มาแล้ว! รู้จัก “วัคซีนซิโนแวค” ให้ชัดๆ ก่อนฉีด

23 ก.พ. 2564 | 17:23 น.

ทำความรู้จักวัคซีน "โคโรนาแวค" (CoronaVac) ของบริษัทซิโนแวค อีกหนึ่งความหวังในศึกไทยไฟท์พิชิตโควิด-19

หากจะทำความรู้จัก วัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตวัคซีนของจีน ก็ต้องตามไปชมตั้งแต่กระบวนการผลิตที่โรงงานของ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ จำกัด (Sinovac Life Sciences) ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ที่นี่คือบริษัทในเครือของซิโนแวค ที่เชี่ยวชาญด้านวัคซีนอย่างครบวงจรตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงการผลิตและทำตลาด  

เปิดโรงงานส่องการผลิตวัคซีน ตั้งแต่ต้นจนจบ

วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของซิโนแวค มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย คณะนักวิทยาศาสตร์ดำเนินการเพาะเชื้อไวรัสภายในวีโรเซลล์ (Vero cells) ก่อนคัดเลือกสายพันธุ์มีพิษและเหมาะสมสำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีชื่อว่าซีแซด (CZ)

โคโรนาแวค เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย

กระบวนการผลิต วัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตายของจีนประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่

-การเพาะเชื้อไวรัส

-การทำให้เชื้อตาย

-การทำให้บริสุทธิ์

-การกำหนดสูตรผลิตวัคซีน

-การบรรจุวัคซีนลงภาชนะ

-การนำใส่หีบห่อ

กระบวนการผลิตมีถึง 6 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก คือการเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสโคโรนาจำนวนมาก นักวิทยาศาสตร์จะฉีดไวรัสลงถังปฏิกรณ์ชีวภาพแบบสุญญากาศที่เต็มไปด้วยวีโรเซลล์ ซึ่งได้จากการสกัดเซลล์ไตของลิงเขียวแอฟริกัน โดยวีโรเซลล์ที่เป็นเซลล์เพาะเลี้ยงชนิดต่อเนื่องสามารถเพิ่มจำนวนผ่านวงจรการแบ่งตัวหลายครั้งและไม่แปรสภาพเป็นเซลล์ชำรุด (senescent) ขณะเชื้อไวรัสโคโรนาที่อยู่ภายในเซลล์ดังกล่าวเพิ่มจำนวนตัวเองอย่างรวดเร็ว

ต่อมาเชื้อไวรัสจะถูกส่งผ่านหลอดสุญญากาศไปยังถังปฏิกรณ์ชีวภาพอีกถังหนึ่ง และเข้าสู่กระบวนการยับยั้งการทำงานของไวรัส ซึ่งส่งผลให้เชื้อไวรัสสูญเสียความสามารถในการก่อโรคหรือเพิ่มจำนวนในอีกหลายชั่วโมงถัดมา กลายสภาพเป็นกลุ่มเชื้อไวรัสชนิดเชื้อตายที่จะถูกนำไปยังจุดทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งมีการกำจัดสารยับยั้งและสิ่งเจือปนอื่นๆ ให้คงเหลือเพียงสารละลายวัคซีน

สารละลายวัคซีนจะถูกนำไปผสมกับสารเสริมฤทธิ์และตัวเจือจางในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยส่วนผสมที่ได้มีชื่อว่าผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งจะถูกเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อตรวจสอบต่อไปก่อนจะถูกบรรจุลงขวดแก้วขนาดเล็กหรือกระบอกฉีดยาสำเร็จรูปในสภาพแวดล้อมปลอดเชื้อเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยผู้ผลิตจะทำการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อรับประกันว่าวัคซีนเหมาะสมสำหรับใช้งาน

การผลิตใช้เวลานาน 48 วัน

ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะถูกติดป้ายชื่อและหมายเลขก่อนบรรจุลงกล่องพร้อมคู่มือผู้ใช้งาน

วัคซีนโรคโควิด- 19 ชนิดเชื้อตายของซิโนแวคใช้เวลาผลิตนาน 48 วัน ตั้งแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์จนถึงการนำใส่หีบห่อ โดยวัคซีนต้องถูกจัดเก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส จึงเป็นที่มาของการนำยานพาหนะควบคุมอุณหภูมิมาใช้จัดส่งวัคซีนไปยังพื้นที่ส่วนต่างๆ ทั่วโลก


ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจะถูกติดป้ายชื่อและหมายเลข

ก่อนบรรจุลงกล่องพร้อมคู่มือผู้ใช้งาน

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)ได้อุบัติขึ้นและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเมื่อปลายปี 2562 ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนหลายสิบล้านคนทั่วโลก ขณะที่เชื้อไวรัสนำหายนะอันมิอาจประเมินค่ามาสู่โลก "วัคซีน" ได้กลายเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติในการยับยั้งโรคระบาดใหญ่นี้   

 

ประสิทธิภาพดี-ผลข้างเคียงเล็กน้อย-ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์

การทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนโคโรนาแวค ดำเนินการในประเทศบราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี เป็นส่วนใหญ่  ซึ่งผลการทดลองแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศในแง่ประสิทธิภาพและการป้องกัน เช่นการทดลองที่ตุรกีชี้ว่า วัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพ 91.25%  ส่วนผลการทดลองในอินโดนีเซียแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ 65.3% ขณะที่ผลการทดลองในบราซิลพบว่ามีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันอาการป่วยขั้นรุนแรง และ78% ในการป้องกันอาการป่วยไม่รุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ ส่วนประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 50.38%

"เป็นเรื่องปกติที่ผลการทดลองจะแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เนื่องมาจากการทดลองทางคลินิกได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ" นายอิ่น เว่ยตง ผู้บริหารสูงสุดของซิโนแวคกล่าว พร้อมอธิบายว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในบราซิล ล้วนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในสภาพแวดล้อมเสี่ยงสูง ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ตลอดเวลา

 

วัคซีนรอการขนส่ง

“ผมคาดหวังว่า วัคซีนจะช่วยปกป้องประชาชนทั่วไปได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งวัคซีนชนิดเชื้อตายตัวนี้ยังมีขอบเขตออกฤทธิ์กว้างต่อเชื้อไวรัสโคโรนาที่กลายพันธุ์ด้วย" ซีอีโอของซิโนแวคกล่าว

ส่วนผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนนั้น ถือว่ามีในระดับเล็กน้อย ตั้งแต่อาการมีไข้ ไปจนถึงปวดแขน  

 

ขอบคุณ ข้อมูลและภาพจาก สำนักข่าวซินหัว/ซินหัวไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: