เอกชนขอนำเข้า "วัคซีนไฟเซอร์" 20 ล้านโดส วงเงิน 6 พันล้าน เจรจาได้แล้วพร้อมจัดสรรให้รัฐ 50%

02 มิ.ย. 2564 | 00:40 น.

เอกชนเจรจาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้าวัคซีน “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดส หลังได้โควต้าตรงจากอเมริกา พร้อมจ่ายเงิน 6,000 ล้านก่อนจัดสรรให้ภาครัฐ 50% ในราคาต้นทุน หวังให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนเร็วที่สุด ชี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังพุ่ง หวั่นลากยาวข้ามปี “ส.อ.ท.” พร้อมควักเงินฉีดกว่า 1 ล้านโดส

ปัญหา วัคซีนโควิด-19ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการฉีดในประเทศ แผนการสั่งซื้อ ทั้งนำเข้าและผลิตในประเทศก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ การจัดสรรเดิมที่กำหนดตามดีมานต์ในแต่ละพื้นที่ ต้องปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดตามซัพพลายที่มีแทน นอกจากจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทย ยังทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ การมองหาวัคซีนตัวเลือกหรือวัคซีนทางเลือก จึงเป็นอีกช่องทางที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเร่งดำเนินการ

นำเข้าไฟเซอร์ 20 ล้านโดส

ล่าสุดพบว่า บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ได้สั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดสตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 และบรรลุข้อตกลงในการสั่งซื้อ เหลือเพียงการรอให้หน่วยงานภาครัฐของไทย เป็นผู้ดำเนินการสั่งซื้อตามเงื่อนไขของผู้ผลิต เพื่อนำมาฉีดให้กับคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนอายุระหว่าง 12-18 ปีซึ่งมีจำนวนกว่า 5.5 ล้านคน ที่ต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์เท่านั้น

ผู้บริหารบริษัทเอกชนรายนี้ กล่าวยอมรับว่า มีการเจรจากับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อศึกษาแนวทางว่าจะสามารถนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ได้อย่างไร หลังจากที่บริษัทได้ดำเนินการสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าเมื่อ 8 เดือนก่อนจนได้รับจัดสรรโควต้า แต่ด้วยเงื่อนไขการส่งมอบวัคซีนผ่านหน่วยงานรัฐบาลเท่านั้นจึงต้องศึกษาหาช่องทางและโอกาส เพื่อให้คนไทยได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์อย่างเร็วที่สุด

“หากไทยบรรลุขั้นตอนการนำเข้าได้ ไฟเซอร์ก็พร้อมจัดสรรโควต้าที่สั่งซื้อไว้ 20 ล้านโดสให้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งบริษัทเองก็พร้อมสำรองจ่ายเงิน 6,000 ล้านบาทให้ก่อน เมื่อได้วัคซีนมาก็จัดสรรให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในสัดส่วน 50% เพื่อใช้เป็นวัคซีนตัวเลือก ในราคาต้นทุนโดยไม่หวังผลกำไร ส่วนที่เหลือก็นำไปฉีดเป็นวัคซีนทางเลือก โดยไม่ได้บวกกำไร แต่จะคิดจากต้นทุนค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการจริงเท่านั้น”

อย่างไรก็ดีในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา (วัคซีนทางเลือกที่อย.ไทยอนุมัติขึ้นทะเบียนแล้ว) ถือเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงต่อการป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะโควิดกลายพันธุ์ทั้งสายพันธุ์อังกฤษ, อินเดีย รวมถึงแอฟริกาใต้ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดสูง เห็นได้จากคลัสเตอร์ใหม่ที่ยังเกิดขึ้นจำนวนมาก

หวั่นระบาดข้ามปี

ด้านนายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีทั้งวัคซีนหลัก (ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า) และวัคซีนตัวเลือก (ซิโนฟาร์ม) แล้วแต่เชื่อว่าวัคซีนทางเลือก (โมเดอร์นา) จะยังเป็นที่ต้องการจากดีมานต์ที่สูงต่อเนื่อง ทำให้บริษัทยังคงสั่งซื้อจำนวน 5 ล้านโดสผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เช่นเดิมซึ่งขณะนี้รอความคืบหน้าจากอภ.และคาดว่าจะนำเข้าวัคซีนได้ปลายเดือนกันยายนนี้

“หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับคนไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เชื่อว่าการแพร่ระบาดจะลากยาวจนอาจจะลุกลาม ไปข้ามปีหน้าก็เป็นได้”

อย่างไรก็ดีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย จะเข้าพบรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เดินทางมาเยือนไทยในอีก 1-2 วันนี้ เพื่อเจรจาขอแบ่งวัคซีนโมเดอร์นาในสหรัฐฯ ที่มีเหลือค่อนข้างมากมาจำหน่ายให้ไทย

พร้อมสั่งซื้อล้านโดส

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความต้องการวัคซีนทางเลือกของสมาชิก ส.อ.ท. ที่แสดงเจตจำนงเข้ามามีจำนวนประมาณ 1 ล้านโดส เพื่อนำไปฉีดให้กับพนักงาน ขณะที่การนำเข้าวัคซีนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ล็อตแรกในเดือนมิถุนายนมีจำนวน 1 ล้านโดสเท่านั้น และจัดสรรให้กับส.อ.ท. ได้ทั้งหมดตามความต้องการดังกล่าว แต่ขณะนี้มีความต้องการจากรายอื่นด้วย ดังนั้น ส.อ.ท. จึงขอซื้อในเบื้องต้นก่อน 3 แสนโดส ส่วนเรื่องของฉีดวัคซีนนั้น เมื่อได้วัคซีนเข้ามา ส.อ.ท. กับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะต้องมีการหารือ และทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการฉีด ทั้งเรื่องของสถานที่ และวันเวลา

“ส.อ.ท.ได้เรียกร้องเรื่องวัคซีนทางเลือกมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการเข้าไปร่วมมือกับราชวิทยาลัยฯล่วงหน้า โดย ส.อ.ท. มีความพร้อมที่จะขอซื้อวัคซีนที่เข้ามาทั้งหมด แต่ก็มองว่าอาจจะไม่เหมาะสมเท่าใดนักกับสถานการณ์เวลานี้ เพราะปัจจุบันยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องการวัคซีนทางเลือกเช่นเดียวกัน จึงขอซื้อในเบื้องต้น 3 แสนโดส เพื่อให้วัคซีนกระจายไปหลายส่วน”


เอกชนขอนำเข้า "วัคซีนไฟเซอร์" 20 ล้านโดส วงเงิน 6 พันล้าน เจรจาได้แล้วพร้อมจัดสรรให้รัฐ 50%

7 มิ.ย. มีวัคซีนฉีดแน่

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดสในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเป็นวัคซีนตัวเลือกให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจจะจัดซื้อเพื่อไปฉีดให้กับบุคลากร ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีองค์กรเอกชน ตลอดจนสมาคมต่างๆ ให้ความสนใจจำนวนมาก จึงมีแผนนำเข้าเพิ่มเป็น 20 ล้านโดส

ส่วนกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ออกมาแสดงความจำนงที่จะซื้อวัคซีนซิโนฟาร์ม เพื่อฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่เองนั้น สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ ตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย แต่ต้องขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนที่จะดีเดย์ทั่วประเทศ ในวันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไปและหลายฝ่ายหวั่นวิตกว่าจะมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทวงกลาโหม กล่าวยืนยันว่า ขอให้มั่นใจรัฐบาลเตรียมงบประมาณในส่วนสาธารณสุขเพียงพอต่อการจัดหาวัคซีน ไม่ใช่ไม่มีเงินซื้อ แต่ปัญหาอยู่ที่เขาจะขายวัคซีนให้เท่าไร และจะมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าฉีดในวันที่ 7 มิถุนายนนี้อย่างแน่นอน รวมถึงวัคซีนซิโนฟาร์มที่จะเข้ามาในเดือนมิถุนายนด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,684 วันที่ 3 - 5 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง