บ้านพักคนชราในญี่ปุ่น

11 มิ.ย. 2564 | 21:00 น.

บ้านพักคนชราในญี่ปุ่น : คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อช่วงปี 2010 ผมมีโอกาสไปงานรับปริญญาลูกชายคนที่สอง ที่เมืองสึซึกะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นผมมีเพื่อนสนิทที่ชื่อ อีบิซัง เรารู้จักกันเพราะท่านเป็นโรแทเรี่ยนในสโมสรคู่มิตรกับสโมสรโรตารี่ลุมพินีที่ผมสังกัดอยู่ ท่านอาศัยอยู่ที่เมืองนี้ นับว่าโชคดีมากที่ท่านดูแลลูกชายผมตั้งแต่เรียนมัธยมปลายปีแรกที่เมืองนี้ พอเข้ามหาวิทยาลัย อีบิซังก็รับอุปถัมภ์เป็นผู้ปกครองให้ลูกชายผมมาสี่ปี ในช่วงที่พักอยู่ที่นั่น ท่านก็เชิญผมไปพักที่บ้าน ซึ่งในสังคมญี่ปุ่นนั้น แม้แต่เชิญไปทานข้าวที่บ้านก็แทบจะยากมาก น้อยคนนักที่จะเชิญชวนแขกไปพักที่บ้าน ผมจึงมีโอกาสดีที่ได้ไปพักที่บ้านของอีบิซังครับ

ในช่วงที่พักอยู่ที่บ้านอีบิซัง ท่านก็ชวนผมไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ท่านเป็นเจ้าของอยู่ ในตอนแรกผมก็คิดว่าเป็นโรงเรียนกวดวิชาทั่วไป พอไปเห็นกลับกลายเป็น “โรงเรียนสอนการบริบาลผู้สูงอายุ” นับว่าเป็นกำไรชีวิตของผมจริงๆ ที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้หนึ่งวันเต็มๆ โอกาสดีเช่นนี้ผมไม่มีให้พลาดไปได้เลย ที่จะเก็บเกี่ยวเอารายละเอียดให้เต็มอิ่มไปเลย จึงอยากนำมาเล่าให้เพื่อนๆแฟนคลับของผมได้รับรู้ไปด้วยครับ

ภายในโรงเรียนนอกจากจะเป็นการเรียนการสอนแล้ว เขายังได้จัดทำสถานที่ดูแลผู้สูงอายุไปด้วย ในประเทศญี่ปุ่นนั้นเขาจะแบ่งผู้สูงอายุออกเป็นหลากหลายสเต็บครับ เริ่มตั้งแต่ สเต็บที่หนึ่ง คือผู้ที่เริ่มเกษียณอายุที่ยังแข็งแรงเป็นปกติดีอยู่ ส่วนสเต็บที่สอง คือผู้ที่อายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวแล้ว แต่ยังช่วยเหลือตัวเองได้เป็นอย่างดี

สเต็บที่สาม คือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการผู้บริบาลมาช่วยดูแล การเดินเหินหรือบางครั้งอาจจะเริ่มต้องใช้เครื่องช่วยพยุงตัว เช่นไม้เท้า เป็นต้น และอาจมีอาการหนักขึ้นถึงขั้นอัลไซเมอร์ (Alzheimer)ไปแล้ว ส่วนสเต็บที่สี่ หรือสเต็บสุดท้ายคือผู้ป่วยติดเตียง หรือที่เรียกว่าขั้น Burden ไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาพักอาศัยในบ้านพักผู้สูงอายุนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในสเต็ปที่สามกับสเต็ปที่สี่เป็นหลักครับ

