THG ตั้งกองทุน 5 พันล้าน ตุนวัคซีนทางเลือก

19 พ.ค. 2564 | 03:55 น.

“หมอบุญ” ตั้งกองทุน Major Thai Wisdom ระดมเงิน 5,000 ล้านบาท จองซื้อวัคซีนทางเลือก 5 ล้านโดส หลังโรงพยาบาลเอกชนกว่า 10 แห่งถอดใจ ถอนตัวหลังรัฐประกาศนำเข้า 150 ล้านโดส ลุ้นโชคดีนำเข้า“โมเดิร์นนา” ภายในกรกฎาคมนี้ เตือนสธ. รับมืออีก 2 สัปดาห์วิกฤติสุด หากควบคุมคลัสเตอร์ไม่ได้

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า THG เตรียมเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับสั่งซื้อ วัคซีนทางเลือก “โมเดิร์นนา” จำนวน 5 ล้านโดสจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยเงินดังกล่าวเป็นเงินของบริษัท 500 ล้านบาท และเงินจากการจัดตั้ง กองทุน Major Thai Wisdom อีก 4,500 ล้านบาท เบื้องต้นจะขอเจรจากับอภ. ในการวางมัดจำวัคซีนจำนวน 500 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะออกเป็นตราสารเครดิต (Letter of Credit : L/C) เพื่อยืนยันการชำระเงินในการซื้อขาย

ถอดใจยกเลิกจอง

“เดิม THG จะสั่งซื้อวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดส แต่ปัจจุบันสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านโดส หลังจากที่โรงพยาบาลเอกชนกว่า 10 แห่งเริ่มถอดใจและถอนตัวไม่สั่งซื้อวัคซีนทางเลือกแล้ว เพราะเกรงว่าเมื่อรัฐบาลสั่งนำเข้าวัคซีนฉีดฟรีให้กับประชาชนจำนวน 150 ล้านโดสแล้วประชาชนจะไม่สนใจฉีดวัคซีนทางเลือก บางรายจึงลดการสั่งจอง และบางรายยกเลิกการสั่งจองก็มี อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงมองว่า ประชาชนยังต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันหรือลดการติดเชื้อในไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ และการมีวัคซีนทางเลือกจะเป็นวัคซีนหนึ่งที่ตอบโจทย์ของผู้ที่ต้องการฉีดในโดสที่ 2 และ 3 ได้”

สำหรับกรณีที่ผู้ผลิตวัคซีนโมเดิร์นนาจะสามารถส่งวัคซีนให้ได้ในปลายเดือนกันยายนหรือตุลาคมนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าไปแล้ว ขณะที่โมเดิร์นนาเองมีปัญหาด้านการผลิต และขาดแคลนวัตถุดิบ หลังจากที่ทั่วโลกแห่ผลิตวัคซีน ทั้งนี้เบื้องต้นบริษัทได้เจรจาเพื่อขอแบ่งวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา ที่สั่งซื้อไว้ 1,300 ล้านโดส ขณะที่ยอดการใช้วัคซีนจริงประมาณ 600 ล้านโดสเท่านั้น และขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกันไปแล้ว 30-40% จึงมีวัคซีนเหลือเพียงพอ ซึ่งหากการเจรจาบรรลุผล ไทยอาจจะได้วัคซีนส่วนหนึ่งเข้ามาในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

 

ดีมานด์พุ่งทำซัพพลายขาด

ขณะที่ซัพพลายทั่วโลกยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยพบว่าทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากถึง 9,000 ล้านโดส แต่ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไปแล้วเพียง 1,000 ล้านโดส ดังนั้น จนถึงสิ้นปีนี้ดีมานต์วัคซีนในตลาดยังมีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ขณะที่จะคลี่คลายในปีหน้าซึ่งผู้ผลิตจะสามารถผลิตได้มากขึ้น

