บสย.ยื่นกกร.ซื้อTopup เพิ่มค้ำ50%

02 พ.ย. 2563 | 00:25 น.

ค้ำประกันเฟส 9 “บสย.ไทยชนะท็อปอัพ” วงเงินเหลือเพียง 1.2 แสนล้านบาท -เสนอกกร.จ่ายดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพื่อดูแลค่าความเสี่ยงเพิ่มเป็น 50% เผยอยู่ระหว่างหรือปรับเงื่อนไข “เติมเงินซํ้าหรือต่างแบงก์ในโครงการ “Soft Loan Plus” หลังผลตอบรับอยู่ในท่อแล้ว 3,000 ล้านบาท 

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีข้อเสนอที่จะให้ทางการเข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่องของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ด้วยการขยายระยะเวลาเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จาก 2 ปีเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 10 ปี พร้อมให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันให้ผู้กู้ พร้อมขยายเพดาน การค้ำประกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)หรือเพิ่ม Max Claim จาก 30% เป็นอัตรา 50%   

ความคืบหน้าล่าสุด นายรักษ์ วรกิจโภคาทร ผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เปิดเผยว่า คณะกรรมการของบสย.ได้อนุมัติในหลักการให้บสย.ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS9) ภายใต้ชื่อ “บสย.ไทยชนะท็อปอัพ” วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่ม Max Claim เป็น 50% ตามข้ออสนอของกกร. แต่ปรับลดวงเงินค้ำประกันจากเดิมอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทต่อ Max Claim ที่อัตรา 30%

ทั้งนี้เนื่องจากแนวโน้มบริบทโลกกับเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่มุมมองต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ชัดว่า เศรษฐกิจจะกลับมาผงกหัวได้เมื่อไร ซึ่งบางคนประเมินว่า ไตรมาส4 ปีหน้าหรือ บ้างก็มองว่า ต้องรอเวลาไปถึงปี 2565 

ดังนั้นระว่างทางที่เศรษฐกิจยังไม่กลับมา สิ่งที่บสย.ให้นํ้าหนักคือ พยายามจะยืดหยุ่นในการสร้างการควบคุมความเสี่ยงให้สอดคล้องสภาวะแวดล้อมและตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ จึงเป็นที่มาของโครงการ “บสย.ไทยชนะ ท็อปอัพ หรือ PGS9” โดยได้ปรับเพิ่ม Max Claim เป็นอัตรา 50% ซึ่งผู้ประกอบการมีค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมจะปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 50 สตางค์และ 1 บาทจากค่าธรรมเนียมที่ 1.75%ต่อปี เพื่อดูแลค่าความเสี่ยงได้มากขึ้น

บสย.ยื่นกกร.ซื้อTopup เพิ่มค้ำ50%

“เราเพิ่งเสนอผลิตภัณฑ์ บสย.ไทยชนะท็อปอัพกับกกร.ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า ปกติหนี้เสียที่ Max Clam 30% เราเอาอยู่ แต่ถ้าอยากได้ค้ำประกันหรือ เพิ่ม Max Claim เป็น 50% ก็ต้องดูแลความเสี่ยงของของผู้ปล่อยวงเงินกู้ด้วย การทำ TOP-UP ด้วยค่าใช้จ่ายในส่วนของอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมอาจจะปรับเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลค่าความเสี่ยงได้มากขึ้น อย่างถ้าเราต้องการ Max Claim ที่ 40% จะมีค่าพรีเมียม 50 สตางค์ หากเพิ่ม Max Claim ที่ 50% คิดค่าพรีเมียมที่ 1 บาท จากค่าพรีเมียมอยู่ที่ 1.75%ต่อปี เพราะเรารู้ข้อจำกัดของงบประมาณและเกมนี้ทุกคนต้องช่วยกัน
ด้วยการทำ TOP-UP หากกกร.ตอบรับสามารถทำได้เลย”

อย่างไรก็ตาม บสย.ได้ดำเนินโครงการรายสถาบันการเงินระยะที่ 6 (บสย. SMEs ไทยชนะ) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไป ที่ต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกันภายใต้วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท เป็นเฟสแรก 10,000 ล้านบาท  โดยจะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อตามระดับความเสี่ยงของลูกค้าใน 5 กลุ่มคือ 

ค้ำประกัน 30% จะคิดค่าธรรมเนียมรวมค่าจัดการค้ำประกันที่ 3.25%  ค้ำประกัน 20% คิดค่าธรรมเนียมรวมค่าจัดการค้ำประกัน 2.25% ค้ำประกัน 15% คิดค่าธรรมเนียมรวมค่าจัดการค้ำประกันที่ 1.75%  ขณะที่หากเป็นลูกค้าออมสินจะค้ำประกัน 17.5% คิดค่าธรรมเนียมรวมค่าจัดการค้ำประกันที่ 2.00% และหากค้ำประกัน 30% จะไม่คิดค่าธรรมเนียมและการจัดการปีแรก แต่ปีที่ 2-10 จะคิด 2.00%

นายรักษ์กล่าวถึงผลตอบรับสำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ (Soft Loan Plus) วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาทว่า เริ่มมีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาอยู่ในท่อแล้ว 2-3 พันล้านบาท และอยู่ระหว่างหารือแนวทางปรับแก้เงื่อนไขเกี่ยวกับประเด็นการเติมเงินซํ้าคือ ในหลักการสามารถเติมวงเงินได้ตราบใดที่ยังไม่เกิน 20%ของยอดสินเชื่อคงค้าง ซึ่งประเด็นเติมเงินซํ้าแต่ละธนาคารนั้น จะทำได้หรือไม่ 

“สมมติวงเงิน 20%ของยอดสินเชื่อคงค้าง ถ้าลูกค้าใช้วงเงินไปแล้ว 50%ที่เหลือจะเติมเงินซํ้าได้หรือไม่ หรือเติมต่างธนาคารได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้เป็นสิ่งที่กำลังคุยกันในหลักการเติมได้ตราบใดไม่เกิน 20%ของยอดสินเชื่อคงค้างเดิม ซึ่งประเด็นเติมเงินซํ้านั้น บางคนพอเจอเศรษฐกิจ แบบนี้เกิดความรู้สึก 2 อย่างคือ กัดฟันต่อเลิกเป็นหนี้ หรือเติมหนี้ ซึ่งลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) ซอฟโลนต์ของธปท.เป็นลูกค้าดีส่วนใหญ่จะทำการค้าด้วยความระมัดระวัง และมีธรรมชาติที่ไม่ชอบเป็นหนี้ แต่ตรงข้ามกับกลุ่มที่เรียกร้อง ซึ่งมีความเปราะบาง แต่เป็นกลุ่มที่อยากเป็นหนี้

นอกจากนั้น แนวโน้มไตรมาสสุดท้าย ยังเป็นช่วงดูใจ เพราะยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ดังนั้นจะเป็นช่วงของการตรวจสุขภาพทั่วไปก่อนที่จะให้ยาหรือสินเชื่อ ประกอบกับเพิ่งจะออกมาจาก Debt Holiday จึงต้องดูแลลูกหนี้เป็นรายกรณี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่น่าเป็นห่วงยังเป็นกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มเดิมคือ ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง แต่บางรายเริ่มดีขึ้น เช่นร้านอาหาร 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,623 วันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563