โรงเรียนของอีบิซังนั้น จะสอนวิธีการดูแลและการสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้สูงอายุให้มีชีวิตในช่วงบั้นปลายที่มีความสุขที่สุด ในส่วนการดูแลผู้สูงอายุนั้น แบ่งออกเป็นการดูแลทางด้านสุขภาพร่างกาย และการดูแลทางด้านสุขภาพจิตใจของผู้สูงอายุ ซึ่งหากเป็นในประเทศอื่นๆ เขาอาจจะให้ความสำคัญทางด้านสุขภาพร่างกายมากกว่าทางด้านจิตใจ แต่ที่ญี่ปุ่นเท่าที่ผมสังเกตุเห็น ผมคิดว่าเข้าให้ความสำคัญทางด้านจิตใจมากกว่า และเขาจะดูแลอย่างดีมาก อาจจะเป็นเพราะว่า เมื่อเราแก่ตัวลง เราอาจจะไม่อยากที่จะไปรบกวนลูกหลานหรือคนที่ดูแลเรา คนแก่ทั่วๆ ไปจึงมักจะเกรงใจลูกหลาน โดยเก็บสิ่งที่ตนเองไม่สบายใจใว้ในใจทุกเรื่อง ลูกหลานอาจจะไม่มีทางรู้เลยว่า ในขณะที่เราปรนนิบัติต่อเขา เขาจะพึงพอใจจริงๆหรือไม่ ดังนั้นที่นั่นเขาจะสอนให้นักเรียน ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน ที่เป็นแม่บ้านที่ไม่มีงานประจำทำ เมื่อว่างในเวลากลางวันที่พ่อบ้านออกไปทำงานแล้ว ก็หาเวลามาทำงานนี้ เพื่อไม่ให้วันเวลาสูญเปล่าโดยไม่เกิดประโยชน์ ทางโรงเรียนจะสอนวิธีดูแลผู้สูงอายุด้วยการใส่ใจทุกกระเบียดนิ้วเลยครับ เรียกว่าละเอียดมากๆๆๆ

ในด้านสุขภาพร่างกาย เขาให้ความรู้ตั้งแต่การดูแลผู้สูงอายุ ที่เริ่มช่วยเหลือตัวเองลำบากขึ้นไป ตั้งแต่การให้อาหารการกิน จนกระทั้งดูแลการออกกำลังกาย การบำบัดด้วยกายภาพบำบัด การช่วยเหลือผู้สูงอายุเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น ที่ผมสังเกตุดูนักเรียนที่ลงไปปฎิบัติหน้าที่ในสถานที่จริง ผู้สูงอายุที่ดูแลยากที่สุด คือผู้ที่มีอาการอัลไซเมอร์ครับ เพราะผู้สูงอายุที่ป่วยมักจะไม่รู้สึกตัวเองว่ากำลังทำอะไรลงไป บางครั้งทำแล้วก็บอกว่าไม่ได้ทำ หลงๆลืมๆ ดังนั้นผู้บริบาลต้องมีความอดทนอย่างสูงจริงๆครับ ไม่ง่ายเลยที่จะดูแลบุคคลที่ไม่ใช่บุพการีของตนเอง ที่บางครั้งอาจจะถูกตำหนิหรือถูกหยิกข่วนได้ แต่ผู้บริบาลจะต้องอดทนไม่สามารถตอบโต้หรือโต้แย้งอะไรได้เลย เพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำครับ

ยังมีรายละเอียดอีกเยอะที่น่าสนใจครับ ฉบับหน้าผมจะเล่าให้ท่านฟังต่อ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดต่อว่าเมื่อผมกลายเป็นผู้สูงอายุหรือคนชรา ซึ่งก็คงอีกไม่นาน เพราะผมก็อายุ 66 ปีแล้ว ในประเทศไทยควรมีสถานที่เช่นนี้ไว้คอยต้อนรับผู้สูงอายุ เพื่อรับรองผู้ที่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข และไม่เป็นภาระให้ลูกหลานที่เขาอยู่ในวัยที่ต้องทำมาหากิน และต้องกระเสือกกระสนต่อสู้กับสังคมที่นับวันจะอยู่ยากขึ้นทุกวัน เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบบังคับ ให้ต้องดิ้นรนต่อสู้ให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนก็หนีไม่พ้นความชราและความตายครับ แต่หากเรามีชีวิตที่มีความสุขในวัยชรา นั่นน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝันมากที่สุดละครับ