แผน5ปี บสย.ค้ำ6.42 แสนล้าน

05 ธ.ค. 2563 | 03:20 น.

บสย.เปิดแผน 5 ปี ค้ำประกันเกือบ7 แสนล้าน ทั้งสนองนโยบายรัฐ ดันพอร์ตรับประกันตรง พร้อมดึงผู้เชี่ยวชาญ สร้างหมอหนี้ ประจำ F.A. Center ลดภาระงบประมาณ

ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีในระบบ 3 ล้านราย เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย เป็นกลไกสำคัญต่อการจ้างงานถึง 13.4 ล้านราย มีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 34% ดังนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 มาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่เอสเอ็มอีจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อรักษาสภาพคล่องและการจ้างงานไว้ 

 

หนึ่งในนั้นคือ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า หรือ ซอฟต์โลน ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท แต่ ณ 30 พฤศจิกายน 2563 มียอดการปล่อยสินเชื่อเพียง 122,075 ล้านบาท คิดเป็น 73,266 ราย โดยเป็นสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายได้ 1.7 ล้านบาท และยังมีเสียงเรียกร้องจำนวนมากว่า ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมาก ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าดังกล่าว เหตุเพราะขาดหลักประกัน 

 

ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาคํ้าประกันเพิ่ม เพื่อเสริมความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินกล้าที่จะปล่อยกู้ให้ เอสเอ็มอี ในภาวะที่ยังมีความเปราะบางเรื่องรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 และเสี่ยงเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) จึงเป็นที่มาของโครงการ คํ้าประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเข้ามาคํ้าประกันสินเชื่อต่อเนื่องจากโครงการซอฟต์โลนของธปท.ตั้งแต่ปีที่ 3 จนถึงปีที่ 10  

แผน5ปี บสย.ค้ำ6.42 แสนล้าน

 

ขณะเดียวกัน ธปท.เองยังต้องการอาศัยกลไกของบสย.ให้มีบทบาทมากขึ้นในการดึงให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมกับเรียกร้องให้บสย.เพิ่มสัดส่วนการคํ้าประกันมากขึ้น แต่ติดขัดด้านกฎระเบียบ จึงอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย เพื่อที่จะขยายบริการคํ้าประกันนักลงทุนหรือธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศ (Cross boarder Guarantee) โดยเฉพาะ CLMV ล่าสุดมีความคืบหน้าร่างแก้ไขกฎหมายสามารถ ส่งถึงมือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)และอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างดังกล่าว โดยวางกรอบเวลาจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 

 

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.เปิดเผยว่า พอร์ตของบสย.ไม่ได้รับผลกระทบมาก จากการคํ้าประกันสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปัจจุบัน ซึ่งบสย.คํ้าประกันหนี้เสีย 30%(Max Claim 30%) เพราะเป็นคนตัวใหญ่ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นไมโคร Max claim ค่อนข้างสูงกว่า 30% วงเงินสินเชื่อไม่มาก เพียง 3 ล้านบาท 2 ล้านบาท และ 1 ล้านบาท อยู่ประมาณนี้ แต่จะมีจำนวนรายมาก 

 

แผน5ปี บสย.ค้ำ6.42 แสนล้าน

ส่วนประเด็นข้อเสนอขอให้ Max Claim ที่ 50% นั้น เป็นการขอให้บสย.คํ้าประกัน 50% จากพอร์ต เช่น สมมติ portfolio อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ข้อเสนอให้บสยคํ้าประกันที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้เงินหลวงที่สูง โดยที่ผ่านมา ภายใต้โครงการสนับสนุนของรัฐที่ให้บสย.คํ้าประกัน (PGS) ที่วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท คํ้าประกันหรือ Max Claim ที่ 30% จะมีภาระของรัฐบาลที่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยจะใช้เงินคํ้าประกันประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อ 1 ซีรีย์ ของ PGS ซึ่งถ้าเพิ่ม Max Claim เป็น 50% ต้องใช้เงินหลวงที่สูงเท่ากับมูลค่าโครงการก่อสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์และถนนกรุงเทพ-โคราช 

