ประวัติ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คลัง ผู้ใจถึง  เข้มแข็ง ในปฐพี

02 ต.ค. 2563 | 08:26 น.

ประวัติ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ว่าที่ "รมว.คลัง"คนใหม่ ในสเปคนายกฯ มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ รู้วิธีการทำงานของรัฐบาล เป็นคนใจถึง เข้มแข็ง

คงไม่เหนือความคาดหมายเมื่อ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ "รมว.คลัง" คนใหม่  แทน "ปรีดี ดาวฉาย" ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ 


โปรดเกล้าฯ "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เป็นรมว.คลังคนใหม่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง "ผมจำเป็นต้องคัดเลือกคนที่เหมาะสม รู้งานเศรษฐกิจ รู้การทำงานของรัฐบาล ต้องใจถึง เข้มแข็ง" คำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2563 ที่ต้องการบอกถึงสเปคของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรมว.คลังคนใหม่

กล่าวโดยสรุปคือ ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรมว.คลังคนใหม่ ต้องมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ 1.มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ 2.รู้วิธีการทำงานของรัฐบาล 3.ต้องเป็นคนใจถึง 4.เป็นคนเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตามหลายคนอาจสงสัยว่า"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุจริงหรือไม่

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

เมื่อไล่เรียงคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อแล้วพบข้อเท็จจริงดังนี้

1.มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ "อาคม" สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2520 และระดับปริญญาโทสาขาเศรษฐศาสตร์ จากวิทยาลัยวิลเลียม ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2526

 

"อาคม" เข้าทำงานที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2522  ก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา 

  • ปี พ.ศ. 2539 ถึงปี พ.ศ. 2542 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ
  • ปี พ.ศ. 2542-2543 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผน (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 9 ชช.)
  • ปี พ.ศ. 2543-2546 เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ สศช. และที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน
  • ปี พ.ศ. 2547-2553 เป็นรองเลขาธิการสศช.
  • ปี พ.ศ. 2553-1 ตุลาคม 2558 เป็นเลขาธิการสศช.

 

"อาคม" ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศในระยะยาว ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ เพราะเขาเชื่อว่าหากใครทำระบบเชื่อมโยงการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด จะเป็นผู้ที่ก้าวล้ำไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ

 

"อาคม" ยังให้ความสำคัญคืกับ เรื่องคุณภาพของคนไทย โดยเฉพาะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพคน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระจายความเจริญ ความมีเสถียรภาพ และความเป็นธรรม ซึ่งเขาเชื่อว่าการทำให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน อยู่ที่การสร้างโอกาสในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม เนื่องจากรายได้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

 

2. รู้วิธีการทำงานของรัฐบาล ข้อนี้"อาคม" สอบผ่านโดยไม่มีข้อสงสัย ด้วยดีกรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 จนถึง ปี 2561

3.ต้องเป็นคนใจถึง ประเด็นนี้หากย้อนกลับไปในช่วงที่ "อาคม" ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เขาได้เข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาสำคัญๆในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการบินพลเรือน ปลดล็อคธงแดง ICAO ในช่วงนั้นเขาได้ตัดสินใจใช้ยาแรงหลายด้าน​เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจน ICAO ยอมปลดธงแดงของไทยในที่สุด

 

"อาคม" ยังได้เจรจาต่อรองกับรัฐบาลจีน โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน​ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของไทย​ จนรัฐบาลจีนยอมถอย

 

4.เป็นคนเข้มแข็ง ประเด็นนี้ สะท้อนได้จากการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มีแรงกดดันให้มีการเปลี่ยนตัว"อาคม" หลายครั้ง เพราะการตัดสินใจของเขาในหลายเรื่องไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีบางคนในครม. โดยเฉพาะการประมูลโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ แต่เขาดก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าตามแนวทางที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและโปร่งใส

 

"อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เคยสะท้อนหลักคิดการทำงานไว้ในวารสาร สะพานขาวฉบับพิเศษ เดือนกันยายน 2563 ซึ่งเป็นวารสารข่าวภายในสศช. เกี่ยวกับหลักคิดในการทํางาน คือ ทํางานให้ดีที่สุด รับผิดชอบ ต่องาน ตามหลักของท่านพุทธทาสที่สอนว่า “ธรรมะ คือการทํางาน”

 

ดังนั้น แม้จะไม่ได้ศึกษาเรื่องธรรมะหรือ พุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อมีธรรมะในการทํางานคือ มีความ รับผิดชอบ มีหลักคิดมีเหตุมีผล มีตรรกะในการวิเคราะห์ศึกษาต่างๆ และรับผิดชอบงานในส่วนของเราให้ดีที่สุด ก็ถือว่าเราได้ปฏิบัติ ธรรมแล้ว รวมทั้งได้ใช้ปัญญาให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานของเรา และประเทศชาติ นอกจากนี้ การใฝ่รู้เป็นอีกสิ่งที่ต้องขวนขวาย เพื่อนํามาปรับปรุงการทํางานของเราให้ดีขึ้น

 

"อาคม" ยังให้ข้อมูลตอนหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจว่า งานแรกในวันแรกที่ผมทํางาน(ในสศช.) คืองานถ่ายเอกสาร ซึ่งผมถือว่าเป็นงานที่ทําให้ได้ความรู้ เพราะเขาไม่ได้ห้ามคุณอ่าน เอกสาร ยกเว้นเอกสารที่เป็นความลับ 

 

“ผมต้องขอขอบคุณพี่ๆ ที่ใช้ทํางาน ธุรการสมัยอยู่กองบัญชีประชาชาติ ซึ่งได้ประโยชน์มากเพราะ หนึ่ง ทําให้ได้เห็น ได้อ่านได้ตักตวงความรู้ สอง ได้ฝึกการเขียน และ สาม ฝึกเรื่องความถูกต้องแม่นยํา”

ขอบคุณข้อมูล สะพานขาว ฉบับพิเศษ เดือนกันยายน 2553