รู้จัก"วัคซีนโควิด-19" แอสตร้าเซนเนก้า

24 ก.พ. 2564 | 22:00 น.

เปิดข้อมูล"วัคซีนโควิด -19" จากแอสตร้าเซนเนก้า ลอตแรกจำนวน 117,600 โดส ที่มาถึงไทยก่อนกำหนด

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด -19 พร้อมกัน 2 เจ้าได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac) จำนวน 200,000 โดส และ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จำนวน 117,600 โดส ซึ่งในรายหลังนั้นถือว่ามาก่อนกำหนด มีการส่งมอบเร็วขึ้น 


ทั้งนี้วัคซีนโควิด -19 ลอตแรกนั้นจะถูกส่งต่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงสุด อาทิ บุคลากรทางการแพทย์,เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ,ผู้มีโรคประจำตัว 


โดยก่อนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด -19 วันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า มานำเสนอดังต่อไปนี้ 

 

วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca)

 

"วัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า(AstraZeneca)หรือเดิมเรียก AZD1222"

 

สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า คิดค้นและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและ บริษัท วัคซีเทค ก่อตั้งโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 

 

วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัส ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้

 

หลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
 

ข้อมูลการวิเคราะห์ประสิทธิผลของวัคซีนมาจากการทดลองระยะที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักรและบราซิล ซึ่งได้ทำการวิจัยในกลุ่มอาสาสมัคร11,636 รายที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งในจำนวนนี้มีอาสาสมัครผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 131 ราย

 

การทดลองวัคซีนโควิดระยะที่ 3 โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

ผลการวิเคราะห์ความปลอดภัยโดยรวมของวัคซีนมาจากข้อมูลการทดลองทางคลินิก 4 ครั้งที่ดำเนินการในสหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกาใต้ จากอาสาสมัคร 23,745 รายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัยและไม่มีรายงานเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยร้ายแรงที่เกี่ยวเนื่องกับวัคซีน โดยกลุ่มอาสาสมัครมีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภูมิลำเนา มีทั้งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งควบคุมอาการได้


นอกเหนือจากการวิจัยนำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้ว แอสตร้าเซนเนก้ายังได้ทำการวิจัยขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก  ซึ่งทั้งหมดนี้มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตร้าเซนเนก้าตั้งเป้าดึงอาสาสมัครจากทั่วโลกให้เข้าร่วมการวิจัยมากกว่า 60,000 ราย

 

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับอนุมัติให้ใช้อย่างมีเงื่อนไขหรือเป็นกรณีฉุกเฉินในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกที่จะช่วยเร่งให้ 145 ประเทศทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโคแวกซ์
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง