให้มีความจำเป็นที่สหรัฐฯคงต้องกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้การระดมทุนของภาครัฐจะอยู่ในระดับสูง แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบ  เนื่องจากคาดว่า จะมีการกระจายการกู้เงินตามจังหวะความต้องการใช้เงินในแต่ละไตรมาส และคงใช้แหล่งระดมทุนหลายช่องทาง ประกอบกัน ทั้งการกู้ยืมผ่านการออกพันธบัตร/พันธบัตรออมทรัพย์ ไปจนถึงการกู้ยืมเงินโดยตรงจากสถาบันการเงิน

 

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยธปท.) เองมีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรธปท. บางส่วน นอกจากนี้ธปท. ยังมีความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องให้มีความเพียงพอ ตามจังหวะที่พันธบัตรธปท. จะทยอยครบกำหนดในช่วงระหว่างปี 2564 อีก 2.3 ล้านล้านบาท

 

รวมถึงธนาคารพาณิชย์ยังมีสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในมือสูงถึง 4.5 ล้านล้านบาท (ณ พ.ย.63) ซึ่งในจำนวนนี้ราว 2.1 ล้านล้านบาทเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนที่เกินจากที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.

“ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทยที่มีโอกาสไต่ระดับขึ้นในปีนี้ น่าจะตอกย้ำว่า การบริหารต้นทุนทางการเงินจะเป็นหนี่งในปัจจัยสำคัญสำหรับธุรกิจที่มีแผนจะต้องเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ และ/หรือต้องออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนด ซึ่งคาดว่าปีนี้ จะมีตราสารหนี้ระยะยาวครบกำหนดภายในปี 2564 ประมาณ 7.2 แสนล้านบาท”

 

 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาล หรือ Credit Spread ของการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ และยังคงไม่ได้ปรับตัวลดลงมามากนักนับจากช่วงการระบาดของโควิดรอบแรกในปี 2563 ที่ ซึ่งเท่ากับว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตในตลาดหุ้นกู้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และนักลงทุนบางส่วนอาจจะยังมีความกังวลในการกลับเข้าลงทุนในภาวะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก.ล.ต. เปิดเฮียริ่ง ยืดหยุ่นตราสารหนี้

5 ข้อควรรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้

ก.ล.ต เปิดเกณฑ์จัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ กรณีได้รับผลกระทบจากโควิด-19

"พันธบัตรวอลเล็ต สบม." จ่ายดอกเบี้ย-ซื้อขายผ่านแอปเป๋าตังได้แล้ว

พันธบัตรรัฐบาลจีนเนื้อหอม FTSE Russell ดันเข้าดัชนีโลกปีหน้า