 

“ดังนั้นต้องทำให้สมดุล แต่ข้อเสนอเพิ่ม Max Cliam เป็น 50% นั้นเข้าใจได้ว่า ภาคธุรกิจต้องการให้เป็น Incentive เพื่อให้ธนาคารกล้าปล่อยวงเงินสินเชื่อง่ายขึ้น”

 

ทั้งนี้บทบาทของบบสย.วันนี้ พยายามลงสู่ฐานราก ซึ่งวงเงินคํ้าประกันสูงอาจไม่ใช่จุดประสงค์อีกแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือ การขยายฐานเข้าไปสนับสนุนลูกค้ารายใหม่ๆ ให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงิน และขยายกิจการสร้างรายได้ อย่างที่บสย.สามารถเข้าไปช่วยเศรษฐกิจมหภาคได้ 

 

อย่างที่ผ่านมา โครงการบสย.สร้างไทย ช่วยคนป่วยคือ ลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้, รายที่ถูกฟ้องดำเนินคดีหรือเป็นเอ็นพีแอล 50,000 บาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% และในเร็วๆนี้ จะออกภาค 2 เพื่อดูแลคนป่วยคนเจ็บคนที่ค้างชำระจากเดิมที่พักหนี้(Debt Holiday)ให้เข้าโครงการสร้างไทยซึ่งจะช่วยทั้งยืดหนี้และเติมวงเงินใหม่

นอกจากนั้น ศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน SMEs” (F.A. Center) หรือโครงการหมอหนี้ ซึ่งปีหน้ามีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 5 สาขา โดยตั้งใจให้เป็นโรงพยาบาลแก้หนี้ สำหรับภาคประชาชนและเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเอสเอ็มอีและแก้ปัญหาหนี้ ทั้งคุณปกรณ์ พรรธนะแพทย์ อดีตผู้บริหารธนาคารกสิกรไทย คุณเวทย์ นุชเจริญ อดีตผู้บริหาร ธนาคาร กรุงไทยและคุณสุเมธ มณีวัฒนา อดีตผู้บริหารบริษัท  

 

“FA center เรามีหมอใหญ่ ที่มีประสบการณ์ เคยอยู่ในสงครามแก้หนี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นคนตัวเล็กที่เข้ามาขอคำปรึกษา จะได้รับคำแนะนำจากระดับหมอใหญ่ไม่ได้ทำซี้ซั้ว เพราะฉะนั้น คนบาดเจ็บไม่จำเป็นต้องใช้เงินหลวงในการคํ้าประกัน แต่สามารถที่จะเติมเงินจากบริษัท ด้วยการคํ้าประกัน Premium เราใช้คำว่า Premium ปกติ PGS จะคํ้าประกันด้วย Max Cliamที่ 30% ซึ่งหลายคนอยากได้ Max Cliamที่ 40% , 50% ซึ่งบสย.พร้อมจัดให้ได้ด้วยเงินของคู่ค้าในการอำนวยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”

 

สำหรับยุทธศาสตร์ 5ปีบสย.ระหว่างปี 2564-2568 นั้นบสย.ประมาณการเป้าหมายการคํ้าประกันสินเชื่อรวม 6.42 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 2 โครงการคือ โครงการตามนโยบายรัฐบาลสนับสนุนและโครงการบสย.ดำเนินการเอง หรือ โครงการคํ้าประกันสินเชื่อ บสย.เพิ่มพูน(Direct Guarantee :DG) 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"บสย." ชู 5 ยุทธศาสตร์สู่New Business Model ยั่งยืน

บสย.ยื่นกกร.ซื้อTopup เพิ่มค้ำ50%

ธปท.-แบงก์ เดินหน้าช่วยลูกหนี้ ดึงบสย. ค้ำประกันซอฟต์โลนเพิ่มเติม

เตรียมใช้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ให้บสย.ช่วยเอสเอ็มอี

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,633 วันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ.2563