“ปัจจุบันหลายประเทศที่ออร์เดอร์วัคซีนไว้ ยังได้รับไม่ครบตามที่สั่งซื้อ เช่น จีนขายได้ 100 ล้านโดส แต่ส่งให้จริงได้แค่ 15% ส่วนสปุ๊กนิต วี ขายได้ 70-80 ล้านโดส แต่ส่งให้จริงได้ไม่ถึง 5%”

อย่างไรก็ดี วันนี้สิ่งที่รัฐบาลต้องทำอย่างเร่งด่วน คือการฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพราะตัวเลขการติดเชื้อในปัจจุบันต่ำกว่าความเป็นจริง 4 เท่า เพราะการติดเชื้อสายพันธุ์อังกฤษนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และไม่แสดงอาการ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องปูพรมตรวจเชิงรุก ไม่ใช่ให้เกิดอาการแล้วค่อยตรวจ เช่น ในโรงงานต่างๆอีกนับหมื่นโรงที่ยังไม่มีการตรวจหาเชื้อ

“วันนี้รัฐบาลต้องรีบตัดวงจรการแพร่ระบาด ต้องรีบฉีดวัคซีนให้กับคนไทยให้มากที่สุด เพราะการแพร่ระบาดในระลอก 3 ไวรัสเริ่มกลายพันธุ์ และจะทำตัวเองให้แข็งแรงขึ้น หากมีการระบาดในระลอกที่ 4 และระลอกที่ 5 ก็จะมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นไวรัสสายพันธุ์ไทย เพราะฉะนั้นต้องรีบตัดวงจรให้จบในระลอกที่ 3”

อีก 2 สัปดาห์วิกฤติหนัก

จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงต่อเนื่องถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติ เพราะขณะนี้จำนวนผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในขั้นรุนแรงต้องอยู่ไอซียูก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเฉลี่ย 4 คนต่อเตียง ส่วนผู้ป่วยที่แสดงอาการก็มีเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว หากคลัสเตอร์ต่าง ๆไม่สามารถควบคุมได้ คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์จะวิกฤติหนัก

วัคซีนเป็นตัวแก้ปัญหาโควิดที่ดีที่สุด ต้องฉีดให้เร็วที่สุด กระจายให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะจะช่วยป้องกันให้เมื่อติดเชื้อแล้วไม่รุนแรง ไม่ต้องเข้า ICU ซึ่งหลายกลุ่มยังน่าเป็นห่วง ขณะที่การฉีดวัคซีนในเมืองไทยควรจะฉีดตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายนนี้ให้ได้อย่างน้อย 30% โดยเฉพาะใน 5 เมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา กระบี่ ซึ่งเป็นหัวใจด้านเศรษฐกิจของประเทศ”

ด้านแหล่งข่าวโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง กล่าวว่า กรณีการนำเข้าวัคซีนโดยเฉพาะยี่ห้อไฟเซอร์นั้น โรงพยาบาลเอกชนได้เจรจากับผู้นำเข้าไม่น้อยกว่า 7 เดือน พอใกล้บรรลุความสำเร็จตกลงกันได้ รัฐบาลกลับมาตัดหน้าไป บอกให้เอกชนไปเจรจายี่ห้ออื่นที่ไม่ซ้ำกับรัฐ ทั้งที่จะปิดดีลกันอยู่แล้ว ขณะที่ทางผู้ขายเองในช่วงก่อนหน้านี้พยายามทุกทางเช่นเดียวกันที่จะให้ไทยลงออร์เดอร์ เพราะถูกอินโดนีเซียยกเลิกออร์เดอร์ไป 30 ล้านโดส ทั้งที่เขาเดินสายการผลิตแล้ว แต่รัฐบาลไม่สนใจเจรจากับไฟเซอร์เลย เพิ่งมาภายหลังที่เอกชนใกล้บรรลุข้อตกลงแล้ว 

อย่างไรก็ดีไม่ว่าใครจะนำเข้าก็ไม่มีปัญหา เพราะเราต้องการให้อย่างน้อย 70% มีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นให้ได้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง