อนาคต “กรุงไทย” หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

07 พ.ย. 2563 | 02:27 น.

หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความว่า กรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ จะมีผลต่ออนาคตอย่างไร ผลประโยน์พพนักงานจะเหลืออะไร มาตามดูคำตอบได้ที่นี่

อย่าว่าแต่ เราๆ ท่านๆ จะมึนเลยว่า อยู่ดีๆ ธนาคารกรุงไทย ที่เราคิดและเข้าใจมาตลอดว่า เป็นธนาคารของรัฐ และเป็นรัฐวิสาหกิจ วันหนึ่งจะถูกคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) วินิจฉัยว่า กรุงไทย ไม่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ เหตุเพราะ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ เอฟไอดีเอฟ ถือหุ้นในสัดส่วน 55.07% นั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน

 

แม้แต่กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรุงไทย อย่างนายผยง ศรีวณิช ยังอึ้งๆ ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เพราะต้องขอศึกษาในรายละเอียดของกฎหมายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีอยู่หลายฉบับด้วยกัน ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงจำนวนพนักงานที่มีเกือบ 3 หมื่นราย จะระสํ่าหรือมึนงง แค่ไหน

 

อนาคต “กรุงไทย”  หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

 

ทั้งที่ว่ากันตามหลักความเป็นจริงแล้ว ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็น 1 ใน 44 รัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และไม่ได้นำเงินส่งเข้าเป็น รายได้แผ่นดิน เพราะกระทรวงการคลัง ถือหุ้นเพียง 50,000 หุ้น หรือประมาณ 1% ของหุ้นทั้งหมดเท่านั้น

เพราะนับตั้งแต่เกิด วิกฤติการเงินปี 2540 สถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์หลายแห่งประสบปัญหาถูกถอนเงินจนขาดสภาพคล่อง กองทุนฟื้นฟูฯ ได้เข้ามาช่วยเพิ่มสภาพคล่องและกลายเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งรวมถึงธนาคาร กรุงไทยด้วย ดังนั้นที่ผ่านมา กองทุนฟื้นฟูฯ จึงมีอำนาจในการบริหารกรุงไทยมากที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลัง เข้าไปเป็นตัวแทนในการบริหารจัดการแทน ทำให้ลักษณะการทำงานหรือบทบาทของกรุงไทย เปรียบเสมือนการเป็นรัฐวิสาหกิจมาโดยตลอด แต่หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามของคำว่า รัฐวิสาหกิจใหม่ว่า จะต้องเป็นหน่วยงานหรือกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นเกิน 50% ดังนั้น กรุงไทย จึงถูกหยิบยกขึ้นมาตีความให้ชัดเจนและจริงจังมากขึ้นว่า ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอย่างแน่นอน แม้ที่ผ่านมา จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจอยู่แล้วก็ตาม

 

นายชาญวิทย์ นาคบุรี ที่ปรึกษาด้านการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ สคร.ระบุว่า จากนี้ สคร.จะเข้าไปดูขอบเขตของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร กรุงไทย หรือเกี่ยวกับการเป็นรัฐวิสาหกิจว่าเป็นอย่างไร และวิเคราะห์ถึงสถานะตามกฎหมายให้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการของกรุงไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

 

อนาคต “กรุงไทย”  หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

 

“ที่ผ่านมา คลังมีตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่โหวต หรือ ดำเนินงานต่างๆ แทนกองทุนฟื้นฟูฯ แต่หลังจากนี้ ก็จะต้องไปดูสถานะของกฎหมายที่มีความทับซ้อนกันอยู่ว่า มีกฎหมายตัวไหนอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการสั่งการให้กรุงไทยทำอะไรได้ เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่ก็มีกฎหมายอะไรที่ต้องปฏิบัติตามได้ หรือมีอำนาจเชื่อมโยงกับรัฐอยู่อีกหรือไม่” นายชาญวิทย์ กล่าว

สำหรับการทำงานของกรุงไทยหลังจากนี้ ก็อาจจะไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก โดยกรุงไทย ถือเป็นองค์กรมหาชน ที่กำกับดูแลโดยผู้ถือหุ้น ฉะนั้นทิศทางการดำเนินนโยบายต่างๆ จะขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นมากกว่า ซึ่งกระทรวงการคลัง ก็เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นเท่านั้น แตกต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะธนาคารของรัฐเกิดขึ้นมาเฉพาะ ตามกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งขึ้น จึงเรียกว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลังมีอำนาจในการกำกับดูแล ภายใต้คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยตรง

 

สำหรับการทำงานพนักงาน หรือผลตอบแทนที่จะได้รับหลังจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ก็ไม่มีอำนาจในการกำหนดอัตราผลตอบแทนประจำปีใดๆ กับกรุงไทยอยู่แล้ว แตกต่างจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่กำหนดว่าจะต้องเสนอแผนงาน และประเมินผล หรือ KPI ที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนระหว่างปีกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกรุงไทยที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเองได้

อนาคต “กรุงไทย”  หลังพ้นรัฐวิสาหกิจ

 “ที่ผ่านมากรุงไทยก็ไม่เคยต้องกำหนด KPI เพื่อเสนอ ครม. แต่เขาเอาหลักเกณฑ์นี้ไปอ้างอิง เพื่อจ่ายโบนัสให้กับพนักงานของเขา แต่การกำหนดขั้นหรือเงินต่างๆ ก็แล้วแต่เขา ไม่เกี่ยวกับเรา”

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีสถานการณ์เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ธนาคารกรุงไทย จะยังเป็นหนึ่งธนาคารที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐต่อไป

 

เราคงพอมองภาพออกแล้วว่า แม้กรุงไทย จะไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่เป็น องค์กรมหาชน ที่ยังต้องเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการดำเนินนโยบายรัฐ และในแง่การเป็น บจ. ยังต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท. ดังนั้นสิทธิประโยชน์พึงมีพึงได้ ของพนักงานก็จะยังเป็นไปตามเกณฑ์เดิม ตามที่ผู้ถือหุ้นอนุมัติ

 

แต่สิ่งที่กระทบอย่างชัดเจนคือ สหภาพแรงงาน จากปัจจุบันที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 จะต้องกลับไปใช้พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เหมือนกับที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องกลับไปใช้ เพื่อพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนละครึ่งรอบ 2 กรุงไทยเปิดตัว ATM รุ่นใหม่แก้ปัญหาสแกนตัวตนไม่ผ่าน

"อินฟินิธัส บาย  กรุงไทย" จ่อเปิด 4บริการปีหน้า

คลัง ค้าน กรุงไทยขอจ่ายเงินผู้ค้าช้า 3-5 วัน

กรุงไทย จับมือ UNDP ระดมทุน 1.944 ล้านบาท จ้างงานคนเกาะเต่า

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,625  วันที่ 8 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563